การตอบรับ ของ อินทรีแดง_(ภาพยนตร์)

การออกฉายและรายได้

อินทรีแดงออกฉายรอบปฐมทัศน์ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ณ เอสเอฟ เวิลด์ ซีนีมา ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่เปิดตัวที่นี่หลังศูนย์การค้าปิดซ่อมแซมจากเหตุวางเพลิง และออกฉายรอบทั่วไปในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ก่อนวันครบรอบ 40 ปี การเสียชีวิตของมิตร ชัยบัญชา จากการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง อินทรีทอง 1 วัน ภาพยนตร์ได้รับการจัดเรตติ้งในระดับ น18 + คือภาพยนตร์ที่เหมาะสมสำหรับผู้ชมอายุ 18 ปีขึ้นไป[7] ภาพยนตร์ อินทรีแดง ที่มีทุนสร้างสูง 150 ล้านบาทแต่รายได้เมื่อเข้าฉายจริง ๆ แล้ว ทำได้เพียงแค่ 5.3 ล้านบาทเท่านั้น ในระยะ 4 วันแรกที่ออกฉาย โดยเปิดตัวเป็นอันดับ 2 รองจากภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่อง Legend of the Guardians : The Owls of GaHoole[8]

และรายได้ของการฉายในสัปดาห์ที่ 2 ทำได้ 2.5 ล้านบาท รวมแล้วได้เพียงแค่ 10.5 ล้านบาท[9] และสัปดาห์ที่ 3 ทำได้ 0.8 ล้าน รวมแล้วทั้งหมดทำรายได้ 12.5 ล้านบาท[10] ถือว่าประสบความล้มเหลวด้านรายได้อย่างมาก จนถือได้ว่าเป็นภาพยนตร์ที่ขาดทุนอย่างมากเรื่องหนึ่ง ซึ่งทาง วิศิษฎ์ ผู้กำกับผิดหวังอย่างมากถึงขนาดประกาศที่จะไม่สร้างภาคต่อหรือสร้างภาพยนตร์เรื่องใด ๆ อีก ทั้ง ๆ ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จบลงแบบทิ้งเหตุการณ์ไว้บอกว่าจะมีภาคต่อ [11] [12]

คำวิจารณ์

พรวุฒิ สารสิน รับบท "ดิเรก" นายกรัฐมนตรี

นันทขว้าง สิรสุนทร วิจารณ์ในกรุงเทพธุรกิจไว้ว่า "มีสไตล์การเล่าเรื่องที่รวดเร็ว โดยทีหนังสามารถแบกรับและรับลูกจากยุคสมัยก่อนของอินทรีแดงมาเล่นได้อย่างลื่นไหล กล่าวคือ วิศิษฐ์ ได้แสดงความเคารพต่อตำนาน ส่วนภาพรวมของหนัง ต้องถือว่านี่คือหนังแอ็กชันที่สอบผ่าน" แต่ก็มีส่วนที่ไม่ชอบคือ ความรุนแรงที่อยู่ในเรื่อง แต่โดยรวมแล้วก็ต้องถือว่าสอบผ่าน[13]

เดือนเพ็ญ สีหรัตน์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์และนักจัดรายการวิทยุ เขียนไว้ในนิตยสารเอนเตอร์เทนไว้ว่า เรื่องบทที่เป็นหัวใจของภาพยนตร์ กลายเป็นหนังที่ "หัวใจไม่แข็งแรง" ส่วนที่แข็งแรงคือ การขายฉากแอ็กชั่นและงานด้านภาพและเทคนิคพิเศษที่ทำออกมาดีมาก ด้านความลึกของตัวละครนั้น โรม ฤทธิไกรหรืออินทรีแดง ขาดหายไปในส่วนที่สำคัญมาก ด้านการแสดงบทบาทของนักแสดง อนันดาถือว่าสอบผ่าน แต่บทญารินดา เธอแสดงได้แค่ระดับหนึ่งและดูไม่เข้ากันเลยกันอนันดา เธอดูข่มเพื่อนร่วมฉากไปซะหมด รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างวาสนากับโรม ฤทธิไกรก็ไม่มี Chemistry ระหว่างกัน[14]

ขณะที่ อภินันท์ บุญเรืองพะเนา วิจารณ์ไว้ในผู้จัดการออนไลน์ว่า เป็นหนังที่ถือเป็นก้าวที่กล้าของคนทำหนัง กล่าวคือ กล้าที่จะให้ตัวละครอย่างนายกรัฐมนตรีเป็นคนชั่ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะชั่วในแบบที่ไม่มีที่มาที่ไป ธาตุแท้ของนายกฯก็ไม่ใช่คนชั่ว เพียงแต่ไม่กล้าที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง และมีเหตุผลที่ต้องทำเช่นนั้นคล้ายคลึงกับสถานการณ์การเมืองไทยในขณะที่เข้าฉาย และยังกล่าวอีกว่า ตัวละครอย่าง อินทรีแดง หรือ โรม ฤทธิไกร กับ ดร.วาสนา เทียนประดับ เป็น "ตัวละครที่เป็นคู่ขนานกัน" กล่าวคือ ถ้าอินทรีแดงเลือกที่จะใช้วิธีนอกกฎหมายจัดการกับคนชั่ว แต่ตัวดร.วาสนากลับใช้วิถีทางแบบประชาธิปไตย แต่ทว่าเรียกร้องไปเท่าไหร่ ก็ไม่ได้รับการเหลียวแล ซ้ำร้ายยังถูกคุกคามรังแก เช่น จัดม็อบชนม็อบบ้าง หรือวิธีการแบบหมาลอบกัดอย่างการส่งมือสไนเปอร์ไปเก็บบ้าง ใช้นักเลงหัวไม้ไปฆ่าบ้าง และสุดท้าย ก็ถูกตราหน้าว่าเป็น "ตัวถ่วงความเจริญ" ซึ่งเรื่องแบบนี้มีให้เห็นอยู่ทั่วไปในสังคมไทย[15]

ข้อน่าสนใจของเรื่องนี้ รัชชพร เหล่าวานิช นักวิจารณ์และอดีตนักจัดรายการวิทยุ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการโฆษณาแฝงว่า ไม่ได้มาแบบแฝง แต่ทำให้เห็นกันชัด ๆ การทำให้เห็นเช่นนี้ นักวิจารณ์แถวหน้าบอกว่า ประชดประชันโฆษณาแฝงในหนังได้อย่างมีชั้นเชิง และเมื่อมองถึงว่าเป็นหนังเสียดสี ได้ความบันเทิงระดับเดียวกับ Wanted แต่ถ้ามองในฐานะหนังแอ็กชัน ซูเปอร์ฮีโรแล้ว อยู่ในมาตรฐานเดียวกับ Dare Devil[16]

แหล่งที่มา

WikiPedia: อินทรีแดง_(ภาพยนตร์) http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-sty... http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-sty... http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-sty... http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-sty... http://www.fivestarent.com/movies/movie.php?movie=... http://www.inseedangthemovie.com/ http://nhammm.com/2010/09/ananda-in-inseedang-2010... http://topicstock.pantip.com/chalermthai/topicstoc... http://www.siamdara.com/ColumnDetail.asp?cid=10230 http://www.youtube.com/watch?v=CxLyo_PmdeY&feature...