เครย์ฟิชกับมนุษย์ ของ เครย์ฟิช

เครย์ฟิชมีความสัมพันธ์กับมนุษย์มาแต่อดีต โดยใช้เป็นอาหารมานาน สามารถนำไปปรุงเป็นอาหารได้หลากหลาย โดยมักเป็นอาหารราคาแพงในภัตตาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครย์ฟิชในชนิด Cherax quadricarinatus มีการเพาะพันธุ์ในที่เลี้ยงเป็นการเกษตรกรรมในประเทศออสเตรเลียด้วย สำหรับในประเทศไทย มีการเพาะเลี้ยงกันที่โครงการหลวง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการนำเข้ามาจากออสเตรเลีย ตั้งแต่ พ.ศ. 2548[8]

นอกจากนี้แล้วในปัจจุบัน ยังมีการนิยมนำมาเลี้ยงในตู้ปลาเป็นสัตว์น้ำสวยงามอีกด้วย ทั้งวงศ์ Astacoidea และวงศ์ Parastacoidea โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนิด Procambarus clarkii ที่มีรูปร่างดูบึกบึน แข็งแกร่ง มีการพัฒนาสายพันธุ์จนมีสีสันที่หลากหลาย จากเดิมที่สีตามธรรมชาติ คือ สีแดง กลายมามีสีที่หลากหลาย เช่น สีฟ้า, สีน้ำเงิน, สีน้ำเงินเข้ม, สีขาว หรือ สีส้มและ สีแดงเข้ม เป็นต้น ซึ่งสำหรับในประเทศไทย เครย์ฟิชชนิดนี้มีการเลี้ยงกันมานานแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ปี ในชื่อของ "กุ้งแดง" หรือ "กุ้งญี่ปุ่น" สำหรับในตัวที่มีสีสันหลากหลายออกไปตามที่ได้กล่าวมา ก็เรียกชื่อต่าง ๆ กันไปตามสี เช่น "ไบร์ออเรนจ์", "อิเล็คทริคบลู", "กุ้งฟ้า" หรือ "สโนว์ไวท์" เป็นต้น และต่อมาได้มีการนำเครย์ฟิชชนิด P. clarkii แพทเทิร์นสีแบบ "โกสต์" มาผสมกับแพทเทิร์นสี แบบ "ไบรท์" (สีส้ม) จนเกิดเป็น "โกสต์ส้ม" โดยนักพัฒนาสายพันธุ์กุ้งชาวไทย ซึ่งทำให้นักเพาะกุ้งต่างประเทศ ให้ความสนใจกันมาก และ ในปัจจุบัน เครย์ฟิชชนิด P. clarkii แพทเทิร์นสีต่าง ๆ เพิ่มมามากขึ้นมาเรื่อย ๆ และ มีชื่อการค้าที่แตกต่างกันไป เช่น "วัว", "ด่าง", "ตันโจ" และกลายเป็นสัตว์เลี้ยงสวยงามที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยในต้นปี พ.ศ. 2560 มีการซื้อขายเครย์ฟิชโกสต์ด่างวัวตัวหนึ่งที่จังหวัดนครปฐมด้วยราคาสูงถึงหนึ่งล้านบาท[9]

สำหรับในวงศ์ Parastacoidea สายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงกันก็ได้แก่ Cherax quadricarinatus และ C. tenuimanus เพราะมีสีสันที่หลากหลายในตัวเดียวกัน ทั้งสีฟ้า, สีน้ำตาลอมเขียว หรือ สีน้ำตาลเข้ม เป็นต้น ในประเทศไทยนิยมเรียกว่า "กุ้งเรนโบว์" และชนิด C. sp. "zebra" ซึ่งเป็นชนิดที่ยังไม่ได้รับการตั้งชื่อสายพันธุ์ มีสีสันลำตัวที่สวยงาม มีสีดำเป็นเงาสลับกับลายปล้องสีขาวอมส้ม ก้ามสีขาว ในบางตัวอาจมีก้ามสีน้ำเงินหรือสีม่วงสวยงาม ซึ่งนิยมเรียกว่า "กุ้งม้าลาย" หรือ "กุ้งซีบร้า"[6] และจากความนิยมที่พุ่งขึ้นสูงนี้ทำให้เครย์ฟิชกลายมาเป็นปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับเอเลียนสปีชีส์ ทำให้ในกลางปี พ.ศ. 2560 กรมประมงได้สั่งห้ามนำเข้าเครย์ฟิชทุกชนิด และผู้ที่เพาะเลี้ยงทุกรายต้องขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง และห้ามปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติโดยเด็ดขาด หากฝ่าฝืนมีโทษปรับถึง 1–2 ล้านบาท

นอกจากนี้แล้ว ในโรงงานผลิตเบียร์แห่งหนึ่งทางตอนใต้ของสาธารณรัฐเช็ก ได้ใช้เครย์ฟิชเป็นตัววัดคุณน้ำธรรมชาติจากแหล่งธรรมชาติเพื่อใช้ในการผลิตเบียร์ โดยใช้เครื่องอินฟาเรด-ไบโอเซนเซอร์ติดที่ตัวเครย์ฟิชจำนวน 3 ตัว และปล่อยลงในน้ำที่จะใช้ผลิตเป็นเบียร์ เพื่อดูการเต้นของหัวใจและการเคลื่อนไหวของเครย์ฟิชผ่านการประมวลผลโดยคอมพิวเตอร์ โดยใช้เวลาเพียงแค่ 3 นาทีเท่านั้น ก็จะทราบว่าน้ำนั้นมีสิ่งปนเปื้อนหรือไม่ โดยอุปกรณ์ตัวนี้ปัจจุบันได้ทำการจดลิขสิทธิ์สิ่งประดิษฐ์แล้ว [10]

แหล่งที่มา

WikiPedia: เครย์ฟิช http://www.bayoudog.com/articles/kitchen_stories/m... http://global.oup.com/oxforddnb/info/freeodnb/libr... http://www.sciencedaily.com/releases/2008/02/08020... http://www.itis.gov/servlet/SingleRpt/SingleRpt?se... http://hdl.handle.net/10088%2F1372 //doi.org/10.1651%2F0278-0372(2003)023%5B0418:POFA... //doi.org/10.5479%2Fsi.00810223.38.1 //www.jstor.org/stable/1549646 http://tolweb.org/Astacoidea/6666 http://www.manager.co.th/Local/viewnews.aspx?NewsI...