ประวัติ ของ เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์

เมื่อปี พ.ศ. 2425 ในโอกาสครบรอบการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานีมาเป็นเวลาครบ 100 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้สร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระราชทานนามเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ว่า "เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์" หรือเรียกอย่างย่อว่า "ตรามหาจักรีบรมราชวงศ์" สำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ที่สืบเนื่องโดยตรงในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

ตรามหาจักรีบรมราชวงศ์นี้ มีพระมหากษัตริย์เป็นประธานแห่งเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ และพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งสิ้น 71 สำรับ โดยแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่

  • ฝ่ายหน้า ผู้เป็นใหญ่แห่งเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายหน้า เรียกว่า มหาสวามิศราธิบดี (พระมหากษัตริย์ หรือ พระบรมวงศานุวงศ์ที่โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง) คณะผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายหน้า เรียกว่า คณาภยันดร และผู้ที่ได้รับพระราชทานตราเฉพาะพระองค์ เรียกว่า ภราดร โดยสามารถใช้อักษรย่อ ภ.จ.ก. เขียนท้ายพระนาม เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายหน้า รวมทั้งสิ้น 42 สำรับ
  • ฝ่ายใน ซึ่งผู้เป็นใหญ่แห่งเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายใน เรียกว่า มหาสวามินี (สมเด็จพระบรมราชเทวี) คณะผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายใน เรียกว่า คณาภยันดรี และผู้ที่ได้รับพระราชทานตราเฉพาะพระองค์ เรียกว่า ภคินี โดยสามารถใช้อักษรย่อ ภ.จ.ก. เขียนท้ายพระนาม เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายใน รวมทั้งสิ้น 29 สำรับ

นอกจากนี้ เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์นี้ยังสามารถพระราชทานแก่พระประมุขของต่างประเทศ เรียกว่า กิตติมศักดิ์คณาภยันดร โดยนับแยกจำนวนจากสำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์[1]

อนึ่งตามพระราชบัญญติเครื่องราชอิสริยภรณ์มีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้กำหนดให้มีเจ้าพนักงานสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จำนวน 3 ตำแหน่งคือ ลัญจกราภิบาล, เลขานุการ และ มุรทานุการ

  • ลัญจกราภิบาล - มีหน้าที่รักษาพระราชลัญจกรสำหรับเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ และเป็นผู้ประทับพระราชลัญจกรในพระราชบัญญัติ ประกาศนียบัตรตราตั้ง หนังสือสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ รวมทั้งมีหน้าที่เชิญเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายในการพระราชทาน และสนองพระบรมราชโองการในการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีเครื่องยศเป็นตราลัญจกรห้อยมงกุฎ สวมสายสร้อยทองคำลงยา โดยมี เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เป็นลัญจกราภิบาล เพียงท่านเดียว
  • เลขานุการ - มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยลัญจกราภิบาลในการหนังสือต่าง อ่านประกาศพระบรมราชโองการเมื่อพระราชทาน เรียกคืนเครื่องราชขัตตยิราชอิสริยาภรณ์ ทำบัญชีผู้ได้รับพระราชทาน และจดบันทึกคุณความดีของผู้ได้รับพระราชทาน มีเครื่องยศเป็นรูปจักรี ตรงช่องกรี (ตรี) มีรูปปากไก่ไขว้กันมีรูปปทุมอุณาโลมลงยาราชาวดีด้านบน ห้อยผ้าสีเหลืองสำหรับสวม โดยมีหม่อมเจ้าประภากร มาลากุล เป็นเลขานุการ เพียงพระองค์เดียว
  • มุทรานุการ - มีหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานสำหรับตราอาร์มาหรับนำไปประดับที่พระเก้าอี้ ซึ่งเชิญออกเมื่อมีการประชุมแต่งตั้งคณาภยันดรใหม่ ณ ท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทั้งเป็นผู้ทำบาญชีตระกูลวงศ์ของคณาภยันดร เรียกว่า ”วงษานุจริต” และรับราชการต่าง ๆ ตามแต่มหาสวามิศราธิบดีและมหาสวามินีจะรับสั่ง มีเครื่องยศเป็นรูปจักรีไขว้กัน กลางจักรหว่างตรีข้างขวา มีตราอาร์มแผ่นดิน มีรูปไอยราพต ช้างเผือก และกฤช (กริช) ข้างซ้ายเป็นรูปปทุมอุณาโลมเปล่งรัศมี ในวงกลางดวงตราลงยาราชาวดี มีพระมหามงกุฎด้านบน ห้อยกับแพรแถบสีเหลืองกว้างสองนิ้วสำหรับสวม โดยมีพระยาบำเรอภักดิ์(กร กรสูต) เป็นมุทรานุการ แต่เพียงท่านเดียว

หลังจากนั้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ได้มีการตราพระราชบัญญัติของเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ขึ้นใหม่ โดยลดจำนวนเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์เหลือ 25 สำรับ สำหรับพระมหากษัตริย์ 1 สมเด็จพระบรมราชินี 1 และพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ 23 สำรับ รวมทั้ง ยกเลิกตำแหน่งต่าง ๆ เช่น มหาสวามิศราธิบดี มหาสวามินี ซึ่งพระราชบัญญัติเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ พ.ศ. 2484 นี้ เป็นพระราชบัญญัติของเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ที่ใช้จนถึงปัจจุบัน[2]

เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์จัดเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มีลำดับเกียรติสูงสุด ก่อนที่จะมีการสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์ขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร[3] ปัจจุบัน มหาจักรีบรมราชวงศ์จัดเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มีลำดับเกียรติเป็นลำดับที่สอง รองจากราชมิตราภรณ์ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานแด่ประมุขของต่างประเทศเท่านั้น แต่เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ยังจัดเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดที่พระราชวงศ์จะได้รับพระราชทาน[4]

ใกล้เคียง

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า เครื่องบินขับไล่ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เครื่องคิดเลข เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์

แหล่งที่มา

WikiPedia: เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ http://rirs3.royin.go.th/ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2437/01... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2484/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2485/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2498/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2528/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2536/D/... http://www.cabinet.thaigov.go.th/d_Chakri00.htm https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Order_...