เศรษฐกิจ ของ อำเภอไชยา

การทำนา

เนื้อที่เพื่อการทำนามีไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเนื้อที่ ทั้งหมดแต่การทำนาก็นับว่าเป็นอาชีพหลัก โดยทั่วไปส่วนใหญ่ทำกันรอบ ๆ บริเวณตัวเมือง (อำเภอและตลาด) ยิ่งห่างออกไปก็มีเนื้อที่เพาะปลูกน้อยลงตามลำดับ ปัจจุบันเริ่มมีการทำนาปีละ 2 ครั้งกันหลายตำบล สำหรับการเกี่ยวข้าวนั้น แต่เดิมชาวไชยาใช้วิธีลงแขกกัน คือนัดกันไปเก็บเกี่ยวของคนนั้นในวันหนึ่งของคนนี้อีกวันหนึ่งสลับกันไป ซึ่งปัจจุบันยังมีให้เห็นในหลายหมู่บ้าน เครื่องมือเก็บเกี่ยวนั้น แต่เดิมชาวไชยาใช้ "ตรูด" ปัจจุบันกำลังสูญหายไปและมีคนใช้น้อยมาก บางคนไม่สามารถใช้ตรูดได้แล้ว เพราะหันไปใช้เคียวสำหรับเก็บเกี่ยวเกือบทั่วไป

การทำไร่

แต่เดิมทำกันประปรายทางแถบที่เป็นที่ราบสูงทางตะวันตกบริเวณเชิงเขา แต่ส่วนใหญ่เป็นการทำไร่แบบเลื่อนลอย

การทำสวน

การทำสวนของชาวไชยาที่กำลังขยับขยายและกำลังทำกันอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันคือการทำสวนยางพารา ซึ่งทำกันมากทางตะวันตกและเขตติดต่ออำเภอท่าฉาง

การเลี้ยงสัตว์

สัตว์ที่เลี้ยงกันมากและมีอยู่เกือบทุกตำบล คือ หมู เป็ด ไก่ วัว และควาย โดยเฉพาะการเลี้ยงไก่ เป็ดมีการเลี้ยงเป็นฟาร์มขนาดใหญ่และขนาดกลางอยู่หลายแห่ง ซึ่งนอกเหนือจากการเลี้ยงเป็นประจำบ้านจำนวนน้อยที่มีอยู่ไปทั่ว

การประมง

เนื่องจากอาณาเขตทางด้านทางด้านตะวันออกของอำเภอไชยา ติดต่อกับทะเลคืออ่าวบ้านดอน ดังนั้นอาชีพอีกอย่างหนึ่งของชาวไชยาคือการประมง ซึ่งนับได้ว่าเป็นอาชีพที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการประกอบอาชีพการเกษตรเลย โดยเฉพาะราษฎรที่อาศัยอยู่ริมทะเล ตั้งแต่เขตติดต่ออำเภอท่าชนะจนถึงเขตอำเภอท่าฉาง ต่างก็ยึดอาชีพการประมงเป็นอาชีพหลัก คือราษฎรตำบลตะกรบ พุมเรียง และเลม็ด แต่ที่หนาแน่นที่สุดได้แก่ราษฎรตำบลพุมเรียง ชาวไชยาทำการประมงด้วยวิธีต่าง ๆ กันออกไป ตั้งแต่แห อวน ขนาดเล็กริมน้ำตื้น จนถึงขนาดใช้เครื่องมือที่เกิดจากเทคโนโลยีสมัยใหม่เหมือนกับการประมงทั่วไปของไทย ปัจจุบันอาชีพใหม่ของชาวประมงคือการเลี้ยงหอยแครง หอยแมลงภู่ และที่ได้รับผลแล้วที่ปากน้ำพุมเรียง อีกอย่างหนึ่งคือการทำนากุ้ง

การอุตสาหกรรม

การอุตสาหกรรมเครื่องจักรแต่เดิมมีโรงสีข้าวขนาดใหญ่ 2 โรง ปัจจุบันมีเพียงโรงสีขนาดกลางและขนาดเล็ก อุตสาหกรรมในครัวเรือน มีทำกันหลายอย่าง แต่ที่ขึ้นหน้าขึ้นตาและเป็นที่ยอมรับทั่วไปมี

  • การเย็บหมวก แต่เดิมทำกันมากที่ตำบลพุมเรียง ปัจจุบันมีแพร่หลายไปหลายหมู่บ้าน โดยการเย็บแล้วส่งไปขายต่างจังหวัดส่วนที่จำหน่ายในท้องถิ่นมีน้อยลงกว่าเดิม
  • การทอผ้าไหมผ้ายก ทำกันมากในท้องที่ตำบลพุมเรียง และผ้าไหมพุมเรียงก็เป็นผ้าไหมที่มีชื่อเสียงมากอีกอย่างหนึ่งของอำเภอไชยา
  • การทำไข่เค็ม นับได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมภายในครัวเรือนอย่างหนึ่งที่กำลังมีชื่อเสียงทั่วประเทศ ทำกันมากในท้องที่ตำบลตลาดไชยาและบริเวณรอบ ๆ ตัวตลาดไชยา ปัจจุบันการทำไข่เค็มได้รับการสนับสนุนจากทางราชการ ดังนั้นการทำไข่เค็มจึงเริ่มขยายเข้าสู่โรงเรียน มีอยู่หลายโรงเรียนกำลังฝึกสอนให้นักเรียนทำไข่เค็มและเป็นสินค้าของโรงเรียนเพื่อหารายได้เข้าบำรุงการศึกษา
  • การทำน้ำตาลโตนด ทำกันมากที่ตำบลทุ่งและนำตาลจากแหล่งนี้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่คนชาวไชยาถ้าพูดถึงน้ำตาลก็ต้อง “น้ำตาลบ้านทุ่ง” เพราะสีสวยปราศจากการปลอมปน หวานหอม เป็นที่ถูกใจของผู้ที่เคยลิ้มรส
  • การทำขนมที่มีชื่อเสียงของอำเภอไชยา ได้แก่ "ขนมกรุบ" และ "ขนมจั้ง" ซึ่งทำกันมากในบริเวณตลาดไชยา
  • การค้าขายเป็นอาชีพที่ทำกันเฉพาะในตัวอำเภอและที่ตำบลพุมเรียง และของที่ทำการค้าขายส่วนใหญ่ได้แก่เครื่องอุปโภคบริโภคทุกชนิด

การเงิน

ปัจจุบัน (ณ ปี พ.ศ. 2557) อำเภอไชยามีธนาคารเปิดให้บริการดังนี้

  • ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาไชยา (ถนนรักษ์นรกิจ ต.ตลาดไชยา)
  • ธนาคารออมสิน สาขาไชยา (ถนนรักษ์นรกิจ ต.ตลาดไชยา)
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาไชยา (ถนนรักษ์นรกิจ ต.ตลาดไชยา)
  • ธนาคารกรุงไทย สาขาไชยา (ถนนรักษ์นรกิจ ต.ตลาดไชยา)
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาไชยา (เทสโกโลตัสไชยา ต.เวียง)
  • ธนาคารกสิกรไทย สาขาไชยา (ตลาดใหม่ ถนนเอเชีย ต.เวียง)