ประวัติศาสตร์ ของ เกาะฟู้โกว๊ก

ใน พ.ศ. 2379 สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี หรือพระองค์ด้วง ทรงส่งข้อเสนอไปยังฝรั่งเศสตามคำแนะนำของมงตีญี เพื่อขอเป็นพันธมิตรทางการทหารในการต่อต้านเวียดนาม และยินดียกเกาะฟู้โกว๊กให้ฝรั่งเศส[2] แต่ข้อเสนอนี้ไม่ได้รับการพิจารณา[3] เมื่อสงครามระหว่างฝรั่งเศส สเปน และเวียดนามเริ่มขึ้น พระองค์ด้วงได้ส่งจดหมายไปยังนโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศสอีก โดยกล่าวอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนโคชินจีนตอนล่าง ซึ่งรวมเกาะฟู้โกว๊กด้วยว่าเป็นดินแดนของกัมพูชาที่ถูกเวียดนามยึดครอง พระองค์ด้วงได้ขอร้องฝรั่งเศสว่าอย่าได้รับดินแดนเหล่านี้จากเวียดนาม เพราะเป็นดินแดนของกัมพูชา แต่ต่อมา ใน พ.ศ. 2410 เกาะฟู้โกว๊กก็ถูกทหารฝรั่งเศสยึดครอง

หลังจากกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส ได้เกิดข้อโต้แย้งเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือเกาะนี้ ก่อนได้รับเอกราช ฌูล เบรวีเย (Jules Brévié) ข้าหลวงประจำอินโดจีนฝรั่งเศส ได้กำหนดเส้นเบรวีเยพื่อบ่งเขตการปกครองของเกาะในอ่าวไทย โดยด้านเหนือของเส้นให้อยู่ในเขตกัมพูชา ด้านใต้เป็นของโคชินจีน โดยเป็นการกำหนดเพื่อความสะดวกในการบริหารและการทำงานของตำรวจ แต่ไม่มีการตัดสินใจเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือดินแดน ผลจากเส้นนี้ทำให้เกาะฟู้โกว๊กอยู่ในเขตโคชินจีน

หลังจากที่จีนแผ่นดินใหญ่อยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ใน พ.ศ. 2492 นายพลฮวงเจีย ได้นำทหารฝ่ายสาธารณรัฐจีน 33,000 คนจากมณฑลหูหนานมาสู่เวียดนามและตั้งมั่นที่เกาะฟู้โกว๊กก่อนจะกลับไปยังเกาะไต้หวันใน พ.ศ. 2496[4] ในปัจจุบันได้มีเกาะเล็ก ๆ ในทะเลสาบเช็งกิงในไต้หวันซึ่งสร้างขึ้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2498 และตั้งชื่อว่าฟู้โกว๊กเพื่อรำลึกถึงเกาะที่พวกเขาเคยอยู่ ในระหว่างสงครามเวียดนาม เกาะนี้เป็นที่คุมขังนักโทษขนาดใหญ่ของเวียดนามใต้ ใน พ.ศ. 2516 มีผู้ถูกคุมขังถึง 40,000 คน

ใน พ.ศ. 2510 พระนโรดม สีหนุได้แสดงความจำนงที่จะปรับปรุงเส้นเขตแดนให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งรัฐบาลเวียดนามเหนือได้ยอมรับเส้นเขตแดนนี้ ใน พ.ศ. 2511 มีการเขียนบทความลงในวารสาร Kambudja ยอมรับว่าเกาะฟู้โกว๊กอยู่ในเขตเวียดนาม ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 เขมรแดงได้ส่งทหารเข้ายึดเกาะฟู้โกว๊ก แต่เวียดนามสามารถยึดคืนมาได้ในเวลาอันสั้น ปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับเส้นเขตแดนนำไปสู่สงครามกัมพูชา-เวียดนาม ใน พ.ศ. 2522