ประวัติ ของ อี้หย่งจฺวินจิ้นสิงฉฺวี่

กำเนิดเพลงอี้หย่งจฺวินจิ้นสิงฉฺวี่

โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง "Sons and Daughters in a Time of Storm" ("风云儿女") ซึ่งได้มีการนำเพลงอี้หย่งจฺวินจิ้นสิงฉฺวี่มาใช้ประกอบภาพยนตร์ เมื่อ ค.ศ. 1935

เพลงอี้หย่งจฺวินจิ้นสิงฉฺวี่ เถียน ฮั่นประพันธ์ขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1934 ซึ่งขณะนั้นประเทศจีนอยู่ภายใต้การปกครองของพรรคก๊กมินตั๋ง เพื่อใช้เป็นเพลงประกอบบทละครเรื่องหนึ่งที่เขากำลังแต่งอยู่ในขณะนั้น เรื่องเล่าที่กล่าวขานกันทั่วไปนั้น กล่าวกันว่า เขาได้เขียนบทเพลงนี้ลงบนกดระดาษห่อใบยาสูบ หลังจากที่เขาถูกฝ่ายพรรคก๊กมินตั๋งจับกุมที่เมืองเซี่ยงไฮ้และจำคุกด้วยข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ใน ค.ศ. 1935 ระหว่างนั้นเนี่ย เอ่อร์ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกับเถียนฮั่น ได้อ่านเนื้อเพลงดังกล่าวแล้วเกิดความฮึกเหิมในเนื้อหาของเพลง จึงได้แต่งทำนองประกอบเพลงที่เถียนฮั่นแต่งไว้ และสำเร็จลงได้อย่างรวดเร็ว ผลงานชิ้นนี้ต่อมาถือเป็นผลงานประพันธ์ชิ้นสุดท้ายของเนี่ย เอ่อร์

ต่อมาเพลงอี้หย่งจฺวินจิ้นสิงฉฺวี่ได้ถูกนำไปใช้ประกอบในภาพยนตร์ปลุกใจเรื่อง "Sons and Daughters in a Time of Storm" ("风云儿女") ซึ่งออกฉายเมื่อ ค.ศ. 1935 โดยมีการดัดแปลงเพลงบ้างเล็กน้อย ซึ่งเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้กล่าวถึงปัญญาชนจีนคนหนึ่งที่เดินทางออกจากเมืองเซี่ยงไฮ้เพื่อไปรบในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง เพลงนี้จึงเป็นหนึ่งในหลายบทเพลงที่โด่งดังอย่างลับ ๆ ในหมู่ประชาชนที่ต่อต้านญี่ปุ่น และมีการบันทึกลงแผ่นเสียงโดยห้างแผ่นเสียงปาเต๊ะ และจัดจำหน่ายโดยบริษัทอีเอ็มไอในปีเดียวกัน

เพลงชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน

หลังการกล่าวคำประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนโดย เหมา เจ๋อตุง (ในภาพ) ได้มีพิธีเชิญธงแดงดาวห้าดวงขึ้นสู่ยอดเสา พร้อมด้วยการบรรเลงเพลง "อี้หย่งจฺวินจิ้นสิงฉฺวี่" ในฐานะเพลงชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949เพลงชาติ "อี้หย่งจฺวินจิ้นสิงฉฺวี่" ในโฆษณาชวนเชื่อ พรรคคอมมิวนิสต์จีนของสาธารณรัฐประชาชนจีน

เพลงอี้หย่งจฺวินจิ้นสิงฉฺวี่ได้เริ่มใช้ในฐานะเพลงชาติจีนอย่างไม่เป็นทางการ ในการประชุมนานาชาติที่กรุงปราก เชโกสโลวาเกีย เมื่อ ค.ศ. 1949 ซึ่งขณะนั้น พรรคคอมมิวนิสต์จีนเพิ่งจะชนะสงครามกลางเมือง และได้ปกครองประเทศจีนส่วนที่เป็นแผ่นดินใหญ่ทั้งหมด ในเดือนมิถุนายนของปีนั้น พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้น เพื่อสรรหาเพลงชาติ ธงชาติ และตราแผ่นดินของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจะได้สถาปนาอย่างเป็นทางการขึ้นในเวลาอันใกล้ คณะทำงานดังกล่าวได้ประกาศสรรหาเพลงชาติในหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ภายในประเทศ โดยได้รับความเห็นชอบจากเหมา เจ๋อตง และเติ้ง เสี่ยวผิง สองผู้นำระดับสูงของพรรคในเวลานั้น ซึ่งผลตอบรับออกมาได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่ง

ถึงปลายเดือนสิงหาคม คณะทำงานสามารถรวบรวมเนื้อเพลงที่ส่งมาจากทั่วประเทศได้มากถึง 350 ชิ้น แต่ยังไม่ได้เนื้อเพลงที่เหมาะสม จึงต้องขอเวลาทำการรวบรวมเนื้อเพลงเพิ่มเติมอีกครั้ง กระทั่งปลายเดือนกันยายน จึงรวบรวบผลงานได้ทั้งสิ้น 632 ชิ้น จึงได้มีการเปิดประชุมเรื่องธงชาติ ตราแผ่นดิน และเพลงชาติจีนขึ้น เมื่อวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 1949 ในที่ประชุมนั้น หม่า ซี่ว์หลุน ได้เสนอให้เลือกเพลงอี้หย่งจฺวินจิ้นสิงฉฺวี่เป็นเพลงชาติ โดยได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วนท้นจากคณะกรรมการในที่ประชุมจำนวนมาก เนื่องจากเพลงบทนี้ มีใจความช่วงหนึ่งที่เขียนว่า "ถึงเวลาอันเป็นวิกฤตยิ่งของชนชาวจีนแล้ว” (中华民族到了最危险的时候) ซึ่งทุกคนมีความเห็นว่าเป็นประโยคที่สะท้อนถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี และเพลงนี้ก็แพร่หลายในต่างประเทศในฐานะเพลงปลุกใจชาวจีนทั้งในและต่างประเทศอยู่แล้ว[5]

เหมา เจ๋อตง และโจว เอินไหล ยอมรับเหตุผลของที่ประชุมดังกล่าว พร้อมเสริมว่า แม้ขณะนี้ศึกในประเทศจะสงบแล้ว แต่ก็ยังต้องเผชิญกับศัตรูนอกประเทศอีก ซึ่งเพลงชาติควรทำหน้าที่สะท้อนถึงพลังและจิตวิญญาณของประชาชนในประเทศ และเนื้อเพลงเดิมก็ให้ความรู้สึกถึงความฮึกเหิม ไม่กลัวที่จะบุกไปข้างหน้าอยู่แล้ว จึงเห็นชอบใช้เนื้อเพลงเดิม ที่ประชุมจึงมีมติใช้เพลงอี้หย่งจฺวินจิ้นสิงฉฺวี่เป็นเพลงชาติจีนในวันนั้น โดยผ่านการรับรองอย่างเป็นทางการจากมติสภาที่ปรึกษาทางการเมืองของประเทศในวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 1949 และบรรเลงอย่างเป็นทางการครั้งแรกในพิธีสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949[5]

ยุคปฏิวัติวัฒนธรรมและสมัยต่อมา

โน้ตเพลงอี้หย่งจฺวินจิ้นสิงฉฺวี่ จากภาคผนวก 4 ของกฎหมายมาเก๊าเลขที่ 5/1999

ในระหว่างยุคปฏิวัติวัฒนธรรม เถียน ฮั่น ถูกจำคุกจนเสียชีวิต เนื่องจากถูก "แก๊งสี่คน" ป้ายสีว่าเป็นฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติวัฒนธรรม เพลงอี้หย่งจฺวินจิ้นสิงฉฺวี่จึงถูกห้ามขับร้อง และเพลง "ตงฟางหง" หรือ "บูรพาแดง" (The East Is Red) ซึ่งมีเนื้อหาเชิดชูการปฏิวัติของเหมา เจ่อตง ได้แพร่หลายจนกลายเป็นเพลงชาติจีนอย่างไม่เป็นทางการในยุคนั้น ทั้งนี้ เพลงอี้หย่งจฺวินจิ้นสิงฉฺวี่ได้มีการบรรเลงเพียงครั้งเดียวในงานวันชาติสาธารณรัฐประชาชนจีนครั้งที่ 20 เมื่อ ค.ศ. 1969[6]

เพลงอี้หย่งจฺวินจิ้นสิงฉฺวี่ได้รับการฟื้นฟูฐานะอีกครั้งโดยสภาประชาชนแห่งชาติได้กำหนดเนื้อร้องฉบับใหม่ขึ้นใน ค.ศ. 1978 อย่างไรก็ตาม เนื้อร้องฉบับใหม่นี้ไม่ได้รับความนิยมและสร้างความสับสนอย่างใหญ่หลวง ตัวอย่างเช่น ในประโยคสุดท้ายของเพลงที่ว่า "高举毛泽东旗帜,前进! ("ชูธงเหมา เจ๋อตง รุกเข้า!") ซึ่งมีความหมายถึงการสืบทอดความคิดของเหมา เจ๋อตง เป็นต้น

เมื่อประเทศจีนชนะการแข่งขันวอลเลย์บอลระดับโลกใน ค.ศ. 1981 ได้ปรากฏว่าผู้ชมชาวจีนได้ขับร้องเพลงอี้หย่งจฺวินจิ้นสิงฉฺวี่ทั้งในเนื้อร้องเดิมและเนื้อร้องใหม่[7] ในวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1982 สภาประชาชนแห่งชาติจึงได้ผ่านการรับรองเพลงอี้หย่งจฺวินจิ้นสิงฉฺวี่พร้อมเนื้อร้องที่เถียนฮั่นแต่งไว้ในปี พ.ศ. 2478 ให้เป็นเพลงชาติจีนอย่างเป็นทางการ การรับรองเพลงชาติครั้งนี้มีความหมายสำคัญตรงที่เนื้อร้องฉบับเดิมนั้น ไม่เน้นความสำคัญของทั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนและอดีตประธานเหมา เจ๋อตง ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ถึงการสิ้นอำนาจของหั้ว กั๋วเฟิง พร้อม ๆ กับลัทธิบูชาบุคคลของเหมา เจ๋อตง และการก้าวขึ้นสู่อำนาจของเติ้ง เสี่ยวผิง

ในการตรารัฐธรรมนญแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ค.ศ. 2004 โดยสภาประชาชนแห่งชาติจีน เมื่อ ค.ศ. 2004 ได้มีการระบุในรัฐธรรมนูญด้วยว่าเพลงชาติสาธารณรัฐประชาชนจีนคือเพลงอี้หย่งจฺวินจิ้นสิงฉฺวี่ โดยกล่าวไว้อย่างสั้น ๆ ถัดจากบทบัญญัติว่าด้วยธงชาติ

อนึ่ง แม้เพลงนี้จะเป็นที่นิยมของชาวจีนในยุคการปกครองของฝ่ายชาตินิยม (พรรคก๊กมินตั๋ง) ระหว่างช่วงสงครามจีน-ญี่ปุ่น ค.ศ. 1937–1945 แต่เพลงนี้ได้กลายเป็นเพลงต้องห้ามในสาธารณรัฐจีนมาโดยตลอดจนกระทั่งในช่วงพุทธทศวรรษที่ 2530

เพลงชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้บรรเลงในฮ่องกงครั้งแรก ในพิธีการส่งมอบอำนาจอธิปไตยของฮ่องกงกลับคืนสู่จีนในปี ค.ศ. 1997 และบรรเลงในมาเก๊าครั้งแรกในพิธีส่งมอบมาเก๊าเมื่อ ค.ศ. 1999

สำหรับการใช้เพลงชาติในมาเก๊านั้น เป็นไปตามกฎหมายมาเก๊าเลขที่ 5/1999 (zh:第5/1999號法律, pt:Lei de Macau 5 de 1999) ลงวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1999 มาตรา 7 ซึ่งระบุให้การบรรเลงเพลงชาติให้เป็นไปตามโน้ตเพลงซึ่งระบุในภาคผนวก 4 ของกฎหมายดังกล่าว และห้ามขับร้องเพลงนี้ด้วยเนื้อร้องอื่นนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ ผู้ใดเจตนาละเมิดข้อกฎหมายดังกล่าว มีโทษทางอาญาโดยการจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือจำคุกแทนค่าปรับไม่เกิน 360 วัน ทั้งนี้ โน้ตเพลงที่อยู่ในภาคผนวก 4 นั้นมีเฉพาะเนื่อร้องภาษาจีนเท่านั้น ไม่มีการแปลเป็นภาษาโปรตุเกส แม้ว่าในมาเก๊าจะใช้ทั้งภาษาจีนและภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาราชการก็ตาม ส่วนในจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง ไม่มีการตรากฎหมายเพลงชาติไว้เป็นการเฉพาะดังเช่นในมาเก๊า