ประวัติ ของ เกาะคริสต์มาส

ชาวยุโรปมาเยือนครั้งแรก

ริชาร์ด โรว์ (Richard Rowe) จากเรือ ทอมัส เป็นชาวยุโรปคนแรกที่พบเกาะแห่งนี้เมื่อ ค.ศ. 1615[4] ต่อมาเรือเอกวิลเลียม ไมนอส์ (William Mynors) จากเรือ รอยัลแมรี ของบริษัทอินเดียตะวันออกของบริเตนตั้งชื่อเกาะขณะแล่นผ่านเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1643 ตั้งตามวันคริสตสมภพ[5] เกาะคริสต์มาสปรากฏอยู่ในแผนที่การเดินเรือของอังกฤษและดัชต์ตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา ปีเตอร์ โคส (Pieter Goos) นักทำแผนที่ชาวดัตช์ได้ทำแผนที่ฉบับหนึ่งเมื่อ ค.ศ. 1666 โดยระบุชื่อเกาะแห่งนี้ว่า "โมนี" (Mony, Moni)[6] ซึ่งไม่ทราบที่มาหรือความหมายของชื่อ[7]

วิลเลียม แดมเพียร์ (William Dampier) นักเดินเรือชาวอังกฤษจากเรือ ซิกเน็ต (Cygnet) จัดทำบันทึกการเดินเรือสำรวจรอบ ๆ เกาะครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1688[6] เขาบันทึกว่าไม่มีมนุษย์ตั้งถิ่นฐาน[8][6] เขาจัดทำบัญชีสิ่งที่พบบนเกาะในหนังสือชื่อ วอยอิจส์ (Voyages)[9] แดมเพียร์พยายามเดินเรือจากนิวฮอลแลนด์ไปยังหมู่เกาะโคโคสด้วยความยากลำบาก ก่อนที่เรือของเขาจะถูกพัดออกนอกเส้นทางแล้วไปถึงเกาะคริสต์มาสในอีก 28 วันต่อมา เขาเทียบฝั่งที่เดลส์ ซึ่งเป็นชายฝั่งตะวันตกของเกาะ เขาและลูกเรืออีกสองคนจึงกลายเป็นชาวยุโรปกลุ่มแรกที่เหยียบย่างบนเกาะคริสต์มาส[10]

เรือเอกแดเนียล บีกแมน (Daniel Beeckman) จากเรือ อีเกิล (Eagle) แล่นผ่านเกาะแห่งนี้เมื่อวันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 1714 เขาได้บันทึกข้อความไว้ลงในหนังสือเมื่อ ค.ศ. 1718 ชื่อ การเดินทางไปกลับเกาะบอร์เนียวในอินเดียตะวันออก (A Voyage to and from the Island of Borneo, in the East-Indies)[11]

การสำรวจและถูกผนวก

หน้าผาหินขรุขระที่ทอดตัวยาวตามชายฝั่งของเกาะ

มีความพยายามในการสำรวจเกาะครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1857 โดยทีมงานจากเรือ อะมิทิสต์ (Amethyst) ด้วยพยายามขึ้นไปยังจุดสูงสุดของเกาะ แต่ทว่าไม่ประสบผลสำเร็จ

ค.ศ. 1886 เรือเอกจอห์น เมเคลียร์ (John Maclear) จากเรือ เฮชเอ็มเอส ฟลายอิงฟิช (HMS Flying Fish) พบเกาะและจอดเทียบท่าที่อ่าวที่เขาตั้งชื่อให้ว่าฟลายอิงฟิชโคฟ (หรืออ่าวปลานกกระจอก) ตามชื่อเรือของตน พวกเขาจัดงานเลี้ยงฉลองเล็ก ๆ และเก็บตัวอย่างพืชและสัตว์ไปจำนวนหนึ่ง[6] ปีถัดมาเพเลม อัลดริช (Pelham Aldrich) จากเรือ เฮชเอ็มเอส อีเกเรีย (HMS Egeria) ขึ้นมาบนเกาะเป็นเวลา 10 วัน โดยมี โจเซฟ แจ็กสัน ลิสเตอร์ นักสะสมสิ่งของเกี่ยวกับชีววิทยาและแร่วิทยาเดินทางเข้าไปด้วย[6]

บรรดาหินที่ถูกส่งให้จอห์น เมอร์เรย์ตรวจสอบ แล้วพบว่าหินเหล่านี้เป็นฟอสเฟตบริสุทธิ์ จากการค้นพบนี้เองทำให้เกาะคริสต์มาสถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1888[12]

การตั้งถิ่นฐาน

สายพานลำเลียงฟอสเฟตจากดรัมไซต์ไปยังท่าเรือ

หลังถูกผนวกได้ไม่นาน ก็มีการตั้งนิคมขนาดน้อยย่านฟลายอิงฟิชโคฟโดยจอร์จ คลูนีส์-รอสส์ (George Clunies-Ross) เจ้าของหมู่เกาะโคโคสซึ่งอยู่ห่างออกไป 900 กิโลเมตรทางตะวันตกเฉียงใต้สำหรับเก็บผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูปสำหรับอุตสาหกรรมในหมู่เกาะโคโคส

ค.ศ. 1897 ชาลส์ วิลเลียม แอนดริวส์ (Charles W. Andrews) เข้ามายังเกาะคริสต์มาสเพื่อทำการวิจัยประวัติศาสตร์ธรรมชาติบนเกาะในนามของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติสหราชอาณาจักร[13]

ค.ศ. 1899 เริ่มมีการขุดเหมืองฟอสเฟตครั้งแรกบนเกาะ โดยใช้แรงงานจากสิงคโปร์ มลายา และจีน จอห์น เดวิส เมอร์เรย์ (John Davis Murray) วิศวกรเครื่องกลที่เพิ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเพอร์ดู ถูกส่งเข้าไปควบคุมงานในนามของบริษัทเหมืองฟอสเฟตและการขนส่ง (Phosphate Mining and Shipping Company) จนได้สมญาว่า "ราชาเกาะคริสต์มาส" กระทั่ง ค.ศ. 1910 เขาแต่งงานและกลับไปตั้งรกรากในลอนดอน[14][15]

เกาะคริสต์มาสถูกปกครองร่วมกันระหว่างคณะกรรมาธิการฟอสเฟตสหราชอาณาจักร และเจ้าพนักงานจากสำนักงานอาณานิคมสหราชอาณาจักรแห่งอาณานิคมช่องแคบ ต่อมาได้โอนเป็นอาณานิคมสิงคโปร์ ตามลำดับ มีแรงงานจีนหลายคนเข้ามาทำงานบนเกาะและยังอาศัยมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ใน ค.ศ. 1922 นักวิทยาศาสตร์สังเกตสุริยุปราคาบนเกาะ เพื่อทดสอบทฤษฎีสัมพันธภาพของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์[16]

ญี่ปุ่นรุกราน

ทหารญี่ปุ่นทำการยึดป้อมปืน 6 นิ้ว บนเกาะคริสต์มาสเมื่อ ค.ศ. 1942

สงครามโลกครั้งที่สองแผ่ขยายมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1941 เกาะคริสต์มาสได้กลายเป็นเป้าหมายที่จักรวรรดิญี่ปุ่นต้องการยึดครอง เพราะเกาะเต็มไปด้วยฟอสเฟต[17] พลปืนจากกองทัพเรือสหราชอาณาจักร พร้อมนายทหารชั้นประทวน 4 นาย และทหารอินเดีย 27 นายเข้าประจำการในพื้นที่[17] 20 มกราคม ค.ศ. 1942 ญี่ปุ่นเริ่มโจมตีครั้งแรกด้วย เรือดำน้ำไอ-159 ยิงตอร์ปิโดใส่เรือขนส่งสินค้าของนอร์เวย์ชื่อ เอดส์โวลด์ (Eidsvold)[18] เรือสูญเสียการควบคุมแล้วจึงล่มบริเวณหาดเวสต์ไวท์ หลังจากนั้นจึงเริ่มมีการโยกย้ายคนงานทั้งยุโรปและเอเชียบนเกาะไปเมืองเพิร์ทออกจากพื้นที่สู้รบ

ปลายเดือนกุมภาพันธ์จนถึงต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. 1942 มีการทิ้งระเบิดทางอากาศสองครั้ง ทหารญี่ปุ่นจึงให้นายอำเภอออกมาชักธงขาวเมื่อวันที่ 7 มีนาคม[17] หลังกองทัพเรือญี่ปุ่นถอนกำลังออกไปจากเกาะแล้ว ข้าราชการสหราชอาณาจักรจึงชักธงยูเนียนแจ็กแทนที่ทันที[17] วันที่ 10-11 มีนาคมปีเดียวกัน ทหารอินเดียที่ถูกตำรวจซิกข์คุมขังได้ก่อกบฏ พวกเขาสังหารทหารสหราชอาณาจักร 5 นาย และฆ่านักโทษเชื้อสายยุโรปที่เหลืออีก 21 คน[17]

รุ่งเช้าของวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1942 เครื่องบินทิ้งระเบิดของญี่ปุ่นได้โจมตีสถานีวิทยุบนเกาะ และในวันเดียวกันนั้นกองทัพเรือญี่ปุ่นจำนวน 9 ลำยกพลขึ้นบกและชาวเกาะยอมจำนน มีทหารญี่ปุ่นจากหน่วยรบพิเศษที่ 21 และ 24 จำนวน 850 นาย พร้อมทหารกองการก่อสร้างจำนวน 102 นายขึ้นบกที่ฟลายอิงฟิชโคฟและทำการยึดครองเกาะ[17] ทหารญี่ปุ่นไล่แรงงานบนเกาะซึ่งส่วนใหญ่หนีไปอยู่ในป่า ญี่ปุ่นจึงเข้าซ่อมแซมเครื่องมือต่าง ๆ สำหรับขุดและส่งออกฟอสเฟต เหลือทหารรบพิเศษที่ 21 จำนวน 20 นายคอยรักษาการณ์[17]

วันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1942 มีการโจมตีเรือขนส่งสินค้า นิซเซมารุ (Nissei Maru) ของญี่ปุ่นด้วยตอร์ปิโดบริเวณท่าเรือ[19] ทำให้จำนวนฟอสเฟตที่ส่งไปยังญี่ปุ่นมีน้อยมาก เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1943 ประชากรบนเกาะกว่าร้อยละ 60 ถูกส่งไปยังค่ายกักกันซูราบายา เหลือคนบนเกาะคือชาวจีนและมลายู 500 คน และญี่ปุ่น 15 คน เอาชีวิตรอดด้วยความแร้นแค้น กระทั่งเดือนตุลาคม ค.ศ. 1945 เรือ เฮชเอ็มเอส รอเทอร์ (HMS Rother) เรือรบของสหราชอาณาจักรเข้ามาที่เกาะและยึดเกาะคริสต์มาสกลับมาไว้ในการครอบครองโดยสหราชอาณาจักรอีกครั้งหนึ่ง[20][21][22][23]

หลังสิ้นสงครามจึงได้มีการจับกุมกบฏทั้ง 7 คน และถูกดำเนินคดีโดยศาลทหารในสิงคโปร์ ค.ศ. 1947 มีการตัดสินให้ประหารชีวิตกบฏ 5 คน ต่อมารัฐบาลอิสระของอินเดียได้ลดโทษเหลือเพียงจำคุกตลอดชีวิต[17]

ขึ้นกับออสเตรเลีย

ร้านค้าแห่งหนึ่งในปูนซ้าน

ประเทศออสเตรเลียทำเรื่องร้องแก่สหราชอาณาจักร เรื่องการโอนอำนาจอธิปไตยของเกาะคริสต์มาสแก่ประเทศของตน ทางรัฐบาลออสเตรเลียได้ชำระเงิน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่อาณานิคมสิงคโปร์เพื่อชดเชยการสูญเสียรายได้ที่ได้จากการทำเหมืองฟอสเฟต[24] มีพระราชโองการว่าด้วยพระราชบัญญัติเกาะคริสต์มาสของสหราชอาณาจักร ลงวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1958 โอนอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะคริสต์มาสจากสิงคโปร์ไปยังออสเตรเลียผ่านพระราชโองการที่ประกาศโดยคำแนะนำของคณะองคมนตรี (order-in-council)[25] ร่างพระราชบัญญัติเกาะคริสต์มาสของออสเตรเลียผ่านในเดือนกันยายน ค.ศ. 1958 และเกาะคริสต์มาสกลายเป็นดินแดนของออสเตรเลียอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1958[26]

สภาพิจารณาเครือจักรภพ ค.ศ. 1573 ประกาศแต่งตั้งดอนัลด์ อีแวน นิกเกลส์ (Donald Evan Nickels) เป็นผู้อำนวยการฝ่ายบริหารอย่างเป็นทางการของดินแดนเกาะคริสต์มาส เมื่อวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1958[27] ค.ศ. 1997 เกาะคริสต์มาสและหมู่เกาะโคโคสถูกรวมเป็นดินแดนมหาสมุทรอินเดียของออสเตรเลีย (Australian Indian Ocean Territories)[28]

มีการจัดตั้งนิคมซิลเวอร์ซิตี (Silver City) ช่วง ค.ศ. 1970 ด้วยบ้านเรือนที่สร้างด้วยอะลูมิเนียมเพื่อป้องกันอันตรายจากพายุไซโคลน[29] ช่วงแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย ค.ศ. 2004 เกาะคริสต์มาสไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต หากแต่มีนักว่ายน้ำบางคนถูกกวาดลงไปในทะเลห่างจากชายฝั่ง 150 เมตร ก่อนถูกซัดกลับเข้าฝั่ง

แหล่งที่มา

WikiPedia: เกาะคริสต์มาส http://environment.gov.au/parks/christmas/index.ht... http://www.environment.gov.au/parks/christmas/cult... http://scaleplus.law.gov.au/html/pasteact/0/288/to... http://www.nalwt.gov.au/files/no-37-thomas.pdf http://catalogue.nla.gov.au/Record/1200578 http://www.nla.gov.au/apps/cdview?pi=nla.map-nk157... http://regional.gov.au/territories/Christmas/files... http://www.abc.net.au/nature/island/ep2/about4.htm http://christmas.net.au http://www.christmas.net.au/about/culture.html