การเดินทางและการคมนาคมขนส่ง ของ อำเภอไพรบึง

จากตัวจังหวัดศรีสะเกษ มายังอำเภอไพรบึง

  • โดยรถยนต์ส่วนตัว ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 221 (ศรีสะเกษ-กันทรลักษ์) ผ่านอำเภอพยุห์ จนถึงสี่แยกพยุห์ จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2111 (พยุห์-ไพรบึง-ขุนหาญ) ไปจนถึงตัวอำเภอไพรบึง
  • โดยรถประจำทางสาย 4189 เส้นทางศรีสะเกษ-พยุห์-ไพรบึง-ขุนหาญ ซึ่งเป็นบริการเดินรถของบริษัท ขุนหาญพัฒนา จำกัด ให้บริการเดินรถในเส้นทางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 221 และ 2111
  • โดยรถประจำทางสาย 4313 เส้นทางศรีสะเกษ-ไพรบึง (สิ้นสุดที่ตำบลดินแดง)

ระยะทางจากตัวจังหวัดศรีสะเกษถึงอำเภอไพรบึง ประมาณ 42 กิโลเมตร

จากกรุงเทพมหานคร มายังอำเภอไพรบึง

  • โดยรถโดยสาร
  1. เส้นทางกรุงเทพฯ - ไพรบึง ซึ่งเป็นบริการรถปรับอากาศชั้น 1 ของ บริษัท เชิดชัย จำกัด ไป-กลับ วันละ 1 เที่ยว โดยออกจากไพรบึง ในเวลา 20.45 น. และ ออกจากกรุงเทพฯ ในเวลา 20.45 น.
  2. เส้นทางกรุงเทพฯ - กันทรลักษ์(อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร) บริการเดินรถโดยบริษัท ขนส่ง จำกัด และบริษัทเดินรถเอกชน (ปรับอากาศชั้น 1 และ 2)
  3. เส้นทางกรุงเทพฯ - อุบลราชธานี บริการเดินรถโดยบริษัท ขนส่ง จำกัด (ปรับอากาศชั้น 1 และ 2) และบริษัท นครชัยแอร์ จำกัด (รถปรับอากาศ V.I.P)
  4. เส้นทางกรุงเทพฯ - เดชอุดม บริการเดินรถโดยบริษัท ขนส่ง จำกัด (ปรับอากาศชั้น 1 และ 2)
  5. เส้นทางกรุงเทพฯ - บุญฑริก บริการเดินรถโดยบริษัท ขนส่ง จำกัด (ปรับอากาศชั้น 1 และ 2)

ในเส้นทางลำดับที่ 2-5 มีบริการวันละหลายเที่ยว ทั้งช่วงเวลากลางวันและกลางคืน จากต้นทาง-ปลายทาง ผ่านแยกหัวช้างในเส้นทางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 ผู้โดยสารที่ประสงค์จะเดินทางมายังอำเภอไพรบึง สามารถใช้บริการเดินรถดังกล่าวเพื่อมาลงที่แยกหัวช้าง แล้วต่อมายังอำเภอไพรบึง ด้วยบริการรถโดยสารสาย ศรีสะเกษ-ขุนหาญ ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2111 หรืออาจใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างจากสี่แยกหัวช้างมายังตัวอำเภอไพรบึง ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร การเดินทางจากกรุงเทพมหานครมายังตัวอำเภอไพรบึงใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 8-9 ชั่วโมง เป็นระยะทางราว 500 กิโลเมตร เศษ

ทางแยกหัวช้าง ชุมทางการเดินทาง

ทางแยกหัวช้างในเขตบ้านหัวช้าง ตำบลสำโรงพลัน ซึ่งอยู่ห่างจากเขตเทศบาลตำบลไพรบึง (ตัวอำเภอ) ไปทางทิศใต้ประมาณ 4 กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2111 (ช่วงไพรบึง-ขุนหาญ) ถือเป็นชุมทางการคมนาคมและการขนส่งขนาดใหญ่จุดหนึ่ง เนื่องจากเป็นจุดตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 (ถนนโชคชัย-เดชอุดม) ชุมทางแห่งนี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการพักรถและพักผ่อนสำหรับผู้เดินทาง ซึ่งประกอบด้วยสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงขนาดใหญ่จำนวน 3 แห่ง และสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงขนาดเล็ก 1 แห่ง ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ร้านจำหน่ายของฝาก ร้านเครื่องดื่ม สถานพักตากอากาศสำหรับค้างคืน 2 แห่ง ตลอดจนป้อมตำรวจหน่วยบริการประชาชนของสถานีตำรวจภูธรไพรบึง ทางแยกหัวช้างจึงเป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจที่คึกคักที่สุดแห่งหนึ่งของอำเภอไพรบึง

จากชุมทางดังกล่าวด้านตะวันออกเป็นเส้นทางเชื่อมโยงไปยังอำเภอกันทรลักษ์และจังหวัดอุบลราชธานี ด้านทิศใต้ไปยังอำเภอขุนหาญ ด้านทิศตะวันตกไปยังอำเภอขุขันธ์และอำเภอภูสิงห์ ตลอดจนอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดสุรินทร์ (อำเภอสังขะ อำเภอปราสาท) จังหวัดบุรีรัมย์ (อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอประโคนชัย อำเภอนางรอง อำเภอหนองกี่) และจังหวัดนครราชสีมา (อำเภอหนองบุญมาก อำเภอโชคชัย อำเภอปักธงชัย อำเภอสีคิ้ว) แล้วบรรจบกับถนนมิตรภาพ