ประวัติ ของ อำเภอเวียงสา

ตามตำนานที่ไม่มีประวัติที่ทางราชการจัดทำขึ้นแต่อย่างใด เพียงแต่ได้มีคนรุ่นเก่าและอดีตข้าราชการรุ่นเก่า ๆ เล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานสำคัญทางโบราณวัตถุและปูชนียวัตถุซึ่งพอจะเป็นที่ยืนยันและเชื่อถือได้ กล่าวว่าอำเภอเวียงสาเดิมชื่อ "เวียงป้อ-เวียงพ้อ" หรือ "เมืองพ้อ-เมืองป้อ" เพราะตำนานเล่าว่า ถ้าหากมีเหตุการณ์ร้ายแรงอันใดเกิดขึ้น มักเรียกผู้คนที่มีไม่มากนักตามบริเวณนั้นมาป้อ (รวม) กันที่ปากสา (ปากแม่น้ำสาที่ไหลลงสู่แม่น้ำน่าน) ซึ่งต่อไปนี้จะใช้คำว่า "เวียงป้อ" แทนชื่อเรียกอำเภอเวียงสาในอดีตที่ระบุในตำนานหรือหลักฐานที่สำคัญ ๆ ต่อไป

เวียงป้อเป็นเมืองที่อยู่ทางทิศใต้ของนครน่าน ระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร แรกตั้งครั้งใด นานเท่าไรไม่ปรากฏ อาจจะมีมาตั้งแต่เมืองป้อยุคหิน เพราะมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เช่น แหล่งผลิตเครื่องมือหิน เครื่องปั้นดินเผา เครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ขุดพบ และอีกหลายแห่งที่ยังไม่ได้สำรวจ ตลอดถึงหลักฐานความเจริญรุ่งเรืองในอดีต ปรากฏหลักฐานซากวัดร้างต่าง ๆ เช่น

  • วัดบุญนะ สถานที่ตั้งตลาดสดเทศบาลตำบลเวียงสา
  • วัดต๋าโล่ง อยู่ห่างจากวัดผาเวียงไปทางทิศตะวันออกประมาณ 4 กิโลเมตร
  • วัดมิ่งเมือง สถานที่ตั้งสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอเวียงสา
  • วัดป่าแพะน้อย อยู่ห่างจากวัดวิถีบรรพต ไปทางทิศตะวันตก 1 กิโลเมตร
  • วัดสะเลียม อยู่ห่างจากวัดสะเลียมใหม่ (ตำบลยาบหัวนา) 800 เมตร
  • วัดหินล้อม อยู่ห่างจากวัดสะเลียมใหม่ (ตำบลยาบหัวนา) 2 กิโลเมตร

เวียงป้อเป็นเมืองที่อยู่ใกล้นครน่าน ผลกระทบและอิทธิพลด้านต่าง ๆ มักได้รับพร้อมกันกับนครน่าน และเนื่องจากการเดินทางติดต่อโดยทางบกใช้เวลาเดินทางเท้าประมาณ 6-8 ชั่วโมง ถ้าหากขี่ม้าเร็วก็จะประมาณ 2-3 ชั่วโมง การเดินทางติดต่อทางน้ำใช้เวลาประมาณ 5-6 ชั่วโมง ที่ตั้งของเวียงป้อนอกจากจะตั้งอยู่ที่ราบระหว่างดอยต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว ยังเป็นเมืองที่มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่าน เช่น แม่น้ำสา แม่น้ำว้า แม่น้ำแหง แม่น้ำปั้ว แม่น้ำสาคร ตลอดถึงสายน้ำน่านและสายน้ำว้าเดิมที่เปลี่ยนเส้นทางเดินกลายสภาพเป็นหนองน้ำซึ่งมีอยู่มากมาย ชาวบ้านเรียกว่า "น้ำครก" และสายธารอื่น ๆ อีกมากมายที่ไหลลงสู่แม่น้ำน่าน จึงทำให้เวียงป้อเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่มีความอุดมสมบูรณ์

เวียงป้อเป็นหัวเมืองประเทศราชขึ้นตรงต่อนครน่าน พงศาวดารน่านได้บันทึกไว้ พ.ศ. 2139 สมัยพระเจ้าเจตบุตรพรหมินทร์ เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 31 ครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2103-2134) ได้เสด็จเวียงป้อ มีใจความตอนหนึ่งของพงศาวดารกล่าวไว้ว่า "จุลศักราชได้ 985 เดือน 8 ลง 3 ค่ำ ท่านก็เสด็จลงไปอยู่เมืองพ้อ ไปสร้างวัดดอนแท่นไว้ ได้อภิเษกสามีเจ้าขวา หื้อเป็นสังฆราชแล้ว..."

กล่าวถึงพระยาหน่อเสถียรไชยสงคราม เจ้าผู้ครองนครน่าน ลำดับที่ 35 ได้ทราบตำนานวัดพระธาตุแช่แห้ง มีศรัทธาแรงกล้า จึงบูรณะซ่อมแซมและต่อเติมศาสนสถานแห่งนี้ และกล่าวถึงเจ้าเวียงป้อไว้ตอนหนึ่งว่า "ปีเต่าสง้า สร้างบ่อน้ำและโรงอาบ เว็จกุฎิหื้อสมเด็จสังฆราชเจ้าเมืองพ้อ มาเป็นหัวหน้าอยู่ เป็นเค้าเป็นประธานแก่ช่างไม้ทั้งหลาย..."

เหตุการณ์ที่ระบุเจ้าเวียงป้อเป็นช่างใหญ่นั้น แสดงว่าเวียงป้อเป็นเมืองที่ขึ้นตรงต่อนครน่านราว พ.ศ. 2123-2127

พ.ศ. 2243-2251 เมืองน่านและเมืองประเทศราชถูกกองทัพพม่าเผาทำลายเสียหายทั้งเมืองและวัดวาอาราม ผู้คนถูกเข่นฆ่าจำนวนมาก ชาวน่านแตกหนีภัยสงครามเข้าอยู่ซ่อนในป่าในถ้ำ ทิ้งเมืองให้ร้าง ผลกระทบนี้เมืองป้อก็ได้รับเช่นกันดังในพงศาวดารนครน่าน ตอนที่ 4 ว่าด้วยเมืองน่านคราวเป็นจลาจลความว่า "ปีกาเม็ด จุลศักราชได้ 1096 ตัว เถินวัน 14 ค่ำ ทัพพม่าครั้งเถิงเมืองแล้วก็กระทำอันตรายแก่เมืองรั้วเมืองทั้งมวล คือ จุดเผาม้างพระพุทธรูป... วัดวาอาราม ศาสนาธรรม พระพุทธเจ้าที่จุดเผาเสี้ยง จะดาไว้แด่แผ่นดินนั้นแล ชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลายก็ตายกันเป็นอันมานัก หันแล"

พ.ศ. 2247-2251 หัวเมืองต่าง ๆ ขาดผู้ครองเมือง กองทัพญวนและกองทัพลาวบุกเข้ากวาดต้อนผู้คนนครน่านและเวียงป้อด้วย ต่อมา พ.ศ. 2322 นครน่านขาดผู้ครองนคร จึงมีผลกระทบต่อเมืองป้อ จากฝ่ายพม่าเข้ามากวาดต้อนผู้คนไปไว้เมืองเชียงแสน ทิ้งเมืองให้เป็นเมืองร้าง จึงเป็นยุคที่เสื่อมโทรมอย่างยิ่ง พงศาวดารของเมืองน่านได้กล่าวไว้ตอนนี้ว่า "ในยามนั้น เมืองลานนาไทย ก็บ่เที่ยงสักบ้านสักเมืองแล ดังเมืองน่านเรา เปนอันว่างเปล่า ห่างสูญเสียห้าท้าวพระยาบ่ได้แล" ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าเวียงป้อเป็นเมืองร้างนานถึง 15 ปี อำเภอเวียงสาขณะที่ยังไม่ได้สร้างเป็นเมืองหรือเวียงนั้น ได้ถูกสร้างขึ้นเป็นเมืองหรือเวียงโดยเจ้าผู้ครองนครน่านชื่อ เจ้าฟ้าอัตถาวรปัญโญ เมื่อ พ.ศ. 2340 คือหลังจากสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ได้เพียง 15 ปี

จนมีการใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) มีฐานะเป็นเมือง หรือเรียกตามภาษาภาคเหนือว่า "เวียง" และมีชื่อว่า "เวียงป้อ" มีผู้ครองเมืองซึ่งเป็นเชื้อสายของเจ้าผู้ครองนครน่านชื่อว่า "เจ้าอินต๊ะวงษา" แต่ประชาชนนิยมศึกษาว่า "เจ้าหลวงเวียงสา"