ประวัติ ของ เจดีย์โบตะทอง

ตามตำนานกษัตริย์มอญนามว่าโอะกะลาปะได้ให้นายทหารระดับแม่ทัพ 1,000 นาย ตั้งแถวถวายสักการะพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าที่พ่อค้าสองพี่น้อง ตปุสสะและภัลลิกะ อัญเชิญมาทางเรือจากประเทศอินเดีย และมาขึ้นฝั่งเมืองตะเกิงหรือดากอง ณ บริเวณนี้เมื่อ 2,000 ปีก่อน จึงสร้างเจดีย์โบตะทองไว้เป็นที่ระลึก พร้อมทั้งแบ่งพระเกศา 1 เส้นมาบรรจุไว้ ก่อนนำไปบรรจุในเจดีย์ชเวดากองและเจดีย์สำคัญอื่น ๆ[4][2][3]

สงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2486 ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เจดีย์ได้ถูกทำลายลงเพราะการทิ้งระเบิดโจมตีท่าเรือย่างกุ้งของกองทัพอากาศอังกฤษเจดีย์ถูกทิ้งไว้ในซากปรักหักพังสีดำ[5][3]

การบูรณะ

การบูรณะเจดีย์เริ่มต้นขึ้นในวันเดียวกันกับที่ประเทศพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษคือ 4 มกราคม พ.ศ. 2491 หลังจากที่นำซากปรักหักพังออกจากพื้นดินแล้วจึงเริ่มกระบวนการขุดที่ความลึกประมาณเจ็ดฟุต เพื่อสร้างฐานรากของเจดีย์องค์ใหม่ มีการขุดค้นเพิ่มเติมบริเวณใจกลางพื้นที่ที่ระดับความลึกสามฟุต พบกรุที่สร้างขึ้นอย่างดีและมีขนาดค่อย ๆ ลดลงจากด้านบน และปรากฏผอบขนาดใหญ่วางกลับด้านครอบทับสิ่งที่อยู่ภายใน ใจกลางกรุพบผอบหินทรงสถูป มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 23 นิ้วและสูง 39 นิ้ว รอบ ๆ ผอบพบรูปนะที่แกะสลักจากศิลาแลงเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์รักษา ผอบถูกพบฝังอยู่ในโคลนเพราะมีน้ำซึมเข้ามาในกรุตลอดช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา[6]

ภายในกรุที่เก็บผอบหินทรงสถูปพบสมบัติล้ำค่าหลายชนิดเช่น อัญมณี, เครื่องประดับ, เพชรพลอย, จารึกดินเผา, และพระพุทธรูปทองคำ, เงิน, ทองเหลือง, หิน พระพุทธรูปจำนวนทั้งหมดภายในและภายนอกผอบราวกว่า 700 องค์ จารึกดินเผาบางส่วนกล่าวถึงการรักษาธรรมและเรื่องราวทางพุทธศาสนา[6]

หนึ่งในแผ่นดินเผาที่ได้จากกรุซึ่งมีรูปพระพุทธรูปและแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากอายุและความชื้นก็ตาม ด้านหลังมีตัวอักษรที่ถูกจารึกไว้ซึ่งใกล้เคียงกับอักษรพราหมีแถบอินเดียตอนใต้ เป็นหลักฐานสำคัญของสมัยโบราณและได้รับการตีความโดย อูลูเปวิน ผู้อำนวยการนักโบราณคดี สมัยรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ซึ่งชี้ให้เห็นคำว่า "e" จาก "evam vadi" แสดงให้เห็นถึงตัวอักษรลักษณะแบบมอญโบราณ เป็นหลักฐานที่พิสูจน์ความเชื่อที่ว่าผู้สร้างเจดีย์ในสมัยโบราณคือชาวมอญ[6]

หลังการประชุมและหารือผู้นำทางศาสนา 15 คน จึงมีมติให้เปิดผอบต่อหน้าทุกคนในคณะกรรมการ การเปิดผอบมีการระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เมื่อผอบหินถูกเปิดพบว่าภายในมีผอบสีทองซ้อนอีกชั้นหนึ่ง เป็นผอบลักษณะคล้ายกับผอบหินภายนอก เป็นทรงสถูปลักษณะคล้ายเจดีย์ ฝีมือประณีต แสดงให้เห็นถึงความเลื่อมใสในศาสนา โคลนบางส่วนได้ซึมมาด้านข้างและฐานชั้นนี้ เมื่อล้างและร่อนด้วยตะแกรงจึงพบหินมีค่า ทอง และอัญมณีรอบฐานชั้นนี้ ผอบชั้นที่สองถูกเปิดภายในพบสถูปทองคำบริสุทธิ์ขนาดเล็กตั้งอยู่บนถาดเงิน และข้างสถูปทองคำมีรูปหินแกะสลักสูง 4½ นิ้ว เป็นฝีมือโบราณขั้นสูง[6]

เมื่อสถูปทองถูกเปิดออกก็พบกระบอกทองคำขนาดเล็ก ยาว 3/4 นิ้ว (19 มิลลิเมตร) มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5/12 นิ้ว (11 มิลลิเมตร) ภายในกระบอกพบพระธาตุขนาดเล็กสององค์ ขนาดเล็กเท่าเมล็ดมัสตาร์ด และสิ่งที่เชื่อว่าเป็นพระเกศาของพระพุทธเจ้า เป็นเส้นพระเกศาม้วนเป็นวงกลมและยึดติดเล็กน้อยกับยางรักที่ซึ่งเห็นเป็นจุดทองฉาบปิดไว้[6]

แหล่งที่มา

WikiPedia: เจดีย์โบตะทอง http://myanmartravelinformation.com/mti-yangon/bot... http://www.triplegem.plus.com/botataun.htm //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... https://www.mmtimes.com/national-news/yangon/3400-... https://myanmartravelinformation.com/yangon-where-... https://ghttp://gothailandgoasean.tourismthailando... https://albinger.me/2016/08/31/yangons-botataung-p... https://web.archive.org/web/20071113002844/http://... https://web.archive.org/web/20090101093817/http://... https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Botaht...