ประวัติ ของ เกาะบราวน์ซี

ยุคแรก

หลักฐานที่บันทึกว่ามีมนุษย์อาศัยบนเกาะบราวน์ซีแรกสุดอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9 ในเวลานั้นมีการสร้างสถานปลีกวิเวกและโรงอุโบสถสำหรับบูชาพระเจ้า ต่อมาในปี พ.ศ. 1558 พระเจ้าคนุตมหาราชนำทัพไวกิงยกพลขึ้นบก ตั้งค่ายปล้นสะดมเรือที่ผ่านไปมาและชุมชนรอบข้าง[7] ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 11 บรูโน คหบดีชาวตำบลสตัดแลนด์ (Studland) ครั้นรัชสมัยพระเจ้าวิลเลียมผู้พิชิตยึดครองอังกฤษ เกาะนี้ก็ตกเป็นทรัพย์สินร่วมกับน้องชายต่างมารดาคือโรเบิร์ต เดอ มอร์เทน ล่วง พ.ศ.1697 สมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 2 ผู้สร้างปราสาทโดเวอร์ ก็มีการมอบสิทธิ์ให้ชาวเกาะยึดเอาของจากเรืออัปปางที่ถูกซัดเกยตื้น[8]

ยุคทิวดอร์และสงครามกลางเมือง

ปราสาทบราวน์ซี หรือปราสาทแบรงก์ซี ปัจจุบันเป็นโรงแรม

ในสมัยพระเจ้าเฮนรีที่ 8 มีการยุบอาราม เพื่อนำทรัพย์สินขายใช้ในการศึกสงคราม พระองค์เห็นความสำคัญของเกาะในฐานะจุดยุทธศาสตร์ จึงมีพระราชโองการให้สร้างป้อมปราการขนาดย่อมขึ้นบนยเกาะนอกเหนือจากป้อมปราการริมฝั่งตามหัวเมืองต่าง ๆ ป้อมเหล่านี้เรียกว่า ปราสาทเฮนริเชียน (Henrician Castle) สำหรับป้อมปราการบนเกาะนั้น คือ ปราสาทบราวน์ซี สร้างเมื่อ พ.ศ. 2090 เมื่อพระเจ้าเฮนรีที่ 8 สิ้นพระชนม์ ราชสมบัติตกแก่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ ปราสาทและเกาะถูกยกให้กรมวังคนสนิทชื่อเซอร์คริสโตเฟอร์ แฮตตัน (Christopher Hatton) เมื่อ พ.ศ. 2119[9]

ต่อมาในสมัยสงครามกลางเมืองอังกฤษ เมืองพูลเข้ากับฝ่ายรัฐสภากระทำรัฐประหารราชบัลลังก์ของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 1 เกาะนี้เป็นหนึ่งในสถานที่ซ่องสุมผู้คน โทมัส ไพรด์ (Thomas Pride) ใช้เกาะนี้เป็นสถานที่เตรียมการยึดรัฐสภา[10] ต่อมา โรเบิร์ต เคลย์ตัน ข้าหลวงนครลอนดอน (ไม่ใช่ผู้ว่าราชการกรุงลอนดอน) ครอบครองเกาะจนกระทั่งถึงแก่กรรมในปี พ.ศ.2250 จากนั้นเกาะตกเป็นสมบัติของวิลเลียม เบนสัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในยุคนี้เองที่ปราสาทกลายสภาพจากป้อมปราการเป็นนิวาสสถาน[11]

ยุคอุตสาหกรรม

ฮัมฟรีย์ สเติร์ต (Humphrey Sturt) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซื้อเกาะนี้และปรับปรุงให้น่าอยู่อาศัย สิ้นเงินราว 50,000 ปอนด์ทองคำ[12] ต่อมาเกาะตกทอดถึงบุตรของสเติร์ต และถูกขายต่อให้แก่วิลเลียม วอฟ (William Waugh) อดีตจ่าทหารแห่งกองทัพอังกฤษด้วยราคา 13,000 ปอนด์ ด้วยหวังว่าจะได้แหล่งดินขาวในการทำเครื่องปั้นดินเผาคุณภาพสูงเทียบเคียงกับดินจากหมู่บ้านฟูร์ซบรูก (Furzebrook)[13] แต่คุณภาพดินที่ได้เหมาะกับเครื่องสุขภัณฑ์ฺในห้องน้ำเท่านั้น ในตอนต้นมีคนงานถึง 200 คน แต่ต่อมาโรงงานก็ถูกปิดร้างในปี พ.ศ.2430[14] ในปัจจุบันมีร่องรอยโรงเผาหม้อดินที่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะ บริเวณเดียวกันนั้นมีซากบ้านเรือนสำหรับคนงานพัก ชื่อหมู่บ้านแมรีแลนด์ และเศษหม้อดินแตก ในบริเวณด้านเหนือของเกาะมีบ่อดิน ซึ่งจะขนมาใช้ในการปั้นโดยรถราง ด้านตะวันออกของเกาะ วอฟได้สร้างโบสถ์เซนต์แมรี่ขึ้นตามชื่อของภรรยา โบสถ์นี้ใช้เป็นสถานที่บูชาสำหรับเยาวชนและบุคคลที่เข้าค่ายลูกเสือในสมัยต่อมาจนถึงปัจจุบัน

โบสถ์เซนต์แมรี สร้าง พ.ศ.2397

หลังจากกิจการเครื่องปั้นดินเผาของวอฟล้มละลาย เขาเป็นคนหนี้สินล้นพ้นตัวและต้องลี้ภัยไปยังสเปน เจ้าหนี้ได้ยึดเกาะนั้นขายทอดตลาดให้แก่จอร์จ คาเวนดิช-เบนติงก์ (George Cavendish-Bentinck) องคมนตรีในสมัยนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2416 เบนติงก์ทำการเกษตรโดยเอาวัวเจอร์ซีย์ขึ้นมาเลี้ยงบนเกาะรวมถึงปลูกพืช เขาประดับประดาทางเดินตามเกาะด้วยรูปปั้นแบบอิตาเลียนเรเนอซองส์ ตราบจนปี พ.ศ.2424 สำมะโนประชากรระบุว่ามีประชาชนอาศัยบนเกาะ 270 คน ส่วนใหญ่เป็นคนงานปั้นหม้อ[15] เมื่อเบนติงก์เสียชีวิตในปี พ.ศ.2434 เกาะถูกขายให้เคนเนท โรเบิร์ต บัลโฟร์ (Kenneth Robert Balfour) หลังจากนั้นบนเกาะจากเดิมที่ใช้ตะเกียงน้ำมันก็เริ่มใช้ไฟฟ้าส่องสว่างแทน แต่แล้วปราสาทบราวน์ซีที่ตั้งตระหง่านอยู่ถูกไฟไหม้ในปี พ.ศ.2439 เป็นผลให้ปราสาทถูกสร้างใหม่ ห้าปีให้หลัง บัลโฟร์ขายเกาะนี้อีกครั้งหนึ่ง[16]

ปัจจุบัน

ศิลาอนุสรณ์ลูกเสือโลก[17]

ชาลส์ แวน ราลเต (Charles van Raalte) ซื้อเกาะและปราสาทบราวน์ซีต่อจากบัลโฟร์เพื่อใช้เป็นบ้านพักวันหยุด มีบุคคลสำคัญอาทิ กูลเยลโม มาร์โกนี แวะมาพักอาศัยที่ปราสาท[18] โรเบิร์ต เบเดน-โพเอลล์ ทหารกองทัพอังกฤษ สมาชิกสภาขุนนาง และเพื่อนสนิทของแวนราลเตขอใช้เกาะเป็นสถานที่จัดค่ายลูกเสือกับเด็กชายอีกจำนวนหนึ่งซึ่งมาจากพื้นเพทางสังคมรวมไปถึงถิ่นที่อยู่ที่แตกต่างกัน บางส่วนมาจากกโรงเรียนชายล้วนในกรุงลอนดอน บางส่วนมาจากคนในท้องถิ่น เช่นจากตำบลปาร์กสโตน อำเภอพูล และ ตำบลวินตัน อำเภอบอร์นมัท[19] ค่ายถูกจัดระหว่างวันที่ 1 - 8 สิงหาคม พ.ศ.2450 บรรดาเด็ก ๆ ถูกกำหนดให้ทำกิจกรรมกลางแจ้ง อาทิ การอยู่ค่ายพักแรม การสังเกตการณ์ พืชพรรณและนานาสัตว์ การช่วยชีวิต และอุดมการณ์ความรักชาติ เมื่อค่ายนี้ประสบผลสำเร็จตามความปรารถนา ปีต่อมาเบเดน-โพเอลล์ได้เผยแพร่หนังสือ การลูกเสือสำหรับเด็กชาย (Scouting for Boys) เป็นผลให้เกิดกองลูกเสือในหลายประเทศ บนเกาะนั้นมีการตั้งค่ายลูกเสือเป็นประจำทุกปีสืบเนื่องจนถึง พ.ศ.2477 ดังเหตุผลที่จะอธิบายต่อไป

บนเกาะ ณ เวลานั้น มีสวนครัวและฟาร์มวัวนม ทำให้มีอาหารรับประทานตลอดเวลาไม่ต้องนำขึ้นมาจากฝั่ง บรรดาคนงานโรงงานปั้นหม้อ แม้ว่าโรงงานจะปิดไปแล้ว ก็ยังอาศัยเกาะเป็นที่เลี้ยงชีพรับใช้เจ้าของเกาะ[20] ไม่นานนัก แวนราลเตถึงแก่กรรมที่กัลกัตตา ประเทศอินเดีย ภรรยาของเขาประมูลขายเกาะนี้ในปี พ.ศ.2470 สองปีต่อมาแมรี บอแนม-คริสตี (Mary Bonham-Christie) ประมูลเกาะได้ในราคา 125,000 ปอนด์ เจ้าของคนใหม่สั่งขับไล่บรรดาผู้พักอาศัยกลับไปยังแผ่นดินใหญ่ และปล่อยให้พื้นที่การเกษตรกลับคืนเป็นป่าและทุ่งหญ้าตามธรรมชาติ ล่วงปี พ.ศ. 2477 ป่าบนเกาะถูกไฟเผาทำลายจนเกือบหมด มีเฉพาะปราสาทและกลุ่มอาคารด้านตะวันออกเท่านั้นที่ไม่ถูกไฟไหม้ นางบอนแนม-คริสตีทราบถึงเหตุการณ์จึงสั่งห้ามคนนอกขึ้นเกาะตราบจนสิ้นชีวิตในปี พ.ศ. 2504 ด้วยเหตุที่เธอเป็นคนแล้งน้ำใจอย่างกล้า จึงถูกขนานนามว่า ปีศาจแห่งบราวน์ซี[21] หลานของบอนแนม-คริสตีจ่ายภาษีมรดกโดยการยกเกาะบราวน์ซีให้แก่รัฐบาล ชาวเมืองรอบ ๆ ที่ทราบข่าว นำโดยเฮเลน บรอเทอร์ตัน (Helen Brotherton; พ.ศ.2457 - 2552) ก็เป็นกังวลว่าเกาะนี้จะถูกขายให้แก่นายทุนเพื่อใช้สร้างอสังหาริมทรัพย์ จึงได้ขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิแห่งชาติเพื่อสถานที่ประวัติศาสตร์และความงามธรรมชาติให้เข้าซื้อเกาะ แต่มูลนิธิมีเงื่อนไขว่าจะซื้อถ้ามีเงินลงขันเพียงพอ สุดท้ายมูลนิธีซื้อเกาะได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2505 ด้วยราคา 100,000 ปอนด์[22] มูลนิธิแห่งชาติได้รับเงินสนับสนุนบางส่วนจากบริษัทจอห์นลูอิส และมูลนิธีชีวิตป่าดอร์เซต จึงได้ให้หน่วยงานทั้งสองได้รับสิทธิ์เช่าช่วงเกาะบางส่วน มูลนิธิชีวิตป่าดูแลเกาะทางตอนเหนือ บริเวณที่เป็นป่า มาบ และทุ่งต้นกก ส่วนบริษัทจอห์นลูอิสใช้สิทธิ์ครอบครองปราสาทบราวน์ซีเพื่อใช้เป็นโรงแรมสำหรับพนักงาน ต้นกุหลาบพันปีที่ขึ้นอยู่เต็มและไม่ได้มีมาแต่เดิมก็ถูกถางทิ้ง ป่าที่รกชัฏเกินไปก็ถูกถางเป็นแนวกันไฟ สุดท้ายปีต่อมา โอลาฟ เบเดน-โพเอลล์ ภรรยาของโรเบิร์ต บิดาแห่งการลูกเสือโลก พร้อมด้วยอดีตสมาชิกค่ายลูกเสือแห่งแรกของโลก ได้เปิดเกาะนี้พร้อมกับค่ายลูกเสืออย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2506 เกาะที่แต่เดิมถูกห้ามเข้าก็เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าได้ (มีค่าเข้าชมจำนวนหนึ่ง) ลูกเสือและเนตรนารีที่เคยถูกห้ามขึ้นเกาะทำกิจกรรมก็ได้สิทธิ์คึนมาด้วย จวบจนปัจจุบันมีผู้ขึ้นชมเกาะปีละประมาณ 110,000 คน[23]

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ไฟฉายขนาดใหญ่ตั้งไว้ที่ด้านตะวันตกของเกาะเพื่อลวงเครื่องบินของกองบินลุฟต์วัฟเฟอ ออกจากเขตเมืองบอร์นมัทและพูล ในการนี้มีการทำลายบ้านพักของคนงานปั้นหม้อจนเหลือแต่เศษอิฐในปัจจุบัน[24] ตั้งแต่ปี พ.ศ.2507 มีการจัดแสดงละครกลางแปลงเป็นประจำทุกปี โดยนำบทละครของวิลเลียม เชคสเปียร์ มาเล่น

เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2550 มีการฉลองครบรอบหนึ่งร้อยปีการลูกเสือโลก โดยมีลูกเสือและเนตรนารีจากทั่วโลก พร้อมด้วยบรรดาผู้สืบสันดานของโรเบิร์ต โพเอลล์เข้าร่วม[25]

แหล่งที่มา

WikiPedia: เกาะบราวน์ซี http://www.isleofpurbeck.com/brownseamap.html http://www.spanglefish.com/bettyclay/index.asp?pag... http://www.roughwood.net/ChurchAlbum/Dorset/Browns... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://www.soton.ac.uk/~imw/brownsea.htm http://news.bbc.co.uk/1/hi/uk/6925312.stm http://www.bbc.co.uk/dna/h2g2/A240904 http://www.bbc.co.uk/news/science-environment-3794... http://www.election-maps.co.uk/electmaps.jsf http://www.nationaltrust.org.uk/main/w-vh/w-visits...