ประวัติ ของ เค้าอิ๋น

เค้าอิ๋นเป็นชาวเมืองเกาหยาง (高陽) ในมณฑลกิจิ๋ว[1] ซึ่งปัจจุบันคืออำเภอเกาหยาง นครเป่าติ้ง มณฑลเหอเป่ย์ เค้าอิ๋นเกิดในตระกูลขุนนางและเป็นบัณฑิตที่มีชื่อเสียงในเวลานั้น ในรัชสมัยจักรพรรดิโจยอยแห่งวุยก๊ก เค้าอิ๋นรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่สำนักคัดเลือกของราชเลขาธิการ (尚書選曹郎 ช่างชูเสฺวี่ยนเฉาหลาง)[2] ภายหลังขึ้นเป็นขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง)[3] ในอุบัติการณ์สุสานโกเบงเหลงเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 249[lower-alpha 1] สุมาอี้ส่งเค้าอิ๋นไปโน้มน้าวโจซองให้นำฎีกาของสุมาอี้ขึ้นถวายจักรพรรดิโจฮอง[5] ภายหลังเค้าอิ๋นขึ้นมามีตำแหน่งเป็นราชเลขาธิการ (尚書 ช่างชู) และผู้บัญชาทหารกลาง (中領軍 จงหลิ่นจฺวิน)[3]

ในปี ค.ศ. 254 เค้าอิ๋นมียศเป็นขุนพลพิทักษ์ภาคเหนือ (鎮北將軍 เจิ้นเป่ย์เจียงจฺวิน) ถืออาญาสิทธิ์ในฐานะแม่ทัพผู้ดูแลราชการทหารทั้งหมดในพื้นที่ทางเหนือของแม่น้ำฮองโห[6] เค้าอิ๋นเป็นมิตรกับแฮเฮาเหียนและลิฮอง[1] แฮเฮาเหียนและลิฮองนั้นวางแผนจะสังหารสุมาสูผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของวุยก๊กแต่ไม่สำเร็จ

ปีเดียวกันนั้น จักรพรรดิโจฮองเสด็จไปที่อำเภอผิงเล่อ (平樂) เพื่อทรงส่งกองกำลังของสุมาเจียวน้องชายของสุมาสู ในเวลานั้นเค้าอิ๋นและเหล่าขุนนางผู้ใหญ่เห็นว่าควรจะใช้โอกาสที่มีการพบปะระหว่างจักรพรรดิโจฮองและสุมาเจียวในการสังหารสุมาเจียวเสีย และวางแผนจะยึดกองกำลังของสุมาเจียวมาใช้โจมตีสุมาสู แต่โจฮองทรงไม่กล้ากระทำการตามแผนดังกล่าว แต่แล้วแผนที่คิดการจะสังหารสุมาเจียวได้รั่วไหลรู้ไปถึงสุมาสู ต่อมาสุมาสูจึงปลดโจฮองจากตำแหน่งจักรพรรดิ[7]

สุมาสูใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้ให้ราชสำนักออกราชโองการปลดเค้าอิ๋นจากตำแหน่ง และพาตัวมามอบต่อเสนาบดีตุลาการ (廷尉 ถิงเว่ย์) ตัวเค้าอิ๋นก็ถูกจับในข้อหาสมคบคิดกับผู้อื่นคิดประทุษร้าย ไม่นานหลังจากนั้นเค้าอิ๋นต้องโทษให้ถูกเนรเทศไปยังเมืองเล่อหลาง (樂浪) จักรพรรดิโจฮองทรงพระกันแสงอำลาเค้าอิ๋น เค้าอิ๋นเสียชีวิตระหว่างเดินทาง[8][9]

บู๊ขิวเขียมและบุนขิมเคยเขียนรายการความผิดของสุมาสูในฎีกาที่ถวายราชสำนัก ความตอนหนึ่งมีการกล่าวถึงเค้าอิ๋นว่า "เมื่อไม่นานมานี้ ผู้บัญชาทหารเค้าอิ๋นใกล้จะได้พิทักษ์ภาคเหนือ ด้วยเงินในคลังที่มอบให้ และ[สุมา]สูถวายฎีกาขอให้ลงโทษ แม้ว่า[เค้า]อิ๋นถูกเนรเทศ แต่ก็ตายด้วยความหิวโหยอยู่ตามทาง แผ่นดินได้ยินเรื่องนี้ ไม่มีใครไม่โศกเศร้า นี่คือความผิดประการที่เก้า"[10]