เจดีย์สำคัญในประเทศไทย ของ เจดีย์

จอมเจดีย์

ในสมัยที่สยามกำลังเปลี่ยนแปลงประเทศเพื่อจะก้าวเข้าไปสู่ความเป็นอารยะในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ ทรงเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปหรือปฏิวัติระเบียบแบบแผนทางประเพณีต่าง ๆ ที่สืบทอดมายาวนานไปในรูปร่างและทิศทางใหม่ที่สอดคล้องกับอุดมคติใหม่จากโลกตะวันตก การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ดังกล่าวนี้ได้ส่งผลกระทบไปยังองค์ประกอบทุกส่วนในสังคมสยามไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเมืองการปกครอง วัฒนธรรมและการดำรงชีวิต รวมถึงงานสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะวัดเบญจมบพิตรได้รับการอธิบายแต่เพียงว่าได้มีการผสมผสานวัสดุและเทคนิคบางอย่างจากตะวันตกเข้ามาเป็นส่วนประกอบเช่น มีการใช้หินอ่อนจากอิตาลีมาเป็นวัสดุบุผิวนอกอาคารหรือการเขียนสีบนกระจกหน้าต่างพระอุโบสถ อันส่งผลทำให้การรับรู้คล้ายกับบานกระจกสีของโบสถ์แบบฝรั่ง แต่สิ่งที่แผงอยู่ในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรยังแสดงถึงความเชื่อ ค่านิยม และอุดมคติของสังคม ณ ช่วงเวลานั้นไว้ด้วย[59]

การเปลี่ยนแปลงทางความคิดในลักษณะนี้ยังปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนจากภาพจิตรกรรมที่ถูกเขียนขึ้นภายใต้แบบแผนอย่างใหม่ภายในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร ถือเป็นภาพสะท้อนอุดมคติเรื่องพื้นที่และเขตแดนสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือภาพเขียนภายในช่องคูหาผนังทั้ง 8 เป็นภาพเขียนที่เกิดจากความคิดของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ถือว่าเป็นชนชั้นนำและความคิดก้าวหน้าสมัยแรกในยุคสมัยนั้น

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นผู้บัญญัติคำว่า จอมเจดีย์ ขึ้นมา โดยตรัสแก่สมเด็จพระวันรัต (กิตตโสภโณเถระ) เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เมื่อ พ.ศ. 2485 ว่า "การที่ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งพระบวรพุทธศาสนา ทำให้มีพุทธสถานกระจายอยู่ทั่วประเทศ มีอายุและแบบศิลปกรรมแตกต่างกันตามคตินิยมและยุคสมัย ในบรรดาปูชนียสถานนับร้อยนับพันมีเพียง 8 แห่งเท่านั้นที่ควรค่าแก่การยกย่องให้เป็น จอมเจดีย์ แห่งสยาม"[60]

จอมเจดีย์ ที่สำคัญของสยามทั้งหมด 8 องค์ โดยกำหนดให้เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2485 โดยว่าจ้างให้กรมศิลปากรออกแบบและเขียน แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2489 ภาพสถูปเจดีย์ทั้ง 8 องค์ ที่กำหนดให้เขียนขึ้นมีดังนี้

  1. พระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน
  2. พระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง
  3. พระมหาธาตุศรีสัชนาลัย
  4. พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม
  5. พระศรีรัตนมหาธาตุละโว้
  6. พระเจดีย์ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  7. พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
  8. พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มิได้ทรงมีอรรถาธิบายถึงเหตุผลแห่งการนำคำว่า จอม มาใช้ หากแต่เราทราบกันดีว่าเป็นพระนามของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระราชบิดาของพระองค์ ราวกับว่าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้คัดเลือกปูชนียสถานที่ทรงคิดว่าสำคัญที่สุดของไทย แล้วเฉลิมนามว่า จอมเจดีย์ เพื่อถวายเป็นพระเกียรติแด่พระบรมราชชนก

เกณฑ์การคัดเลือกจอมเจดีย์มีเงื่อนไขใดบ้าง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ได้ทรงอธิบายถึงความสำคัญของจอมเจดีย์แต่ละองค์ ประกอบเหตุผลไว้โดยย่อดังนี้

  1. พระธาตุหริภุญชัย ลำพูน เหตุเพราะเป็นเจดีย์ที่สร้างก่อนองค์อื่นในแคว้นล้านนาไทย
  2. พระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง เหตุเพราะเป็นเจดีย์องค์แรกในการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย
  3. พระเจดีย์ช้างล้อม ศรีสัชนาลัย เหตุเพราะเป็นเจดีย์ที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงสร้างเฉลิมพระเกียรติ
  4. พระธาตุพนม เหตุเพราะเป็นเจดีย์ที่สร้างก่อนองค์อื่นในภาคอีสาน
  5. พระศรีรัตนมหาธาตุละโว้ เหตุเพราะเป็นสถูปองค์แรกในการประดิษฐานพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานในสยามประเทศ
  6. พระเจดีย์ชัยมงคล พระนครศรีอยุธยา เหตุเพราะเป็นเจดีย์ที่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงสร้างเฉลิมพระเกียรติเมื่อครั้งทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยเหนือพระมหาอุปราชแห่งกรุงหงสาวดี
  7. พระปฐมเจดีย์ เหตุเพราะสร้างเมื่อแรกพระพุทธศาสนาเข้ามาประดิษฐานในสยามประเทศ
  8. พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช เหตุเพราะเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเมื่อพุทธศาสนาลังกาวงศ์สถาปนาในสยามประเทศ

ภาพเขียนสถูปเจดีย์ทั้ง 8 เป็นหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงคติความเชื่อ คือ การเปลี่ยนแปลงลักษณะของจิตรกรรมจากที่เคยเขียนภาพในลักษณะเป็นอุดมคติที่ไม่มีอยู่จริง กลายมาเป็นเขียนภาพของเหตุการณ์ สถานที่ที่มีอยู่จริง มีสัดส่วนที่เหมือนจริง และการใช้สี รูปภาพสถูปเจดีย์ทั้งหมดนั้นต่างล้วนเป็นสถูปเจดีย์ที่มีอยู่จริงในพื้นที่ตามเมืองต่าง ๆ มิใช่สถูปเจดีย์ในอุดมคติหรือความเชื่อในตำนานอีกต่อไปเช่นที่มักเขียนตามฝาผนังพระอุโบสถทั่วไปในอดีต เช่น กรุงลงกา ในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ พระเจดีย์จุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นต้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็คงทรงมีแนวคิดและความเชื่อดังกล่าวอย่างเต็มที่เช่นกัน จึงมีพระราชประสงค์ที่จะให้เขียนภาพสถูปเจดีย์ที่มีอยู่จริงในประเทศสยามมากกว่าที่จะเป็นรูปสถูปเจดีย์ที่สำคัญเพียงในจินตนาการแบบอดีต [61]

อีกทั้งความเปลี่ยนแปลงในคติการครองพื้นที่ คือเมื่อเป็นเจ้าของสถานที่สำคัญในเมืองต่าง ๆ ก็หมายถึงการเป็นเจ้าของเมืองนั้นด้วย เจดีย์ที่ถูกวาดขึ้นยังถือว่าเป็นจอมเจดีย์ที่สำคัญในประเทศสยาม ซึ่งประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับมุมความคิดในเรื่องพื้นที่ถือครองและขอบเขตพระราชอาณาจักรตามอุดมคติแบบใหม่ที่ยึดขอบเขตดินแดนตามที่เป็นจริง มิใช่ขอบเขตที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจเพียงแต่ในนาม ภาพเขียนสถูปเจดีย์ทั้ง 8 เป็นภาพสะท้อนการถือครองพื้นที่ในอุดมคติใหม่ของสยามที่แสดงขอบเขตของอาณาจักอย่างชัดจริง ภาพสถูปเจดีย์ทั้งหมดจึงเป็นการแสดงอุดมคติเรื่องพื้นที่และอาณาเขตที่เป็นจริงตามความคิดแบบตะวันตก เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพระราชอำนาจและพระราชอาณาเขตของประเทศสยาม โดยใช้สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมทางศาสนาที่สำคัญของท้องถิ่นนั้นๆ เป็นตัวชี้ ถึงแม้ว่าจะมิได้เป็นตัวการกำหนดชี้ชัดลงไปในรายละเอียดที่ถูกต้องแบบแผนที่ก็ตาม[62]

พระธาตุเจดีย์

ดูบทความหลักที่: รายชื่อพระธาตุเจดีย์