แหล่งท่องเที่ยว ของ อุทยานแห่งชาติออบหลวง

บริเวณออบหลวง ด้านล่างคือลำน้ำแม่แจ่ม

เชิงสุขภาพและผจญภัย

  • บ่อน้ำร้อนเทพพนม – ห่างจากออบหลวงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือราว 14 กิโลเมตร ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1088 เป็นบ่อน้ำร้อนธรรมชาติเกิดจากความร้อนใต้พิภพ น้ำมีความร้อนสูงถึง 99 องศาเซลเซียส บริเวณโดยรอบเป็นที่ราบราว 10 ไร่ มีลำห้วยโป่งไหลผ่าน
  • ลำน้ำแม่แจ่ม – มีกิจกรรมล่องแก่งเรือยาง มีสองระยะ คือ ระหว่างสะพานแม่นาเปิน–ท่าพระเสด็จ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร และระหว่างบ้านอมขูด–บ้านท่าเรือ ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร

เชิงธรรมชาติ

  • ออบหลวง – เป็นช่องแคบเขาขาดมีหน้าผาหินขนาบลำน้ำแม่แจ่ม หน้าผามีความสูงถึงระดับน้ำปกติประมาณ 32 เมตร ส่วนที่แคบสุด 2 เมตร[3] ความยาวช่องแคบประมาณ 300 เมตร ตั้งอยู่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108
  • น้ำตกแม่จอน – ส่วนหนึ่งของห้วยแม่จอนหลวง เขตตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง น้ำตกมีหน้าผาขนาดใหญ่ สูงราว 100 เมตร กว้าง 80 เมตร เป็นหินแกรนิตผสมหินแปรสีขาวเจือสีเทาอ่อน
  • น้ำตกแม่เตี๊ยะ – ส่วนหนึ่งของห้วยแม่เตี๊ยะ ในเขตตำบลดอยแก้ว อำเภอจอมทอง มีความสูงประมาณ 80 เมตร กว้าง 40 เมตร มีน้ำตลอดปี เข้าถึงได้โดยการเดินเท้าจากบ้านแม่เตี๊ยะประมาณ 8 กิโลเมตร
  • น้ำตกแม่บัวคำ – ส่วนหนึ่งของห้วยแม่บัวคำ เขตตำบลหางดง อำเภอฮอด สูงประมาณ 50 เมตร ลดหลั่นลงมาเป็นเพิงชั้น
  • ถ้ำตอง – ตั้งอยู่ในดอยผาเลียบ ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง ปากถ้ำมีขนาดประมาณ 5×10 เมตร สูง 3 เมตร หน้าถ้ำมีห้วยแม่แปะไหลผ่าน ปัจจุบันบริเวณปากถ้ำถูกใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของสำนักวิปัสสนาถ้ำตอง
  • ถ้ำตุ๊ปู่ – ในตำบลแม่สอย อำเภอจอมทอง เป็นถ้ำหินปูนขนาดเล็ก ปากถ้ำมีขนาดประมาณ 1×1.5 เมตร ภายในกว้างขวางมีรูปร่างค่อนข้างกลม มีหินงอกหินย้อยอยู่ทั่วไป
  • เส้นทางศึกษาธรรมชาติดอยคำ – มีระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร

เชิงประวัติศาสตร์

ผาช้าง ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

เป็นหินขนาดใหญ่ชนิดแกรนิตชนิดมิคมาไทด์ทั้งแท่ง ปรากฏออกสีน้ำตาลดำ ขนาดยาว 300 เมตร สูง 80 เมตร มีลักษณะคล้ายช้างตัวใหญ่นอนหมอบอยู่ ห่างจากออบหลวงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 400 เมตร[2] บนยอดดอยเป็นจุดชมวิว สามารถมองเห็นน้ำตกแม่บัวคำ ออบหลวง และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 ด้านตะวันตกของดอยผาช้างมีเพิงผาคล้ายถ้ำ เรียกว่า "ถ้ำผาช้าง" คาดว่าเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ พบภาพเขียนรูปสัตว์และคนหลายภาพ เขียนด้วยสีขาวและสีแดงอมดำเข้ม กรมศิลปากรยืนยันว่าเป็นครั้งแรกที่พบภาพเขียนโบราณในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ซึ่งพบเมื่อปี พ.ศ. 2527 โดยนายสายันต์ ไพรชาญจิตร และนายประทีป เพ็งตะโก นักโบราณคดีของกองโบราณคดี สันนิษฐานว่าภาพเขียนมีอายุราว 7,500–8,500 ปี

แหล่งโบราณคดีของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ออบหลวง ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

เป็นเส้นทางเดินเท้าศึกษาธรรมชาติระยะทาง 1,200 เมตร[2] ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ จุดเริ่มต้นจากออบหลวง จากการสำรวจโดยกองโบราณคดี กรมศิลปากร ร่วมมือกับทีมวิจัยจากประเทศฝรั่งเศศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ได้ขุดค้นพบโบราณวัตถุและหลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์จำนวนมาก เช่น เครื่องมือหินกระเทาะทำจากหินกรวดท้องน้ำ แกนและสะเก็ดหิน ขวานหินขัด ชิ้นส่วนเครื่องประดับ ภาชนะสัมฤทธิ์ ภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ ทั้งยังพบโครงกระดูกมนุษย์ในยุคสัมฤทธิ์ มีอายุระหว่าง 2,500–3,500 ปีก่อนคริสตกาล

ใกล้เคียง

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อุทยานแห่งชาติในประเทศไทย อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี อุทยานราชภักดิ์ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร