กษัตริย์แห่งเยอรมนี ของ อ็อทโทที่_1_มหาราช

ยุโรปกลางในช่วงปี ค.ศ. 919–1125 ราชอาณาจักรเยอรมนีประกอบด้วยดัชชีซัคเซิน (เหลือง), ดัชชีฟรังเคิน (ฟ้า), ดัชชีบาวาเรีย (เขียว), ดัชชีชวาเบิน (ส้ม), ดัชชีลอแรน (ชมพูที่เหลือ)

กษัตริย์หนุ่มต้องการที่จะขึ้นมามีอำนาจเหนือเหล่าดยุกซึ่งพระบิดาของพระองค์ไม่เคยทำได้ นโยบายดังกล่าวก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาในทันที เอเบอร์ฮาร์ดแห่งฟรังเคิน, เอเบอร์ฮาร์ดแห่งบาวาเรีย และกลุ่มชาวซัคเซินผู้ไม่พอใจที่มีแธงค์มาร์ พระเชษฐาต่างมารดาของพระเจ้าอ็อทโทเป็นผู้นำเริ่มกระด้างกระเดื่องในปี ค.ศ. 937 แต่ถูกพระเจ้าอ็อทโทกำราบเรียบอย่างรวดเร็ว แธงค์มาร์ถูกสังหาร เอเบอร์ฮาร์ดแห่งบาวาเรียถูกปลดจากตำแหน่ง ส่วนเอเบอร์ฮาร์ดแห่งฟรังเคินยอมสวามิภักดิ์ต่อองค์กษัตริย์

แต่การสวามิภักดิ์ของเอเบอร์ฮาร์ดเป็นเพียงการแสดงตบตา ในปี ค.ศ. 939 เขาได้ร่วมกับกิเซลแบร์ตแห่งโลทริงเงินและไฮน์ริช พระอนุชาของพระเจ้าอ็อทโทก่อกบฎต่อพระเจ้าอ็อทโทโดยมีพระเจ้าหลุยส์ที่ 4 แห่งฝรั่งเศสให้การสนับสนุน ครั้งนี้เอเบอร์ฮาร์ดถูกสังหารในสมรภูมิ ส่วนกิเซลแบร์ตจมน้ำเสียชีวิตขณะกำลังหนี ไฮน์ริชยอมสวามิภักดิ์ต่อกษัตริย์และพระเจ้าอ็อทโทเองก็ให้อภัย ไฮน์ริชที่ยังคงคิดว่าตนเองคือคนที่พระบิดาอยากให้ขึ้นเป็นกษัตริย์ได้สมคบคิดวางแผนปลงพระชนม์พระเจ้าอ็อทโทในปี ค.ศ. 941 แผนการถูกเปิดโปงและทุกคนที่ร่วมกันสมคบคิดถูกลงโทษยกเว้นไฮน์ริชที่ได้รับการให้อภัยอีกครั้ง ความเมตตาของพระเจ้าอ็อทโททำให้ไฮน์ริชภักดีต่อพระเชษฐานับตั้งแต่นั้นมาและในปี ค.ศ. 947 พระองค์ได้รับพระราชทานตำแหน่งดยุกแห่งบาวาเรีย ส่วนดยุกเยอรมันตำแหน่งอื่นๆ ตกเป็นของเหล่าพระญาติของพระเจ้าอ็อทโท

ในช่วงที่การแก่งแย่งชิงดีภายในดำเนินอยู่นั้น พระเจ้าอ็อทโทได้เสริมความแข็งแกร่งในการป้องกันและได้ขยายขอบเขตอาณาจักรของพระองค์ ทรงปราบชาวสลาฟทางฝั่งตะวันออกและได้พื้นที่ส่วนหนึ่งของเดนมาร์กมาอยู่ใต้การปกครอง ทรงตั้งตำแหน่งบิชอปในดินแดนดังกล่าวเพื่อผนึกความเป็นเจ้าประเทศราชของเยอรมันในดินแดนนั้น โบฮีเมียสร้างปัญหาให้แก่พระเจ้าอ็อทโท แต่พระองค์ก็บีบเจ้าชายโบลสวัฟที่ 1 ให้ยอมจำนนได้ในปี ค.ศ. 950 และบังคับให้จ่ายบรรณาการให้แก่พระองค์ เมื่อฐานในบ้านเกิดแข็งแกร่ง พระเจ้าอ็อทโทไม่เพียงกำจัดการอ้างสิทธิ์ในโลทริงเงินของฝรั่งเศสได้ แต่พระองค์ยังเข้าไปเป็นตัวลางไกล่เกลี่ยปัญหาภายในของฝรั่งเศสด้วย

รูปปั้นของพระเจ้าอ็อทโทที่ 1 (ขวา) กับอาเดลาอีดในอาสนวิหารไมเซิน พระเจ้าอ็อทโทกับอาเดลาอีดอภิเสกสมรสกันหลังทรงผนวกอิตาลี

อีดิธสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 946 ปี ค.ศ. 951 พระเจ้าอ็อทโทบุกอิตาลีที่เบเรนการ์แห่งอิฟเรอา พวกขุนนางของอิตาลีได้ทำการยึดบัลลังก์และลักพาตัวอาเดลาอีด เจ้าหญิงอีตาลีจากบูร์กอญซึ่งเป็นพระราชินีม่ายของกษัตริย์คนก่อน เบเรนการ์พยายามบังคับให้พระนางสมรสกับบุตรชายของตนแต่พระนางหนีไปได้และได้ไปขอความช่วยเหลือจากกษัตริย์เยอรมัน พระเจ้าอ็อทโทข้ามเทือกเขาแอลป์มายึดตำแหน่งกษัตริย์ของชาวลอมบาร์ดและอภิเษกสมรสกับอาเดลาอีด พระองค์อนุญาตให้เบเรนการ์ปกครองอิตาลีต่อไปในฐานะในฐานะข้าราชบริวารของพระองค์ พระเจ้าอ็อทโทกับอาเดลาอีดมีพระโอรสธิดาด้วยกัน คือ

  • ไฮน์ริช (ประสูติ ค.ศ. 952[6]) สิ้นพระชนม์ในวัยเด็ก
  • บรูโน (ประสูติ ค.ศ. 954[7]) สิ้นพระชนม์ในวัยเด็ก
  • มาทิลดา (ประสูติ ค.ศ. 954) พระอธิการิณีแห่งเควดลินบวร์ค
  • ออทโทที่ 2 (ประสูติ ค.ศ. 955) จักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์

ในเวลาเดียวกันนั้นในเยอรมัน ลิวดอล์ฟ พระโอรสของพระเจ้าอ็อทโทกับอีดิธได้ร่วมกับบุคคสำคัญหลายคนของเยอรมันก่อปฏิวัติต่อกษัตริย์ ความสำเร็จลอยมาอยู่ตรงหน้าหนุ่มน้อย และพระเจ้าอ็อทโทได้ต้องถอนทัพกลับซัคเซิน แต่ในปี ค.ศ. 954 การรุกรานของชาวมัจยาร์เริ่มสร้างปัญหาให้กลุ่มกบฏที่ถูกกล่าวหาว่าสมคบคิดกับศัตรูของเยอรมัน การต่อสู้ยังคงดำเนินต่อไปจนกระทั่งลิวดอล์ฟยอมจำนนต่อพระบิดาในปี ค.ศ. 955 พระเจ้าอ็อทโทสามารถบดขยี้ชาวมัจยาร์ได้ที่สมรภูมิเลชเฟล์ด จากนั้นชาวมัจยาร์ก็ไม่เคยบุกเยอรมันอีกเลย พระเจ้าอ็อทโทยังคงประสบความสำเร็จทางทหารอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับชาวสลาฟ

ใกล้เคียง

อ็อทโท ฟ็อน ฮาพส์บวร์ค อ็อทโท ฟ็อน บิสมาร์ค อ็อทโทที่ 1 มหาราช อ็อทโทที่ 1 ดยุกแห่งเบราน์ชไวค์-ลือเนอบวร์ค อ็อทโท มึลเลอร์ อ็อทโท บรูนเฟ็ลส์ อ็อทโท โกรเทอโวล อ็อทโท กึนเชอ อ็อทโท ฮาน อ็อทโท สกอร์ทเซนี