การสาธยาย ของ อิติปิโสรัตนมาลา

พระคาถานี้เป็นที่นิยมสาธยายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ หรือกลุ่มประเทศที่นับถือพุทธศาสนาในแถบนี้ อันได้แก่ พม่า ไทย ลาว และกัมพูชา นิยมใช้กันในพิธีพุทธาภิเษก นอกจากนี้ ยังนำพระคาถาเขียนเป็นยันต์ในลักษณะต่างๆ

ตามความเชื่อแต่โบราณ คณาจารย์ได้มีการสั่งสอนและสืบทอดอุปเทศ (หรือ อุปเท่ห์ หมายถึงการสั่งสอนแจกแจงวิธีการใช้) ว่าด้วยคุณแห่งการสาธยายพระคาถาอิติปิโสรัตนมาลาเฉพาะส่วนของพุทธคุณทั้ง 56 บท นอกจากนี้ แต่ละสำนักและคณาจารย์ยังมีการเสริมรายละเอียดความเชื่อเกี่ยวกับคุณแห่งการสาธยายพุทธคุณแห่งพระคาถาอิติปิโสรัตนมาลาไว้ต่างๆ กัน อาทิ บทที่ 3 คือ

ปิ. ปิโย เทวะมะนุสสานัง พระพุทธเจ้าพระองค์ใด เป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ปิโยพรหมานะมุตตะโม เป็นที่รักสูงสุดของพรหมทั้งหลาย

ปิโย นาคะสุปัณณานัง ตลอดไปจนถึงดิรัจฉานมีนาคและครุฑเป็นอาทิ

ปิณินทริยัง นะมามิหัง ข้าฯ ขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าผู้มีอินทรีย์อิ่มพระองค์นั้น

โดยอุปเทศตำราระบุว่า "ภาวนานึก สติตรองตรึก อย่าทำร้อนใจ สารพัดเมตตา อย่าได้อาวรณ์ ครูแต่เก่าก่อน เคยได้ใช้มา เสกหมากรับประทาน เป็นที่เสน่หา แก่ชนทั้งหลาย (ภาวนาเสกกระแจะ น้ำมันหอม หมากพลู สารพัดที่กินที่ใช้ เป็นเสน่ห์แก่คนทั้งปวง)"

นอกเหนือจากการสาธยายเพื่อผลทางอานุภาพเหนือธรรมชาติแล้ว พระคาถารัตนมาลา ยังมีประโยชน์ในการสาธยายเพื่อรำลึกถึงคุณแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จัดเป็นพุทธานสติ อันเป็นหนึ่งใน อนุสสติ 10 หรือ กรรมฐานเป็นเครื่องระลึกถึง มี 10 อย่าง