ช้างป่า ของ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี

จากการสำรวจของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีในต้นปีที่แล้วนี้มีช้างจำนวน 109 ตัว แบ่งเป็น 2 โขลง โขลงใหญ่มี 70 กว่าตัว อาศัยและหากินในป่าอุทยานแห่งชาติกุยบุรีในท้องที่อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่วนอีกโขลง 30 กว่าตัว อาศัยและหากินในป่าอุทยานแห่งชาติกุยบุรีท้องที่บ้านหาดขาม บ้านหุบบอน และบ้านย่านซื่อ ตำบลหาดขาม ภาพประกอบเรื่องบันทึกเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2542 ช้างป่ากุยบุรีลงมาหาอาหารกินที่เชิงป่าชายเขาท้องที่บ้านรวมไทย นี่เป็นส่วนหนึ่งของโขลงช้างที่ต้องประสบกับปัญหาขาดแคลนอาหารในช่วงหน้าแล้ง ต้องเสี่ยงชีวิตพาลูก ๆ ลงมาหาอาหารยังเชิงเขาและที่เพาะปลูกของชาวบ้าน อันนำมาซึ่งปัญหาการเผชิญหน้าระหว่างช้างป่ากับชาวบ้านและนายทุน

ปัญหาระหว่างคนกับช้างป่า

พื้นที่รอบแนวเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรีปรากฏเป็นพื้นที่เพื่อการเกษตรเป็นเวลานาน พืชที่มีการเพาะปลูกมากที่สุด คือ สับปะรด การขยายพื้นที่สับปะรดเริ่มต้นช่วงปี พ.ศ. 2510 เพราะปัญหาเศรษฐกิจการผลิตของบริษัทสับปะรดที่เกาะฮาวาย บวกกับนโยบายของรัฐบาลไทยในยุคนั้นต้องการกำจัดลัทธิคอมมิวนิสต์ให้หมดไป จึงส่งเสริมให้ราษฎรออกจากป่าโดยจัดตั้งหมู่บ้านและจัดสรรที่ดินทำกิน รวมถึงการเปิดพื้นที่ป่าเพื่อเป็นที่เกษตรกรรมแต่ขาดมาตรการควบคุมและขาดการส่งเสริมการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน ปัญหาที่ตามมา คือ การบุกรุกพื้นที่ป่าอย่างรวดเร็วจนเกิดผลกระทบกับสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ดั้งเดิม ต้องอพยพหลบหนีไปจากแหล่งอาศัยเดิม สิ่งที่ตามมา คือ การสนับสนุนส่งเสริมการตั้งโรงงานทำผลไม้กระป๋องในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวนถึง 32 แห่ง เมื่อใดก็ตามที่สับปะรดราคาแพงจะมีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปีต่อมาสับปะรดมีปริมาณเกินความต้องการของตลาด ราคาสับปะรดก็ลดลงจนไม่มีคุ้มกับการลงทุนและเก็บเกี่ยว ส่งผลให้ชาวบ้านทิ้งไร่โดยเฉพาะแปลงที่อยู่ไกลชุมชนและติดกับชายป่าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี สภาพดังกล่าวเป็นปัจจัยที่ทำให้ช้างป่าออกมากินสับปะรดที่ถูกทิ้งร้างไว้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการหากิน จนกลายเป็นปัญหาความขัดแย่งระหว่างคนกับช้างป่าและทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาสับปะรดปรับตัวสูงขึ้น

ผลกระทบของความขัดแย้ง

ช้างป่าต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง ซึ่งแต่เดิมในบริเวณป่าแถบนี้เป็นป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์มีสัตว์ป่าอยู่อาศัย ต่อมาป่าไม้ถูกทำลาย กลายเป็นที่ทำประโยชน์ของมนุษย์ ทำให้สัตว์ป่าและช้างป่าจำต้องถอยร่น พื้นที่ป่าที่เคยเป็นแหล่งอาหารธรรมชาติก็ถูกลุกล้ำลิดรอน เมื่อเข้าฤดูแล้งช้างป่าขาดแคลนอาหารธรรมชาติ จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้ช้างต้องออกจากป่ามาหากินประทังชีวิตแถบถิ่นเดิมที่กลายมาเป็นที่ปลูกพืชไร่ของชาวบ้าน ก็เกิดปัญหาตามมา คือการเผชิญหน้าระหว่างช้างป่ากับชาวบ้าน จนเกิดเหตุการณ์กรณีที่ช้างป่าตายเพราะถูกวางยาพิษ

เหตุการณ์ช้างป่าถูกวางยาพิษ

"2 ช้างป่าตายปริศนากลางไร่""ผ่าซากพิสูจน์ช้างโดนยาพิษ ฝีมือนายทุนใจทมิฬ " ข่าวหน้าหนึ่งเมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2540 กรณีช้างป่าถูกวางยาที่ป่ากุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กลายเป็นประเด็นสาธารณะที่สื่อมวลชนติดตามข่าวโดยตลอด ผู้มีจิตเมตตาและองค์กรอนุรักษ์ภาครัฐและเอกชนต่างเคลื่อนไหวต่อกรณีช้างป่ากุยบุรี ที่กำลังประสบปัญหาเนื่องจากป่าที่เป็นที่อยู่ของช้างถูกทำลายกลายมาเป็นไร่สัปประรด เมื่อช้างลงมากิน จึงถูกวางยาพิษและจบชีวิต

การแก้ปัญหา

ในช่วงฤดูแล้ง ช้างป่าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีอยู่ 100 กว่าเชือกจะออกจากป่ามาหากินตามชายป่าซึ่งเป็นอาณาบริเวณถิ่นที่อยู่เดิมของตนแต่ปัจจุบันกลายเป็นที่ปลูกพืชไร่ เช่น สับปะรดของชาวบ้านและนายทุน เพื่อแก้ไขปัญหาการเผชิญหน้าระหว่างช้างป่ากับชาวบ้าน ทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้สนับสนุนให้ชาวบ้านรวมตัวกันเป็นกลุ่มอาสาสมัครเพื่ออนุรักษ์ช้างในอุทยานแห่งชาติป่ากุยบุรี

นอกจากนั้นยังมีการประชุมหารือชาวบ้านแถบถิ่นนั้น เพื่อหาแนวทางการอยู่ร่วมกันระหว่างทั้งสองฝ่าย และหาวิธีการผลักดันที่ไม่เกิดอันตรายต่อช้างป่า

ใกล้เคียง

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อุทยานแห่งชาติในประเทศไทย อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี อุทยานราชภักดิ์ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร