ระบบหลักๆและลักษณะของเกมผจญภัย ของ เกมผจญภัย

เกมผจญภัยเกือบทุกเกมในโลก มักจะมีพื้นฐานการเล่นคล้ายๆกัน โดยส่วนมากผู้เล่นจะได้รับเป้าหมายในการทำงาน 1 อย่าง ในระหว่างดำเนินเรื่องผู้เล่นจะต้องพบกับอุปสรรคและตัวละครมากมาย ผู้เล่นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับตัวละครตัวอื่น ทำงานย่อยๆที่ได้รับมอบหมายแล้วไขปริศนาเพื่อเดินทางต่อไป โดยพื้นฐานแล้วเกมผจญภัยจะเป็นลักษณะที่เรียกว่า "Fetch Quest" ซึ่งก็คือผู้เล่นจะต้องนำวัตถุชิ้นหนึ่ง ไปให้ตัวละครอีกตัวหนึ่งหรือกระทำต่อวัตถุอีกชิ้นหนึ่ง จากนั้นผู้เล่นอาจจะได้วัตถุใหม่มาแล้วผู้เล่นก็ต้องนำวัตถุนั้นไปให้บุคคลหรือส่งของอื่นเพื่อให้ได้รับสิ่งของใหม่มา ในบางครั้งรูปแบบการเล่นนี้บางครั้งจะเรียกเป็นภาษาพูดว่า "นำ X ไปให้ Y เพื่อรับ Z" นอกจากนั้นแล้วเกมผผจญภัยจะมีลักษณะที่เด่นๆในตัวเกมดังนี้

การเคลื่อนที่

เกมผจญภัยจะต่างจากเกมแอ็กชันหรือเกมสวมบทบาท ตรงที่ว่าผู้เล่นจะมีขอบเขตการเคลื่อนไหวที่จำกัด ถึงแม้สภาพการจะดูเหมือนผู้เล่นจะเคลื่อนที่ไปตรงนั้นได้ก็ตาม ตรงข้ามกับเกมแบบFirst Person Shooter ซึ่งผู้เล่นสามารถเดินไปแทบทุกที่ของพื้นที่ได้ (ถึงแม้จะทำให้ตกเหวตายก็ตาม)

การมีมนุษย์สัมพันธ์

ในเกมผจญภัยเกือบทุกเกม ถ้าเกมนั้นมีตัวละครที่ไม่ใช่ศัตรู ผู้เล่นจะสามารถเข้าไปคุยกับบุคคลนั้นได้ ซึ่งบางเกมก็จะให้คุยไม่กี่ประโยค บางเกมจะให้เลือกคำตอบหรือคำพูดที่ต้องการพูดได้ ซึ่งการพูดคุยนั้นนอกจากทำให้เนื้อเรื่องดำเนินต่อไปแล้ว ตัวละครบางตัวจะให้สิ่งของที่จำเป็นสำหรับการไขปริศนาต่อไปอีกด้วย

การรวบรวมสิ่งของ

สิ่งที่ผู้เล่นเกมผจญภัยทุกคนพึงจะมีนั้นคือนิสัยเก็บทุกสิ่งทุกอย่างที่สามารถเก็บได้ ในเกมผจญภัยการเก็บสิ่งของนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะปริศนาบางชิ้นหรือบุคคลบางคนในเกมจะมีปฏิสัมพัธ์กับผู้เล่นก็ต่อเมื่อมีวัตถุที่กำหนด ดังนั้นการพยายามรวบรวมวัตถุให้มากที่สุดจะเป็นนิสัยของนักเล่นเกมผจญภัยทุกคน สิ่งที่ทำให้การรวบรวมสิ่งของในเกมผจญภัยต่างจากเกมอื่นๆนั้นตรงที่ สิ่งของทุกชิ้นในเกมมักจะเป็นสิ่งของสำคัญ ทิ้งไม่ได้ และมีเพียงชิ้นเดียว (ต่างจากไอเท็มในเกมสวมบทบาทหรืออาวุธในเกมแอ็กชัน)

การไขปริศนา

เกมผจญภัยนั้นนอกเหนือจากการหากุญแจและคุยกับตัวละครอื่นๆแล้ว ปริศนาในเกมผจญภัยจะแตกต่างกันไปในแต่ละเกม แต่โดยส่วนมากสามารถจำแนกออกย่อยๆได้เป็น 3 ประเภท

  1. ปริศนาแบบตรรกะ
    คือปริศนาที่ต้องใช้สมองและการคำนวณในการไขปริศนาออกมา เช่น การคำนวณวิถีโค้งปืนใหญ่, การคำนวณหาระดับอ๊อกซิเจน หรือ การไขปริศนาตู้เซฟ ซึ่งปริศนาประเภทนี้มักจะไม่ต้องใช้สิ่งของมาแก้ปริศนา (ยกเว้นต้องเอาสิ่งของมาใช้เพื่อให้เกิดปริศนา) และมักใช้สภาพรอบด้านเป็นตัวไขปริศนา เกมที่มักมีปริศนาประเภทนี้มักจะเป็นเกม Puzzle Adventure ซะส่วนใหญ่ เช่น Myst
  2. ปริศนาแบบสามัญสำนึก
    คือปริศนาที่ต้องใช้ความคุ้นเคยกับสถานการณ์และวัตถุแก้ปริศนาออกมา โดยส่วนมากมักเป็นปริศนาที่สามารถเอาไปใช้ในชีวิตจริงได้ เช่น การเอาบัตรแข็งๆสอดข้างประตูเพื่อสะเดาะกลอน, พ่นควันใส่ในห้องเพื่อให้มองเห็นสัญญาณเลเซอร์ หรือ เอาถังดับเพลิงคาร์บอนไดอ๊อกไซด์มาฉีดใส่แผงวงจรทำให้เกิดการลัดวงจร เกมประเภทนี้โดยส่วนมากมักจะเป็นเกมที่ตัวละครเป็นคนธรรมดา เช่น Nancy Drew, The Moment of Silence, Fahrenheit
  3. ปริศนาเฉพาะตัว
    คือปริศนาที่เกิดขึ้นได้เฉพาะในเกมเท่านั้น ไม่สามารถเกิดได้ในโลกจริง ปริศนาประเภทนี้ผู้เล่นต้องใช้จินตนาการที่สูงมาก จนหลายๆครั้งผู้เล่นอาจจะนึกไม่ถึงก็ได้ เช่น ปริศนา "สวม" สุนัข, ปริศนากดไดรฟ์ซีดีรอม หรือ การเอาตุ้มหู, สร้อย ไปให้หุ่นหัวเรือ ปริศนาประเภทนี้โดยส่วนมากมักพบในเกมที่มีเนื้อหาอยู่บนโลกจินตนาการ เช่น Simon the Sorcerer, Monkey Island, The Legend of Kyrandia

ความตาย

เกมผจญภัยบางเกมจะให้ผู้เล่นสามารถตายได้ แต่ต่างจากเกมอื่นๆ เกมผจญภัยจะให้ผู้เล่นตายได้ในเฉพาะจุดที่กำหนดเท่านั้น ตราบใดที่ผู้เล่นยังไม่ถึงจุดที่จะตายผู้เล่นจะไม่สามารถตายได้ แต่โดยส่วนมาเกมผจญภัย มักจะไม่ให้ผู้เล่นตายเพื่อจะได้มีเวลาไขปริศนา

เนื้อห่าน

เกมผจญภัยส่วนมากมักจะมีเนื้อหาค่อนข้างเบา, มีความรุนแรงต่ำและเน้นไปที่มุขและคำพูดตลกขบขัน ทำให้เกมผจญภัยส่วนมากมักจะเล่นได้ทุกวัย แต่ถึงกระนั้นเกมผจญภัยบางเกมก็สร้างเนื้อหาให้โหดร้าย หรือกระทั่งใช้คำหยาบคายเต็มไปหมด รวมทั้งบางเกมยังมีเรื่องของศพ, เลือดและภาพคนเปลือยกาย ซึ่งรุนแรงพอๆกับเกมแอ็กชันเลยทีเดียว

ระบบอื่นๆ

นอกเหนือจากระบบหลักๆในข้างต้น เกมผจญภัยบางเกมได้ใส่ระบบอื่นไว้ เช่น ระบบกดปุ่มตามจังหวะ (Fahrenheit), ระบบต่อสู้ (Dreamfall: the Longest Journey), ระบบทิ้งสิ่งของ (The Legend of Kyrandia), ระบบเวลาจริง (The Last Express) หรือ ระบบค่าประสบการณ์ (Quest for Glory)