เบื้องหลังการประพันธ์และการตีพิมพ์ ของ ฮอบบิท_(หนังสือ)

ประวัติ

คำว่า "ฮอบบิท" เป็นชื่อที่โทลคีนคิดขึ้นมาเฉยๆ เมื่อคราวหนึ่ง ระหว่างที่เขาสอนอยู่ที่วิทยาลัยเพมโบรค (ช่วงทศวรรษ 1920) ขณะกำลังตรวจข้อสอบของนักศึกษาอันเป็นงานที่แสนจะน่าเบื่อหน่าย โทลคีนก็เขียนข้อความลงบนกระดาษคำตอบอันว่างเปล่าของนักศึกษาคนหนึ่งว่า "In a hole in the ground there lived a hobbit." แต่ก็ไม่ได้นึกอะไรมากไปกว่านั้น หลายปีต่อมาเขาจึงค่อยเขียนแผนที่ของธรอร์ วางเค้าโครงแผนที่ภูมิศาสตร์ของโลกแห่งนั้น และเริ่มแต่งเรื่องต่อในช่วงต้นทศวรรษ 1930 นิยายได้รับการตีพิมพ์ด้วยความบังเอิญเมื่อศิษย์และสหายผู้หนึ่งของโทลคีน คือ เอไลน์ กริฟฟิธ (Elaine Griffiths) ได้อ่านต้นฉบับในปี ค.ศ. 1936 เธอแนะนำให้ ซูซาน ดักแนล (Susan Dagnall) เพื่อนผู้หนึ่งที่ทำงานในสำนักพิมพ์ จอร์จ อัลเลนแอนด์ อันวิน ไปขอต้นฉบับจากโทลคีน ซูซานทำตามคำแนะนำนั้น และพบว่าตนประทับใจมาก ซูซานนำต้นฉบับไปให้ สแตนลี่ย์ อันวิน หุ้นส่วนสำนักพิมพ์พิจารณา อันวินให้ลูกชายของเขา เรย์เนอร์ อันวิน อายุ 10 ปี เป็นผู้อ่านทดสอบ แลกกับเงินค่าจ้าง 1 ชิลลิง ผลจากรายงานสั้นๆ ของเรย์เนอร์ทำให้หนังสือได้ตีพิมพ์ในเวลาต่อมา[2]

ปกคลุมชั้นนอกของ เดอะฮอบบิท ฉบับปกแข็ง ของสำนักพิมพ์อัลเลนแอนด์อันวิน ปี ค.ศ. 1937 นำมาจากภาพวาดประกอบภาพหนึ่งของโทลคีน

การตีพิมพ์

สำนักพิมพ์ จอร์จ อัลเลนแอนด์อันวิน ตีพิมพ์ เดอะฮอบบิท ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1937 พร้อมภาพวาดประกอบแบบขาวดำหลายภาพที่โทลคีนเป็นผู้วาดเอง การพิมพ์ครั้งแรกมีจำนวน 1500 เล่ม และขายหมดในเดือนธันวาคมปีเดียวกันนั้นพร้อมกับคำวิจารณ์ที่ตื่นเต้นและกระตือรือร้น[3] อัลเลนแอนด์อันวินตีพิมพ์ซ้ำครั้งที่สองพร้อมภาพประกอบสีเพิ่มเติมในปลายปี 1937 ขณะเดียวกันสำนักพิมพ์ฮูตันมิฟฟลิน แห่งบอสตัน และ นิวยอร์ก ติดต่อขอตีพิมพ์ฉบับอเมริกันในช่วงต้นปี 1938 โดยมีภาพประกอบเป็นภาพสีสี่ภาพ หลังจากนั้นก็มีการพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้งเมื่อโทลคีนเริ่มต้นเขียนนิยายเรื่องต่อของ เดอะฮอบบิท และพบว่าจำเป็นต้องแก้ไขรายละเอียดบางอย่างใน เดอะฮอบบิท เพื่อให้สอดคล้องกับนิยายเรื่องใหม่ของเขา โดยเฉพาะเรื่องของกอลลัม

ในฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก กอลลัมเป็นผู้เสนอให้ใช้แหวนของตนเป็นเดิมพันในการเล่นเกมทายปัญหากับบิลโบ แต่เมื่อ "แหวน" วงนั้นกลายเป็น "แหวนเอก" แหวนจึงจำเป็นต้องมีอิทธิพลต่อกอลลัมมากกว่านั้น ในเดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ จึงเล่าว่า การเล่นเกมทายปัญหาใน เดอะฮอบบิท เวอร์ชันแรกเป็นแค่เรื่องโกหกของบิลโบ[4] ส่วนเรื่องจริงคือเรื่องที่อยู่ใน เดอะฮอบบิท ฉบับปรับปรุงแก้ไข หรือฉบับเอดิชันที่สอง ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1951 ทั้งในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา

ต่อมาในปี ค.ศ. 1965 สำนักพิมพ์เอซบุ๊คส์ ได้ตีพิมพ์ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ฉบับปกอ่อน โดยไม่ได้ขออนุญาต ทำให้สำนักพิมพ์ฮูตันมิฟฟลินและบัลเลนไทน์ เร่งให้โทลคีนมอบลิขสิทธิ์การตีพิมพ์ให้แก่พวกเขาเพื่อจะได้ควบคุมการพิมพ์จำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกาได้[5] เดอะฮอบบิท จึงได้พิมพ์เป็นเอดิชันที่สามในปี ค.ศ. 1966 ซึ่งโทลคีนถือโอกาสปรับแก้คำบรรยายบางตอนให้สอดคล้องกับเนื้อหาใน เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ และแนวคิดในเรื่อง ซิลมาริลลิออน งานเขียนสุดรักของเขาที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์[6] เช่น คำเรียก เอลฟ์ ที่ยังปรากฏเป็น โนม (Gnome) ซึ่งโทลคีนใช้เรียกชาวโนลดอร์ ในงานเขียนชุดแรกๆ ของเขา เป็นต้น

เดอะฮอบบิท ปรับแก้เป็นเอดิชันที่สี่เมื่อปี ค.ศ. 1978 และเอดิชันที่ห้าเมื่อปี ค.ศ. 1995 อย่างไรก็ดี เดอะฮอบบิท ฉบับพิมพ์ในปัจจุบัน ก็ยังมีความแตกต่างกับ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ อยู่อีกหลายส่วน เช่น การเรียก กอบลิน ในเดอะฮอบบิท ซึ่งหมายถึง ออร์ค ใน เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเดิมทีโทลคีนแต่งเรื่อง เดอะฮอบบิท ด้วยตั้งใจให้เป็นนิทานเด็ก จึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับปกรณัมของเขาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น[2] และได้มีการปรับแก้เนื้อหาเดอะฮอบบิทให้สอดคล้องกับปกรณัมของเขามากขึ้นก็เมื่อเขาเริ่มเขียนภาคต่อของเดอะฮอบบิทนั่นเอง นอกจากนั้น ปกรณัมชุดมิดเดิลเอิร์ธของเขาเองก็มีการปรับปรุงแก้ไขอยู่ตลอดเวลาในช่วงชีวิตของเขา

แนวคิดในการประพันธ์

โทลคีนแต่งเรื่อง เดอะฮอบบิท ขึ้นโดยมีโครงเรื่องแบบการเดินทางผจญภัยเพื่อบรรลุจุดหมาย (Quest) โดยอาจใช้รูปแบบของ "The Icelandic Journals" ของวิลเลียม มอร์ริส นักประพันธ์ในดวงใจของโทลคีนเป็นต้นแบบก็ได้[7] ในเนื้อเรื่องจะมีบทเพลงง่ายๆ ประกอบ วิธีการเล่าเรื่องเป็นแบบนิทานเด็ก ซึ่งผู้เล่าเรื่องจะพูดกับผู้อ่านเป็นระยะๆ ตัวละครในเรื่องก็จะอยู่ในรูปแบบที่เด็กๆ สามารถรับทราบและทำความเข้าใจได้ง่าย รวมถึงลำดับการนำเสนอและการบรรยายถึงสถานที่ในเนื้อเรื่อง ซึ่งสามารถสื่อถึงความรู้สึก "ปลอดภัย" และ "อันตราย" ได้อย่างชัดเจน[8]

เมื่อแรกเริ่ม เดอะฮอบบิท มีความเกี่ยวข้องกับโครงร่างปกรณัมชุดมิดเดิลเอิร์ธของโทลคีนแต่เพียงหลวมๆ โดยโทลคีนตั้งใจให้การผจญภัยของบิลโบ คือการหลุดเข้าไปในดินแดนจินตนาการมิดเดิลเอิร์ธ โดยมีจุดเชื่อมต่อแรกที่ริเวนเดลล์ ฉากหลังในเรื่องนับแต่เทือกเขามิสตี้ ป่าเมิร์ควู้ด หรือเทือกเขาโลนลี่ จึงเป็นฉากหลังอันเดียวกันกับ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ และ ซิลมาริลลิออน ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่พบประวัติความเป็นมาของ ฮอบบิท ในโครงร่างปกรณัมชุดใหญ่ของโทลคีนมาก่อน จนเมื่อโทลคีนเริ่มเขียนนิยายเรื่องต่อจากเดอะฮอบบิท คือ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ความเกี่ยวพันระหว่างตัวละคร สิ่งของ และสถานที่ จึงค่อยๆ ถูกถักทอขึ้นจนเป็นโครงร่างอันแน่นแฟ้น เมื่อทิศทางของเรื่องเปลี่ยนไป โทลคีนจึงเกิดความต้องการจะเปลี่ยนแนวทางของเรื่องเดอะฮอบบิท ในฉบับปรับปรุงแก้ไข เขาตัดทอนคำพูดของผู้เล่าเรื่องออกไปหลายส่วน เพื่อให้รูปแบบของเรื่องมีความหนักแน่นมากขึ้น แต่ก็ยังคงมีหลงเหลืออยู่บ้าง[2]

สำหรับแรงบันดาลใจของโทลคีน นอกจากงานของวิลเลียม มอร์ริส แล้ว เขาได้นำชื่อตัวละครมาจากตำนานยุโรปเก่า ประกอบกับความรู้ด้านภาษาศาสตร์ของเขาเอง ตัวอย่างเช่น ชื่อของพ่อมดแกนดัล์ฟและเหล่าคนแคระ นำมาจากบทกวีนอร์สโบราณเรื่อง "โวลุสปา" (Völuspá) จาก Elder Edda (รวมบทกวีนอร์สโบราณ) [9] ส่วนภาพวาดและอักขระต่างๆ มีต้นกำเนิดจากตัวอักขระของแองโกล-แซกซอน เป็นต้น

การแปลเป็นภาษาอื่น

เดอะฮอบบิท ได้แปลเป็นภาษาต่างๆ มากกว่า 40 ภาษา บางภาษามีการแปลหลายสำนวนและแปลจากต้นฉบับต่างเอดิชัน[6] (จากการแก้ไขเรื่องของโทลคีนเอง) สำหรับฉบับภาษาไทยแปลโดยสุดจิต ภิญโญยิ่ง พิมพ์ครั้งแรกเมื่อราว พ.ศ. 2519-20 (หนังสือไม่ระบุปีที่พิมพ์) โดยห้างหุ้นส่วนจำกัด ธนิต ธรรมสุคติ เป็นผู้จัดพิมพ์ พิมพ์ที่โรงพิมพ์โพสต์พับบลิชชิ่ง จำกัด ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 สำนักพิมพ์แพรวเยาวชน นำมาตีพิมพ์อีกครั้งหนึ่งและมีการพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง

แหล่งที่มา

WikiPedia: ฮอบบิท_(หนังสือ) http://www.elanorahts-p.schools.nsw.edu.au/zipweb/... http://www.hobbithotel.be/ http://www.abebooks.com/docs/Community/Featured/ho... http://huntsville.about.com/od/theatreanddance/a/2... http://www.audiofilemagazine.com/RobInglis.html http://search.barnesandnoble.com/booksearch/isbnIn... http://search.barnesandnoble.com/booksearch/isbnin... http://www.chesternovello.com/Default.aspx?TabId=2... http://www.figures.com/databases/action.cgi?setup_... http://gamecube.gamezone.com/news/02_19_02_01_12PM...