ประวัติ ของ เกลฟ์และกิเบลลิเน

ที่มา

เกลฟ์ (หรือสะกด Guelf; อิตาลี: Guelfo พหูพจน์ Guelfi) เป็นการสะกดชื่อตระกูลเวลฟในภาษาอิตาลี ซึ่งเป็นตระกูลของดยุคแห่งบาวาเรีย กล่าวกันว่าตระกูลเวลฟใช้ชื่อของตระกูลในการเร้าใจในระหว่างการต่อสู้ในยุทธการไวน์สแบร์กในปี ค.ศ. 1140 ในขณะที่ตระกูลคู่อริโฮเฮ็นสเตาเฟ็นแห่งชวาเบีย (นำโดยคอนราดที่ 3 แห่งเยอรมนี) ใช้ไวบ์ลิงเง็นซึ่งเป็นชื่อปราสาทในการปลุกระดมขวัญ ไวบ์ลิงเง็นในสมัยนั้นออกเสียงและสะกดใกล้เคียงกับ "Wibellingen" ที่ต่อมาเพี้ยนเป็น "Ghibellino" หรือ "กิเบลลิโน" ในภาษาอิตาลี ชื่อตระกูลทั้งสองคงจะนำเข้ามาใช้ในอิตาลีระหว่างรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิฟรีดริช บาร์บารอซซา เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิฟรีดริชไปทำการรณรงค์ขยายอำนาจในอิตาลี ผู้สนับสนุนของพระองค์ก็รู้จักกันว่า "กิเบลลิเน" (อิตาลี: Ghibellino พหูพจน์ Ghibellini) ส่วนกลุ่มสหพันธ์ลอมบาร์ดและพันธมิตรที่ต่อสู้ป้องกันสิทธิและเสรีภาพของประชาคมของยุคกลางในการต่อต้านการขยายอำนาจเข้ามาของพระจักรพรรดิรู้จักกันว่า "เกลฟ์" สหพันธ์ลอมบาร์ดได้รับชัยชนะต่อสมเด็จพระจักรพรรดิฟรีดริชในยุทธการเลญาโนในปี ค.ศ. 1176 สมเด็จพระจักรพรรดิฟรีดริชจึงทรงยอมรับอำนาจการปกครองตนเองของนครต่างๆ ของสหพันธ์ลอมบาร์ดภายใต้อำนาจของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์อย่างหลวมๆ

ความแตกแยกระหว่างฝ่าย "เกลฟ์" และ "กิเบลลิเน" กลายมาเห็นได้อย่างชัดเจนขึ้นในรัสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิฟรีดริช บาร์บารอซซา กิเบลลิเนสนับสนุนอำนาจของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ขณะที่เกลฟ์หนุนหลังพระสันตะปาปา โดยทั่วไปแล้วฝ่ายเกลฟ์มักจะมาจากตระกูลพ่อค้าผู้มีฐานะดี ขณะที่ความมั่งคั่งของฝ่ายกิเบลลิเนมาจากรายได้ที่มาจากการเกษตรกรรมของทรัพย์สินที่ดินที่มี นครของของฝ่ายเกลฟ์มักจะอยู่ในบริเวณที่ตกอยู่ในอันตรายจากการพยายามขยายอำนาจของสมเด็จพระจักรพรรดิมากกว่าที่จะมาจากพระสันตะปาปา และนครของฝ่ายกิเบลลิเนก็จะอยู่ในบริเวณของการขยายอำนาจของอาณาจักรพระสันตะปาปา ขนาดของนครของฝ่ายกิเบลลิเนมักจะเล็กกว่าถ้านครของฝ่ายเกลฟ์ที่อยู่ใกล้เคียงกันมีขนาดใหญ่กว่า ขณะที่เกลฟ์มีอำนาจอยู่ที่ฟลอเรนซ์ กิเบลลิเนก็มีอำนาจอยู่ที่เซียนาที่มาปะทะกันในยุทธการมอนตาแพร์ตีในปี ค.ศ. 1260 ปิซาดำรงความเป็นกิเบลลิเนอย่างแข็งขันในการเป็นปฏิปักษ์ต่อเจนัว และ ฟลอเรนซ์ของเกลฟ์ ฉะนั้นการเข้าสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจึงมักจะมีสาเหตุมาจากผลประโยชน์ที่จะได้รับทางการเมืองในระดับท้องถิ่น ภายในนครเองก็มีการแบ่งเป็นฝ่ายย่อยออกไปอีกด้วยระบบสมาคมพ่อค้า หรือ โดยเขตต่างๆ ในตัวนคร (Rione) หรือนครอาจจะเปลี่ยนข้างได้หลังจากการเกิดความขัดแย้งภายใน นอกจากนั้นนครที่ตามปกติแล้วเป็นฝ่ายกิเบลลิเนกลับมาสนับสนุนพระสันตะปาปา ขณะที่นครฝ่ายเกลฟ์เองอาจจะตกอยู่ภายใต้ภาวะการประกาศโทษ (Interdict) ของพระสันตะปาปา

สิ่งที่ควรสังเกตคือคำว่า "เกลฟ์" และ "กิเบลลิเน" มิได้ใช้กันมาจนกระทั่งราวปี ค.ศ. 1250 และเพียงแต่ในทัสเคนีเท่านั้น และคำว่า "ฝ่ายสถาบันศาสนา" (church party) และ "ฝ่ายพระจักรพรรดิ" (imperial party) จะเป็นคำที่นิยมใช้กันในบริเวณอื่น

คริสต์ศตวรรษที่ 13 – คริสต์ศตวรรษที่ 14

เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 ฟิลิปแห่งชวาเบียแห่งตระกูลโฮเฮ็นสเตาเฟ็น และ ออตโตแห่งบรันสวิคแห่งตระกูลเวลฟ กลายมาเป็นคู่แข่งในราชบัลลังก์ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ฟิลิปได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายกิเบลลิเนในฐานะที่มีความเกี่ยวดองกับสมเด็จพระจักรพรรดิฟรีดริชที่ 1 ส่วนออตโตได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายเกลฟ์ ทายาทของฟิลิปสมเด็จพระจักรพรรดิฟรีดริชที่ 2 ทรงเป็นศัตรูของทั้งออตโตและสถาบันพระสันตะปาปา และระหว่างรัชสมัยของพระองค์เกลฟ์ก็กลายเป็นฝ่ายที่สนับสนุนพระสันตะปาปาเท่านั้น ขณะที่กิเบลลิเนสนับสนุนจักรวรรดิโดยเฉพาะตัวสมเด็จพระจักรพรรดิฟรีดริชที่ 2 เอง นอกจากนั้นแล้วพระองค์ก็ยังทรงสร้างความแตกแยกระหว่างอาณาจักรครูเสดในซีเรียระหว่างสงครามครูเสดครั้งที่ 6

หลังจากที่สมเด็จพระจักรพรรดิฟรีดริชที่ 2 เสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1250 กิเบลลิเนก็ได้รับการสนับสนุนจากคอนราดที่ 4 แห่งเยอรมนี และ ต่อมามันเฟรดแห่งซิซิลี ขณะที่เกลฟ์ได้รับการสนับสนุนจากชาร์ลส์แห่งอองชู ในปี ค.ศ. 1260 กิเบลลิเนแห่งเซียนาก็ได้รับชนะอย่างเด็ดขาดต่อฝ่ายเกลฟ์แห่งฟลอเรนซ์ในยุทธการมอนตาแพร์ตี หลังจากที่ราชวงศ์โฮเฮ็นสเตาเฟ็นสูญเสียจักรวรรดิเมื่อชาร์ลส์แห่งอองชูสังหารคอนราดินในปี ค.ศ. 1268 คำว่า "เกลฟ์" และ "กิเบลลิเน" ก็กลายมาเป็นคำที่ใช้กับตระกูลใดตระกูลหนึ่ง หรือ นครใดนครหนึ่ง แทนที่จะเป็นคำที่ใช้สำหรับความขัดแย้งระหว่างสถาบันพระสันตะปาปาและจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ในช่วงนั้นที่มั่นสำคัญของกิเบลลิเนในอิตาลีอยู่ที่นครฟอร์ลี, in โรมานยา การภักดีของฟอร์ลีกับฝ่ายกิเบลลิเนส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเพื่อดำรงความเป็นอิสระ แทนที่จะเพราะความภักดีต่ออำนาจ เพราะฟอร์ลีมีความเกี่ยวพันกับอาณาจักรพระสันตะปาปาอยู่บ้าง พระสันตะปาปาพยายามหลายครั้งในช่วงหลายร้อยปีที่จะยึดฟอร์ลีคืน บางครั้งก็โดยการใช้อำนาจ และบางครั้งก็โดยการหว่านล้อม

การแบ่งแยกระหว่าง "เกลฟ์" และ "กิเบลลิเน" มีความสำคัญโดยเฉพาะในฟลอเรนซ์ แม้ว่าทั้งสองฝ่ายมักจะขัดแย้งกันเองและยึดอำนาจของนครอื่นๆ ทางตอนเหนือของอิตาลีด้วย อันที่จริงแล้วทั้งสองฝ่ายยุติการต่อต้านทั้งต่ออิทธิพลของเยอรมนี และ อำนาจของสถาบันพระสันตะปาปา ในฟลอเรนซ์หรือที่อื่นเกลฟ์มักจะเป็นพ่อค้าหรือชาวเมืองผู้มีฐานะดี ขณะที่กิเบลลิเนมักจะเป็นขุนนาง

ทั้งฝ่าย "เกลฟ์" และ "กิเบลลิเน" ต่างก็สร้างธรรมเนียมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองขึ้นเช่นการสวมขนนกไปทางข้างใดข้างหนึ่งของหมวก หรือตัดผลไม้ด้วยตามธรรมเนียมของกลุ่มของตนเป็นต้น

หลังจากที่ฝ่ายเกลฟ์ได้รับชัยชนะต่อฝ่ายกิเบลลิเนในปี ค.ศ. 1289 ในยุทธการคัมพาลดิโน และคาโพรนาฝ่ายเกลฟ์ก็เริ่มบาดหมางกันเอง เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1300 ฟลอเรนซ์ก็แบ่งออกเป็นฝ่ายเกลฟ์ดำและฝ่ายเกลฟ์ขาว ฝ่ายดำดำเนินการสนับสนุนสถาบันพระสันตะปาปา ขณะที่ฝ่ายขาวเป็นปฏิปักษ์ต่ออิทธิพลของพระสันตะปาปาโดยเฉพาะอิทธิพลของสมเด็จพระสันตะปาปาโบนิเฟสที่ 8 ดานเตผู้เป็นหนึ่งในบรรดาผู้สนับสนุนฝ่ายเกลฟ์ขาว ถูกเนรเทศออกจากฟลอเรนซ์ในปี ค.ศ. 1302 เมื่อฝ่ายเกลฟ์ดำมีอำนาจขึ้นในฟลอเรนซ์ ผู้ที่ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถือว่าไม่มีฝ่ายใดที่ควรค่าแก่การสนับสนุน แต่ก็ยังได้รับความกระทบกระเทือนจากการเปลี่ยนแปลงของอำนาจในเมืองที่ตนพำนักอาศัยอยู่ สมเด็จพระจักรพรรดิไฮนริคที่ 7 ทรงเดียดฉันท์ผู้สนับสนุนของทั้งสองฝ่ายเมื่อเสด็จประพาสอิตาลีในปี ค.ศ. 1310 และในปี ค.ศ. 1334 สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 12 ถึงกับทรงขู่ว่าจะทรงประกาศบรรพาชนียกรรมผู้ใดที่ใช้ชื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

บั้นปลาย

ในมิลานฝ่ายเกลฟ์และกิเบลลิเนร่วมมือกันสร้างสาธารณรัฐอัมโบรเซียในปี ค.ศ. 1447 แต่ในช่วงสองสามปีต่อมาทั้งสองฝ่ายก็มีเรื่องบาดหมางกันอย่างรุนแรงอีก หลังจากการครองอำนาจของกิเบลลิเนในระยะแรก ฝ่ายเกลฟ์ก็ยึดอำนาจในการเลือกตั้งกัปตันและผู้พิทักษ์เสรีภาพของมิลาน รัฐบาลเกลฟ์ที่เพิ่มความเป็นอัตตาธิปไตยยิ่งขึ้นทุกวัน จนกระทั่งฝ่ายกิเบลลิเนจอร์โจ ลัมพูญิโน และทีโอโดโร บอซซิก่อความไม่สงบขึ้น แต่ไม่สำเร็จและฝ่ายกิเบลลิเนหลายคนถูกสังหารหมู่ ขณะที่ผู้อื่นหลบหนีไปได้ รวมทั้งวิทาลิอาโน โบร์โรเมโอกิเบลลิเนคนสำคัญ ผู้ได้รับการพิทักษ์ในอาณาจักรเคานท์อาโรนาของตนเอง ทัศนคติของสาธารณชนต่อฝ่ายเกลฟ์เริ่มลดลง และในการเลือกตั้งครั้งต่อมากิเบลลิเนก็ได้รับชัยชนะอยู่ชั่วระยะหนึ่ง แต่ถูกปลดหลังจากไปจำขังผู้นำเกลฟ์จิโอวานนี อัพพิอานี และ จิโอวานนี โอซโซนา[1] หลังจาก ฟรานเชสโคที่ 1 สฟอร์ซายึดมิลานได้ในปี ค.ศ. 1450 กิเบลลิเนหลายคนที่ได้หลบหนีเช่นฟิลิปโป โบร์โรเมโอ และลุยซิโน บอซซิก็ได้รับตำแหน่งสำคัญในมิลานคืน[2]

ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ฝ่ายเกลฟ์สนับสนุนพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 8 แห่งฝรั่งเศสระหว่างการรุกรานอิตาลีของพระองค์ในตอนต้นของสงครามอิตาลี ขณะที่ฝ่ายกิเบลลิเนสนับสนุนสมเด็จพระจักรพรรดิแม็กซิมิเลียนที่ 1 เมืองและตระกูลต่างก็เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มาจนกระทั่งรัชสมัยของ สมเด็จพระจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 เมื่อพระองค์ทรงวางรากฐานของอำนาจของจักวรรดิอย่างมั่นคงในอิตาลีในปี ค.ศ. 1529

ใกล้เคียง

เกลฟ์และกิเบลลิเน เกลฟ์ (แก้ความกำกวม) เอลฟ์ เกลย์ เอลฟ์ (มิดเดิลเอิร์ธ) เอลฟ์ตัวนี้น่ารำคาญจริง ๆ เอลฟ์จิฟูแห่งนอร์แธมตัน เอลฟ์เฟลด (พระมเหสีของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้อาวุโส) เอลฟ์จิฟู มเหสีของเอ็ดวี เอลฟ์ประจำบ้าน