การชกมวยสากล ของ เขาทราย_แกแล็คซี่

ชีวิตการชก มวยไทย ของเขาทราย ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จนได้รับการปรามาส จากแฟนมวยว่า "เขาควาย" จึงเบนเข็มมาชกมวยสากล โดยฝึกมวยสากลจาก "ครูเฒ่า-ชนะ ทรัพย์แก้ว" และ "เกา คิม หลิน-ทวิช จาติกวณิช" และเมื่อเป็นแชมป์โลกเปลี่ยนมาเป็น "โกฮง-พงษ์ ถาวรวิวัฒน์บุตร"

เมื่อเปลี่ยนมาชกมวยสากลเขาทรายสามารถชนะน็อก ด้วยหมัดซ้ายติดต่อกัน 5 ครั้ง ชนะคะแนนอีก 1 ครั้ง เขาทรายมีโอกาสได้ขึ้นชิงแชมป์เวทีราชดำเนินรุ่นแบนตั้มเวท กับ ศักดา ศักดิ์สุรีย์ (ศักดิ์ แกแล็คซี่) แชมป์ในขณะนั้น เมื่อ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 ก่อนการชก ทุกฝ่ายมั่นใจว่าเขาทรายน่าจะเป็นฝ่ายชนะน็อกได้ไม่ยาก เพราะศักดาน้ำหนักเกินรุ่นแบนตั้มเวทไปมาก ถึงวันชั่งน้ำหนักยังต้องอบตัวและออกวิ่งกว่าจะทำน้ำหนักตามพิกัดได้ เมื่อขึ้นเวทีชกกันจริง ๆ ปรากฏว่าเขาทรายเข้าไม่ติด ไม่สามารถใช้หมัดซ้ายชกศักดาได้จัง ๆ เพราะเสียเปรียบช่วงชกมาก ศักดาใช้ช่วงชกที่ได้เปรียบชกทำคะแนนนำไปก่อนแม้จะอ่อนแรงในยกท้าย ๆ และถูกเขาทรายต่อยจนแตกทั้งสองคิ้ว เมื่อเขาทรายชกศักดาลงไปให้กรรมการนับสิบไม่ได้ ครบสิบยก ศักดาจึงเป็นฝ่ายชนะคะแนนไป [6]

หลังจากชกแพ้ในครั้งนั้น นิวัฒน์ผู้จัดการจัดให้เขาทรายชกกับสึงูยูกิ โทมะ นักมวยสากลชาวญี่ปุ่นเป็นการแก้หน้าในครั้งต่อมา ซึ่งเขาทรายเป็นฝ่ายชนะน็อกได้ในยกที่ 4 และในการชกครั้งต่อมาเขาทรายชนะน็อก ศักดิ์สมัย ช.ศิริรัตน์ ได้ครองแชมป์ แบนตั้มเวท เวทีมวยราชดำเนิน ที่ว่างอยู่เนื่องจากศักดาสละแชมป์ไป และนับจากชกชนะสึงูยูกิ เขาทรายไม่เคยแพ้ใครอีกเลยจนได้ชิงแชมป์โลก

หลังได้ครองแชมป์แบนตั้มเวท ราชดำเนิน เขาทรายลดรุ่นลงมาชกในรุ่นซูเปอร์ฟลายเวท สามารถชกชนะติดต่อกัน 17 ครั้ง โดยเป็นการชนะน็อกถึง 15 ครั้ง รวมทั้งชนะน็อก วิลลี เจนเซน รองแชมป์โลกซูเปอร์ฟลายเวท ต่อมาได้ขึ้นชิงแชมเปี้ยนโลกซูเปอร์ฟลายเวทของสมาคมมวยโลก (WBA) เนื่องจากสมาคมมวยโลก (WBA) มีคำสั่งปลดจิโร วาตานาเบะเจ้าของตำแหน่งแชมป์โลก ซึ่งไม่ยอมป้องกันไฟต์บังคับกับเขาทรายที่เป็นรองแชมป์โลกอันดับ 1 แต่กลับไปล้มแชมป์โลกต่างสถาบันกับพเยาว์ พูลธรัตน์แชมป์โลกของสภามวยโลก (WBC) โดยเขาทรายได้ชิงแชมป์โลกที่ว่างกับเอวเซบิโอ เอสปินัล นักชกชาวโดมินิกัน ซึ่งเป็นรองแชมป์โลกอันดับ 2 ในรุ่นซูเปอร์​ฟลายเวท​ของสมาคมมวยโลก ที่เวทีมวยราชดำเนิน และชนะน็อก 6 ได้ครองตำแหน่งแชมเปี้ยนโลก เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 และยังทำสถิติป้องกันแชมป์ได้ติดต่อกันถึง 19 ครั้ง มากที่สุดของทวีปเอเชีย โดยทำลายสถิติเดิมของ ชัง ช็อน-กู นักมวยสากลชาวเกาหลีใต้ ที่ป้องกันได้ 15 ครั้ง และเป็นสถิติโลกในรุ่นซูเปอร์ฟลายเวท (115 ปอนด์) ด้วย เทียบเท่ากับ เอวเซบิโอ เปรโดซา อดีตแชมป์โลก รุ่นเฟเธอร์เวท WBA ที่ทำสถิติป้องกันแชมป์เอาไว้ถึง 19 ครั้งเท่ากัน จากการบันทึกข้อมูลสถิติการชกของเขาทรายโดย Boxing Writers Association of America (BWAA) และนักประวัติศาสตร์มวยโลกได้บันทึกข้อมูลว่า เขาทรายทำสถิติการชกไว้ทั้งหมด 50 ครั้ง ชนะ 49 ครั้ง โดยชนะน็อกถึง 43 ครั้ง แพ้คะแนนเพียง 1 ครั้ง และในการป้องกันแชมป์ 19 ครั้ง เป็นการชนะน็อกถึง 16 ครั้ง มีเพียง 3 ครั้งที่ชนะคะแนน[7] (แต่ใน www.boxrec.com บันทึกสถิติเขาทรายว่าชกทั้งหมด 48 ครั้ง ชนะ 47 ครั้ง ชนะน็อค 41 ครั้ง แพ้คะแนน 1 ครั้ง[8] ซึ่งไม่ใช่สถิติที่ถูกต้องของเขาทราย)

เขาทราย แกแล็คซี่ นับว่าเป็นนักมวยที่ได้รับความนิยมสูงสุดตลอดกาล ในสมัยที่ยังชกมวยอยู่ ได้รับฉายาจากแฟนมวยว่า "ซ้ายทะลวงไส้" จากหมัดซ้ายที่หนักหน่วง และการชกลำตัวที่ยอดเยี่ยม เป็นนักมวยที่ไปชกป้องกันตำแหน่งนอกประเทศหลายครั้ง รวมทั้งเคยป้องกันกับนักมวยชาวไทยด้วยกัน คือ ก้องธรณี พยัคฆ์อรุณ และแทบทุกครั้งของการชก เขาทรายจะได้รับชัยชนะอย่างงดงาม ความนิยมในตัวเขาทรายมีถึงขนาดที่ว่า เมื่อใดที่เขาทรายชก ถนนในกรุงเทพฯจะว่าง เพราะทุกคนรีบกลับบ้านไปดูเขาทราย อีกทั้งยังเป็นนักมวยรายแรกด้วย ที่เป็นจุดเริ่มต้นของประเพณีการมอบทองและของรางวัลก่อนการชกบนเวที ซึ่งเริ่มมาจากการป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 9 ที่จังหวัดสมุทรปราการ โดยครั้งนั้นมีวัฒนา อัศวเหม เป็นประธานจัด ซึ่งก็เป็นจุดเริ่มของการจัดชกมวยของนักการเมืองด้วย

เกียรติยศ

ปี พ.ศ. 2542 เขาทราย แกแล็คซี่ เข้าหอเกียรติยศ "International Boxing Hall of Fame" ประเภท "Modern" ณ เมืองคานาสโตตา รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา[9]

เขาทราย แกแล็คซี่ เป็นนักมวยที่ได้รับการกล่าวขานมาก จนอาจเรียกว่าเป็นนักกีฬาชาวไทยที่ได้รับเกียรติยศมากที่สุดก็ว่าได้ เขาทราย แกแล็คซี่ เป็นทั้งสุดยอดตำนานมวยสากลอาชีพของประเทศไทยและระดับโลก การได้รับรางวัลและการได้รับการยกย่องต่างๆ มีดังนี้

1. เขาทรายได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติเข้าสู่หอเกียรติยศ International Boxing Hall of Fame ประเภท Modern ในปี พ.ศ. 2542 [10] จากการพิจารณาของ Boxing Writers Association of America (BWAA)[11] และนักประวัติศาสตร์มวยโลก โดยได้รับการบรรจุชื่อในหอเกียรติยศนักมวยโลก ณ เมืองคานาสโตตา รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ นักมวยคนใดได้รับการจารึกชื่อถือว่าเป็นหนึ่งในนักชกที่ยิ่งใหญ่ของวงการมวยโลก[12]

2. อดีตแชมป์โลกในรุ่นซูเปอร์ฟลายเวท ของสมาคมมวยโลก (WBA) ที่สร้างสถิติโลกในการป้องกันตำแหน่งแชมป์โลกได้ 19 ครั้ง สูงสุดเป็นสถิติโลกของรุ่น 115 ปอนด์ ในทุกสถาบันมวยโลก[13]

3. นิตยสาร เดอะ ริง จัดอันดับให้เขาทรายเก่งที่สุด (อันดับที่ 1 ของรุ่น) ในรุ่น 115 ปอนด์เป็นคนแรกของโลก ในปี พ.ศ. 2532 โดยครองอันดับที่ 1 ของรุ่น 115 ปอนด์ 2 ปีซ้อน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532-2533[14][15]
*****หมายเหตุ: นิตยสาร เดอะ ริง เริ่มจัดนักมวยเก่งที่สุดในแต่ละรุ่น เมื่อปี พ.ศ. 2467 โดยมีการนำรุ่น 115 ปอนด์ มาร่วมจัดอันดับนักมวยเก่งที่สุดในแต่ละรุ่นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2532

4. นิตยสาร เดอะ ริง จัดให้เป็นนักชกที่เก่งอันดับที่ 10 เมื่อเทียบปอนด์ต่อปอนด์ ในปี พ.ศ. 2533[16]และจัดให้เป็นนักชกที่เก่งอันดับที่ 8 เมื่อเทียบปอนด์ต่อปอนด์ ในปี พ.ศ. 2534[17]
*****หมายเหตุ: นิตยสาร เดอะ ริง เริ่มจัดอันดับปอนด์ต่อปอนด์เมื่อปี พ.ศ. 2532 โดยมีการนำรุ่น 115 ปอนด์ มาร่วมจัดอันดับปอนด์ต่อปอนด์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2532

5. นิตยสาร เดอะ ริง จัดให้เป็นนักชกที่เก่งที่สุด “ตลอดกาล” ในรุ่น 115 ปอนด์ ในปี พ.ศ. 2543[18]

6. นิตยสาร เดอะ ริง จัดให้เป็นนักชกที่ยิ่งใหญ่ “ตลอดกาล” อันดับที่ 43 ในรอบ 80 ปี ที่ผ่านมา ในประเภท fighter (นักชก) ในปี พ.ศ. 2545[19]

7. นิตยสาร เดอะ ริง จัดให้เป็นนักชกที่ยิ่งใหญ่ “ตลอดกาล” อันดับที่ 19 ประเภท punchers (หมัดหนัก) ในปี พ.ศ. 2546[20]

8. นิตยสาร เดอะ ริง จัดให้เป็นนักชกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย “ตลอดกาล” จากการจัดอันดับนักชกที่ดีที่สุดของแต่ละประเทศ จำนวน 20 ประเทศ ในปี พ.ศ. 2562 โดยคนที่เก่งอันดับรองจากเขาทราย ได้แก่ โผน กิ่งเพชร, ชาติชาย เชี่ยวน้อย, สด จิตรลดา, ศรีสะเกษ นครหลวงโปรโมชั่น และ พงษ์ศักดิ์เล็ก กระทิงแดงยิม [21]

9. สมาคมมวยโลก (WBA) ยกย่องให้เป็นนักชกยอดเยี่ยมของ WBA (2 ปีซ้อน) ในปี พ.ศ. 2532-2533[22][23]

10. สมาคมมวยโลก (WBA) ยกย่องให้เป็นนักชกที่เก่งที่สุดของรุ่น 115 ปอนด์ ในรอบทศวรรษ ในปี พ.ศ. 2543[24]

11. สมาคมมวยโลก (WBA) ยกย่องให้เป็นนักมวยที่ดีที่สุด "ตลอดกาล" ของรุ่นซูเปอร์ฟลายเวท เข้าหอเกียรติคุณ Hall of Fame ของ WBA ในปี พ.ศ. 2554 (รับรางวัล 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ในงานประกาศเกียรติยศ "ดับเบิลยูบีเอ อวอร์ดส์" ที่กรุงปานามา ซิตี้ ประเทศปานามา)[25]

12 คอลัมนิสต์ Graham Houston (www.espn.com) จัดให้เป็นนักชกที่ดี่ที่สุด “ตลอดกาล” ของรุ่นซุปเปอร์ฟลายเวท อันดับที่ 2 ในปี พ.ศ. 2551[26]

13. คอลัมนิสต์ Dave Carlson (www.bleacherreport.com) จัดให้เป็นนักชกที่ยิ่งใหญ่ “ตลอดกาล” อันดับที่ 81 ในปี พ.ศ. 2554[27]

14. คอลัมนิสต์ Kevin Mcrae (www.bleacherreport.com) จัดให้เป็นนักชก “ตลอดกาล” ที่ชกได้ตื่นเต้นที่สุด อันดับที่ 1 ในรุ่น 115 ปอนด์ ในปี พ.ศ. 2556[28]

15. คอลัมนิสต์ Ted Sares, Jarrett Hurd และ Julian Williams (www.boxing.com) จัดให้เป็นนักชกสุดยอดนักชกปอนด์ต่อปอนด์ ที่ชกตั้งแต่ ปี ค.ศ.1945 (พ.ศ. 2488) อันดับที่ 15 ในปี พ.ศ. 2556[29]

16. คอลัมนิสต์ Andrew Kang (www.roundbyroundboxing.com) จัดให้เป็น 1 ใน 50 นักชกที่ยิ่งใหญ่ “ตลอดกาล” อันดับที่ 25 ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา ในปี พ.ศ. 2561[30]

17. คอลัมนิสต์ Robert Portis (www.thefightcity.com) จัดให้เป็น 1 ใน 12 นักชกถนัดซ้าย (Southpaw) ที่ยิ่งใหญ่ "ตลอดกาล" อันดับที่ 11 ในปี พ.ศ. 2561[31]

18. คอลัมนิสต์ Kyle McLachlan (www.boxingmonthly.com) จัดให้เป็นท็อปเทนรุ่นซุปเปอร์ฟลายเวท “ตลอดกาล” อันดับที่ 5 ในปี พ.ศ. 2561 [32]

19. คอลัมนิสต์ Michael Luciano (www.12up.com) จัดให้เป็นนักชกที่ยิ่งใหญ่ "ตลอดกาล" ของรุ่น 115 ปอนด์ ใน ปี พ.ศ. 2562 (ร่วมกับนักมวยอีก 2 คน คือ ศรีสะเกษ ศ.รุ่งวิสัย และ จอห์นนี่ ทาเปีย)[33]

20. เว็บไซต์ www.fightsportasia.wordpress.com จัดให้เป็น 1 ใน 3 นักชกที่ยิ่งใหญ่ของเอเชีย "ตลอดกาล" (แมนนี่ ปาเกียว นักมวยชาวฟิลิปปินส์ ยิ่งใหญ่ที่สุดอันดับที่ 1 รองลงไป คือ เขาทราย แกแล็คซี่ นักมวยชาวไทย และ ปานโช วิลลา นักมวยชาวฟิลิปปินส์ ครองอันดับที่ 2 ร่วมกัน) ในปี พ.ศ. 2555[34]

21 . เว็บไซต์ www.biggerbetterbeards.org จัดให้เป็นสุดยอด 1 ใน 5 นักชกของเอเชียที่คุณควรรู้จัก ร่วมกับ แมนนี่ ปาเกียว, ยู มย็อง-อู, เกนนาดี้ โกลอฟกิ้น และ ฟรานซิสโก กูลเลโด (ที่รู้จักกันในนามว่า ปานโช วิลลา) ในปี พ.ศ. 2562 [35]

22. เว็บไซต์ www.ranker.com จัดให้เป็นนักชกรุ่นฟลายเวทที่ดีที่สุด “ตลอดกาล” อันดับที่ 12 (ทางเว็บจะนับจากรุ่น 108-112 ปอนด์ แต่กลับมีคนนำชื่อเขาทรายให้โหวตไว้ด้วยทั้งๆ ที่เขาทรายชกในรุ่น 115 ปอนด์) (จากจำนวนการโหวตนักชกทุกคน 3,000 ครั้ง มีผู้โหวต 637 คน)[36]

23. เว็บไซต์ www.ranker.com จัดให้เป็นนักชกที่ดีที่สุด “ตลอดกาล” อันดับที่ 126 (จากจำนวนการโหวตนักชกทุกคน 312,600 ครั้ง มีผู้โหวต 41,500 คน)[37]

24. เขาทรายชนะมวยระดับแชมป์โลกสถาบันหลักมา 8 คน (ป้องกันแชมป์โลกชนะน็อก 7 คน อุ่นเครื่องชนะคะแนน 1 คน)[38]

25. รางวัลนักกีฬาขวัญใจมหาชน จากการโหวตของแฟนกีฬาชาวไทยของบริษัทสยามสปอร์ต จำกัด ในการประกาศผลรางวัลสยามกีฬา อวอร์ดส์ ครั้งที่ 1 จัดในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2550[39]

26. เขาทรายเข้าหอเกียรติยศในพิพิธภัณฑ์กีฬาแห่งชาติของการกีฬาแห่งประเทศไทย[40]

27. เขาทรายได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก (ต.ช.)[41]

ประวัติการชกมวยสากล

วันที่คู่ชกสัญชาติสังเวียนผลการแข่งขันหมายเหตุ
17 ธันวาคม 2523ศักดิ์ แกแล็คซี่ ไทยกรุงเทพมหานครแพ้คะแนน 10 ยกชิงแชมป์รุ่นแบนตั้มเวท เป็นครั้งเดียวที่เขาทรายชกแพ้
25 มกราคม 2525ศักดิ์สมัย ช.ศิริรัตน์ ไทยสนามมวยราชดำเนิน

กรุงเทพมหานคร

ชนะน็อก ยกที่ 7ครองตำแหน่งแชมป์ประเทศไทยรุ่นแบนตั้มเวท
21 พฤศจิกายน 2527เอวเซบิโอ เอสปินัล สาธารณรัฐโดมินิกันสนามมวยราชดำเนิน

กรุงเทพมหานคร

ชนะน็อก ยกที่ 6ครองตำแหน่งแชมป์โลกรุ่นซูเปอร์ฟลายเวทของสมาคมมวยโลก

เอวเซบิโอ เอสปินัล แพ้น็อกครั้งแรกและครั้งเดียว

6 มีนาคม 2528ดง ชุนลี เกาหลีใต้สนามมวยราชดำเนิน

กรุงเทพมหานคร

ชนะน็อก ยกที่ 7ป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 1

ดง ชุนลี แพ้น็อกครั้งแรก

17 กรกฎาคม 2528ราฟาเอล โอโรโน เวเนซุเอลาสนามมวยราชดำเนิน

กรุงเทพมหานคร

ชนะน็อกโดยเทคนิค ยกที่ 5ป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 2
23 ธันวาคม 2528เอดการ์ มอนเซร์รัต ปานามาสนามมวยราชดำเนิน

กรุงเทพมหานคร

ชนะน็อกโดยเทคนิค ยกที่ 2ป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 3
1 พฤศจิกายน 2529อิสราเอล กอนเตรรัส เวเนซุเอลาสนามกีฬาเอร์กิลิโต อาร์โต วิลเลมสตัด กือราเซา

เนเธอร์แลนด์แอนทิลลีส

ชนะน็อกโดยเทคนิค ยกที่ 5ป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 4 และครั้งแรกในต่างประเทศ

อิสราเอล กอนเตรรัส แพ้ครั้งแรกและได้รับบาดเจ็บซี่โครงหักต้องพักรักษาตัวนาน 1 ปี[42]

28 กุมภาพันธ์ 2530เอ็ลลียัซ ปีกัล อินโดนีเซียสนามกีฬาหลักเกอโลราบุงการ์โน

จาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

ชนะน็อกโดยเทคนิค ยกที่ 14[43]ป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 5

เอ็ลลียัซ ปีกัล หรือ เอ็ลลี ปีกัล แพ้น็อกครั้งแรกและครั้งเดียว หลังจากการชกเอ็ลลีได้รับบาดเจ็บสาหัส สาเหตุจากอาการกระเพาะปัสสาวะแตก

12 ตุลาคม 2530ช็อน บย็อง-กวัน เกาหลีใต้สนามมวยราชดำเนิน

กรุงเทพมหานคร

ชนะน็อกโดยเทคนิค ยกที่ 3ป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 6

ช็อน บย็อง-กวัน แพ้น็อกครั้งแรก

26 มกราคม 2531ก้องธรณี พยัคฆ์อรุณ ไทยสนามมวยเวทีลุมพินี

กรุงเทพมหานคร

ชนะคะแนน 12 ยกป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 7 โดยเป็นครั้งแรกกับนักชกชาวไทยด้วยกัน

และครั้งแรกที่เขาทรายชกครบยกในการป้องกันตำแหน่ง

9 ตุลาคม 2531ชเว ชังโฮ เกาหลีใต้โรงแรมเชอร์เรตัน วอล์กเกอร์ ฮิล โซล ประเทศเกาหลีใต้ชนะน็อกโดยเทคนิค ยกที่ 8ป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 8

ชเว ชังโฮ แพ้น็อกครั้งแรกและครั้งเดียว

15 มกราคม 2532ชาง แทอิล เกาหลีใต้ฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์สมุทรปราการ

จังหวัดสมุทรปราการ

ชนะน็อกโดยเทคนิค ยกที่ 2ป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 9

ชาง แทอิล แพ้น็อกครั้งแรกและครั้งเดียว

8 เมษายน 2532เค็นจิ มัตสึมูระ ญี่ปุ่นโยโกฮามะ คัลเจอร์รัล ยิมเนเซียม โยโกฮามะ

จังหวัดคานางาวะ ประเทศญี่ปุ่น

ชนะคะแนน 12 ยกป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 10
29 กรกฎาคม 2532อัลเบร์โต กัสโตร โคลอมเบียสนามกีฬาศรีณรงค์

จังหวัดสุรินทร์

ชนะน็อกโดยเทคนิค ยกที่ 10 (ยอมแพ้)ป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 11

อัลเบร์โต กัสโตร แพ้น็อกครั้งแรก

31 ตุลาคม 2532เค็นจิ มัตสึมูระ ญี่ปุ่นเวิลด์เมโมเรียลฮอล โคเบะ

จังหวัดเฮียวโงะ ประเทศญี่ปุ่น

ชนะน็อกโดยเทคนิค ยกที่ 12ป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 12

เค็นจิ มัตสึมูระ แพ้น็อกครั้งแรกและเป็นการชกที่เจ็บตัวที่สุดของมัตสึมูระ

29 มีนาคม 2533อาลี บลังกา ฟิลิปปินส์สนามมวยราชดำเนิน

กรุงเทพมหานคร

ชนะน็อก ยกที่ 5ป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 13

อาลี บลังกา แพ้น็อกครั้งแรก

30 มิถุนายน 2533ชุงอิจิ นากาจิมะ ญี่ปุ่นสนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ชนะน็อกโดยเทคนิค ยกที่ 8ป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 14

ชุงอิจิ นากาจิมะ แพ้น็อกครั้งแรก

29 กันยายน 2533คิม ยง-คัง เกาหลีใต้สนามกีฬากลางจังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรีชนะน็อกโดยเทคนิค ยกที่ 6ป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 15

คิม ยง-คัง แพ้น็อกครั้งแรกและครั้งเดียว

9 ธันวาคม 2533เอร์เนสโต ฟอร์ด ปานามาสนามกีฬากลางจังหวัดเพชรบูรรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ชนะน็อก ยกที่ 6ป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 16

เอร์เนสโต ฟอร์ด แพ้น็อกครั้งแรก

7 เมษายน 2534ปาร์ค แจชุก เกาหลีใต้สนามกีฬากลางจังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงครามชนะน็อกโดยเทคนิค ยกที่ 5ป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 17

ปาร์ค แจชุก แพ้น็อกครั้งแรกและครั้งเดียว

20 กรกฎาคม 2534ดาบิด กริมัน เวเนซุเอลาฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์สมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการชนะน็อกโดยเทคนิค ยกที่ 5ป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 18

ดาบิด กริมัน แพ้น็อกครั้งแรกและครั้งเดียว

22 ธันวาคม 2534อาร์มันโด กัสโตร เม็กซิโกกรีฑาสถานแห่งชาติ (สนามกีฬาเทพหัสดิน)

กรุงเทพมหานคร

ชนะคะแนน 12 ยกป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 19
คู่ชกของเขาทราย แกแล็กซี่

ทั้งที่เคยเป็นแชมป์โลกมาก่อน และได้เป็นแชมป์โลกในเวลาต่อมามีทั้งหมด 8 ราย คือ

  1. พัก ชันยัง (Park Chan Young) คู่ชกอุ่นเครื่อง ต่อมาได้แชมป์โลก รุ่นแบนตั้มเวท (118 ปอนด์) WBA
  2. ราฟาเอล โอโรโน (Rafael Orono) อดีตแชมป์โลก รุ่นซูเปอร์ฟลายเวท (115 ปอนด์) WBA สองสมัย
  3. อิสราเอล กอนเตรรัส (Israel Contreras) ต่อมาได้แชมป์โลก รุ่นแบนตั้มเวท (118 ปอนด์) WBO และ WBA
  4. เอ็ลลียัซ ปีกัล (Ellyas Pical) อดีตแชมป์โลก รุ่น 115 ปอนด์ IBF 2 สมัย และต่อมาได้แชมป์ รุ่น 118 ปอนด์ IBF
  5. ชเว ชังโฮ (Chang Ho Choi) อดีตแชมป์โลก รุ่นฟลายเวท (112 ปอนด์) IBF
  6. ชาง แทอิล (Tae-Il Chang) อดีตแชมป์โลก รุ่นซูเปอร์ฟลายเวท (115 ปอนด์) IBF
  7. คิม ยง-คัง (Kim Yong Kang) อดีตแชมป์โลก รุ่นฟลายเวท (112 ปอนด์) WBC และต่อมาได้แชมป์รุ่นฟลายเวท WBA
  8. ดาบิด กริมัน (David Griman) ต่อมาได้แชมป์โลก รุ่นฟลายเวท (112 ปอนด์) WBA

แหล่งที่มา

WikiPedia: เขาทราย_แกแล็คซี่ http://www.boxing.com/my_top_pound_for_pound_fight... http://travel.cnn.com/explorations/none/asias-grea... http://www.ibhof.com/pages/about/inductees/modern/... http://breakingnews.nationchannel.com/read.php?new... http://www.smmsport.com/m/news.php?n=189807 http://news.tlcthai.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B... http://bxhof.tripod.com/galaxy.html http://www.youtube.com/watch?v=JBxtIYTdEdI http://www.dailynews.co.th/sports/193706 http://www.manager.co.th/Sport/ViewNews.aspx?NewsI...