การทำงานหมอลำ ของ เคน_ดาเหลา

พ.ศ. 2489 ได้เกิดโรคระบาดขึ้นในหมู่บ้านคือ โรคผีดาษ หรือ โรคไข้ทรพิษ ระบาดไปทั่วหมู่บ้านในอีสานผู้คนล้มตายมาก ชาวบ้านจึงแยกย้ายกันไปอยู่ตามทุ่งนา ไม่มีการพบปะกันเท่าที่ควร เคน ดาเหลา ก็ได้ไปอาศัยอยู่ที่ทุ่งนาของตน และใช้เวลาว่างนอนท่องกลอนลำเล่น โดยอาศัยการได้สัมผัสจดจำ ลีลาการแสดงและท่องกลอนที่จดจำมาจากหมอลำคง ดาเหลา ซึ่งเป็นพี่ชาย และเป็นหมอลำที่กำลังมีชื่อเสียงในละแวกบ้านของตน และได้ยึดลีลาท่าทางการแสดงและกลอนลำของพี่ชายเป็นหลักในการฝึก จนสามารถลำเองได้โดยไม่มีครูสอนให้

พ.ศ. 2491 หมอลำคง ดาเหลา ผู้เป็นพี่ชายได้เสียชีวิตลงอย่างกระทันหัน จึงได้นำกลอนลำที่ผู้เป็นพี่ชายได้จดบันทึกเอาไว้มาหัดท่องจนสามารถจดจำได้ เมื่อมีการแสดงจึงถูกนำขึ้นเป็นหมอลำแสดงแทนพี่ชายของตน และสามารถแสดงหมอลำกลอนได้เป็นอย่างดี จนได้รับความนิยมในหมู่ชาวอีสานอย่างรวดเร็ว

พ.ศ. 2500 เคน ดาเหลา ได้เริ่มหัดแต่งกลอนลำได้เอง โดยอาศัยวิธีการแต่งตามประสบการณ์ในการลำ และศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมตามแหล่งความรู้ต่างๆ ที่พอจะหาได้ จนสามารถแต่งกลอนเพื่อใช้ลำเอง และลูกศิษย์ได้ใช้ลำมากมาย กลอนลำที่ท่านแต่งจะมีลีลาและจังหวะที่แปลกไปจากกลอนลำของหมอลำอื่นๆ ในด้านเนื้อหาที่หลากหลาย เช่น ในด้านศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณีอีสาน ประวัติศาสตร์ นิทาน กลอนลำ แบบตลก กลอนลำเบ็ดเตล็ด เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้นำเอาสำนวนภาษาอีสาน หรือสำนวนผญาอีสานมาแทรกไว้ในกลอนได้อย่างดียิ่ง จึงทำให้กลอนลำมีเนื้อหาสาระ สัมผัสคล้องจองที่ดี และมีภาษาที่ลึกซึ้งกินใจแก่ผู้ฟังเป็นอย่างยิ่ง กลอนลำได้สอดแทรกด้านเนื้อหาสาระ และสัมผัสตามรูปแบบการประพันธ์ โดยอาศัยประสบการณ์ในการลำและกลอนลำของครูที่ใช้ลำมาเป็นแบบอย่าง นอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่ติดตามข่าวสารเหตุการณ์บ้านเมืองอยู่มิได้ขาด จึงทำให้ผลงานการแต่งกลอนลำของท่าน มีความสัมพันธ์กับสภาพทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างดี

พ.ศ. 2509 เคน ดาเหลา ได้ก่อตั้งโรงเรียนหมอลำที่บ้านหนองเต่า ตำบลเป้า อำเภอตระการพืชผล และสำนักงานหมอลำ (ข้างวัดแจ้ง) อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี และมีลูกศิษย์เดินทางเข้ามาเล่าเรียนเป็นจำนวนมากจนมีชื่อเสียงโด่งดัง อาทิ ทองเจริญ ดาเหลา (บุตรชายของหมอลำคง ดาเหลา) ฉวีวรรณ ดำเนิน และบุญช่วง เด่นดวง เป็นต้น

ต่อมาเคน ดาเหลา ได้เปิดสำนักงานหมอลำร่วมกับหมอลำคำภา ฤทธิทิศ ที่ตำบลหนองบัว อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ลูกศิษย์ที่เดินทางเข้ามาเล่าเรียนในยุคนี้มีบุญเสริม เพ็ญศรี อำพัน สร้อยสังวาลย์ และทองศรี ศรีรักษ์ เป็นต้น

พ.ศ. 2527 มูลนิธิญี่ปุ่น (The Japan Foundation) และบริษัทการกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งญี่ปุ่น (Japan Broadcasting Corporation) ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม ได้เชิญเคน ดาเหลา , บุญเพ็ง ไฝผิวชัย และฉวีวรรณ ดำเนิน ร่วมเดินทางไปทำการเผยแพร่ศิลปะวัฒนธรรมอีสานที่ประเทศญี่ปุ่น

ด้วยการพัฒนาตนเองขึ้นมาเรื่อยๆ จึงทำใหมีลักษณะการลำที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตน ท่วงท่าลีลาการฟ้อน น้ำเสียงก้องกังวาล มีคารมคมคาย ทั้งลำทางสั้น ลำทางยาว ลำเต้ย และลำเบ็ดเตล็ดอื่นๆ มีปฏิภาณไหวพริบเป็นเลิศในเชิงกลอนลำสด ที่เรียกว่า แตกลำ การใช้สำนวนผญาแบบอีสาน สำนวนกลอนที่มีความเฉียบคมลึกถึงใจผู้ฟังแล้วยังประกอบไปด้วยสาระที่น่าสนใจอย่างยิ่ง จนเป็นหมอลำชั้นครูต้นแบบของการแต่งกลอนลำ และลำแม่บทที่เรียกว่า ลำแม่บท 32 ท่า ได้สมบูรณ์แบบที่สุด จึงทำให้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย และมีผู้คนนิยมกันเป็นวงกว้างทั่วภาคอีสาน จนเป็นได้รับการยอมรับในวงการหมอลำทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ขนานนามว่า บรมครูหมอลำ