ภูมิศาสตร์ ของ อุทยานแห่งชาติออบหลวง

ที่ตั้ง

อุทยานแห่งชาติออบหลวงมีพื้นที่ครอบคลุมตำบลดอยแก้ว ตำบลสบเตี๊ยะ ตำบลแม่สอย ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง ตำบลกองแขก อำเภอแม่แจ่ม และตำบลหางดง ตำบลนาคอเรือ ตำบลบ่อหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ มีอาณาเขตติดต่อดังนี้[2]

  • ทิศเหนือ – อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
  • ทิศใต้ – จรดห้วยแม่ป่าไผ่ และเขตสหกรณ์นิคมแม่แจ่ม อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศตะวันออก – จรดบ้านแม่สอย โครงการป่าสงวนแห่งชาติป่าจอมทองที่ 2 เขตสุขาภิบาลหางดง และเขตสหกรณ์นิคมแม่แจ่ม อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศตะวันตก – จรดห้วยบง ตำบลบ่อหลวง อำเภอฮอด และห้วยอมขูด เขตสงวนป่าองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้แม่แต่ม ตำบลกองแขก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

ภูมิประเทศ

พื้นที่อุทยานแห่งชาติออบหลวงส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชันและสลับซับซ้อน มีที่ราบน้อยมาก กลุ่มภูเขาวางตัวในแนวเหนือ–ใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาถนนธงชัย มีอาณาเขตติดต่อกับดอยอินทนนท์ พื้นที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางระหว่าง 280–1,980 เมตร[2] ยอดเขาที่สูงที่สุดอยู่ทางตอนเหนือของพื้นที่ ภูเขาที่สำคัญได้แก่ ดอยผาดำ ดอยเลี่ยม ดอยปุยหลวง ดอยคำ เป็นต้น แหล่งน้ำที่สำคัญคือ ลำน้ำแม่แจ่ม ซึ่งเป็นเขตแบ่งอำเภอจอมทองและอำเภอฮอด ไหลผ่านกลางพื้นที่อุทยานแห่งชาติจากทิศตะวันตกไปตะวันออก เฉพาะในเขตอุทยานแห่งชาติมีความยาวประมาณ 27 กิโลเมตร แม่น้ำไม่คดเคี้ยวมาก ภูมิประเทศที่แม่น้ำไหลผ่านมีลักษณะเป็นหุบเขา ตลิ่งแม่น้ำในอุทยานแห่งชาติมีลักษณะเป็นเกาะแก่ง มีโขดหินขนาดใหญ่ เกิดจากการกัดเซาะของน้ำ แหล่งน้ำอื่นในอุทยานแห่งชาติได้แก่ ห้วยแม่แตะ ห้วยแม่เตี๊ยะ ห้วยแม่สอย ห้วยแม่แปะ ห้วยแม่จร ห้วยแม่หึด ห้วยแม่หลวง ห้วยแม่นาเปิน ห้วยแม่บัวคำ ห้วยแม่ลอน ห้วยบง ห้วยแม่ฮอด ห้วยทราย และห้วยแม่ป่าไผ่ บางส่วนไหลลงแม่น้ำแม่แจ่ม ซึ่งในที่สุดก็ลงมารวมกับแม่น้ำปิงทั้งหมด[2] ถือเป็นต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำปิงตอนล่าง

ธรณีวิทยา

บริเวณออบหลวงเป็นหินแปรเกรดสูง มีขนาดต่าง ๆ กัน เกิดจากการแปรสัณฐานในช่วงยุคไทรแอสซิก (200–250 ล้านปีก่อน) หินที่เป็นองค์ประกอบของพื้นที่ได้แก่ หินแกรนิต แกรโนไดออไรท์ สลับกับหินบะซอลต์และหินตระกูลแกรนิตชนิดมิคมาไทด์ ซึ่งประกอบด้วย แร่ควอตซ์และเฟลด์สปาร์ จากยุคไทรแอสซิกและครีเทเชียส สำหรับท้องน้ำของลำน้ำแม่แจ่มมีเกาะแก่ง หินขนาดต่าง ๆ ริมฝั่งแม่น้ำบางช่วงมีหาดทราย เกิดจากน้ำพัดพาตะกอนมาสะสม นอกจากนี้ยังพบก้อนหินกลมประเภทกรวดท้องน้ำของหินควอร์ตไซต์ ควอตซ์ แจสเปอร์ เป็นต้น[3]

ใกล้เคียง

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อุทยานแห่งชาติภูกระดึง อุทยานแห่งชาติในประเทศไทย อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร อุทยานแห่งชาติออบหลวง