สารเชิงซ้อนระหว่างโลหะหนัก-ฮิวมัส ของ ฮิวมัส

ฮิวมัสที่เป็นทั้งสารฮิวมิกและไม่ได้เป็นสารฮิวมิก จะมีหมู่ฟังก์ชันนัลที่ว่องไวต่อปฏิกิริยา ซึ่งอยู่อย่างไม่อิสระเมื่ออยู่ในดินที่เป็นดินแร่ธาตุ (mineral soil) โดยจะทำปฏิกิริยาในรูปของสารเชิงซ้อนกับแร่ธาตุและสารประกอบต่างๆในดิน ตัวอย่างเช่น การทำปฏิกิริยาคีเลตกับโลหะแคทไอออน การดูดซับของฮิวมัสบนผิวอนุภาคของแร่ดินเหนียวและสารกำจัดศัตรูพืชต่างๆปฏิกิริยาเชิงซ้อนและการเกิดคีเลตระหว่างฮิวมัสกับโลหะต่างๆในดิน มีบทบาทและมีอิทธิพลต่อการสลายตัวผุพังของดิน รวมทั้งมีอิทธิพลต่อสมบัติทางเคมีและความอุดมสมบูรณ์ ดังนี้

  1. ความเป็นประโยชน์ของฟอสฟอรัส (P) จะสูงขี้น เนื่องจากการทำปฏิกิริยาเชิงซ้อนระหว่างฮิวมัสกับโลหะแคทไอออน Al3+ และ Fe3+ ในดินที่เป็นกรด และกับ Ca2+ และ Mg2+ ในดินที่เป็นด่าง ทำให้โอกาสที่แคทไอออนในดินจะทำปฏิกิริยาตกตะกอนกับ P สารละลายได้น้อย
  2. เกิดการปลดปล่อยธาตุอาหารที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างซิลิเกต ในระหว่างการสลายตัวผุพังของแร่ต้นกำเนิด
  3. เป็นการเพิ่มประโยชน์ของจุลธาตุ (trace elements) ในดินชั้นบน เนื่องจากการดูดใช้จุลธาตุจากดินชั้นล่างโดยรากพืช เมื่อรากพืชเกิดการย่อยสลายจุลธาตุแล้วก็จะส่งผลประโยชน์ต่อพืชได้ดีขึ้นจากปฏิกิริยาคีเลต
  4. โลหะจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างฮิวมัสและอนุภาคดินเหนียว จากการเกิดสารเชิงซ้อนระหว่างฮิวมัสกับดิน ซึ่งมีอิทธิพลต่อการเกิดและเสถียรภาพของเม็ดดิน
  5. ทำหน้าที่เป็นตัวควบคุมหรือต่อต้านความเข้มข้นที่สูงขึ้นหรือสูงเกินไปของโลหะแคทไอออนบางชนิด เช่น Al3+, Cd2+ และ Pb2+ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อพืชได้
  6. มีบทบาทต่อเคลื่อนย้ายของโลหะบางชนิด เช่น Al3+ และ Fe3+ ลงสู่ชั้นล่างของดิน[4]