เจ้าชีวิต
เจ้าชีวิต

เจ้าชีวิต

เจ้าชีวิต เป็นพระนิพนธ์ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เดิมทีเขียนขึ้นครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษที่ใช้ชื่อว่า Lords of Life พิมพ์ครั้งแรกในประเทศอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 1960 มีจุดประสงค์ให้ชาวต่างประเทศได้อ่านและรู้จักประเทศไทยดีขึ้น เพราะทรงเห็นว่าหนังสือที่ชื่อ A History of Siam โดย W.A.R. Wood ที่เขียนเรื่องราวประเทศไทยที่ชาวต่างชาติอ่านกันมาก ไม่ได้เขียนอย่างละเอียด[1]ลักษณะการเขียนแบบ การเชื่อมวิธีเขียนพงศาวดารแบบเก่าเข้ากับวิธีการเขียนแบบตะวันตก ที่ให้ความสำคัญกับหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ทั้งข้อมูลจากต่างประเทศ และจากเอกสารเดิมที่เป็นภาษาไทยทั้งที่ตีพิมพ์และยังไม่ตีพิมพ์ ผ่านการตีความและพระวินิจฉัยของพระองค์ รวมถึงข้อมูลที่ทรงได้รับจากประสบการณ์ส่วนพระองค์ในช่วงรัชกาลที่ 6 และ 7 รวมถึงเอกสารส่วนพระองค์ของตระกูลจักรพงษ์ด้วย เนื้อหาเริ่มตั้งแต่ประวัติศาสตร์ชนชาติไทย ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงรัชกาลปัจจุบันที่ พ.ศ. 2502 โดยเน้นบรรยายละเอียดในช่วงปี พ.ศ. 2325-2475 (รัชกาลที่ 1-7) จนกระทั่งพระราชกรณียกิจประจำวันของพระมหากษัตริย์ไทยและเจ้านายองค์สำคัญ ยังมีเนื้อหาครอบคลุมประวัติศาสตร์การเมือง การปกครอง การเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ต่างประเทศสังคม และขนบประเพณีในราชสำนัก โดยเฉพาะระเบียบวิธีการสถาปนายศเจ้านาย[2]หนังสือเล่มนี้ยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน หมวดประวัติศาสตร์[3] ด้านคำวิจารณ์ ส. ศิวรักษ์ วิจารณ์ไว้ใน หกปีจากปริทัศน์ (พ.ศ. 2541) "แม้พระองค์ท่านจะทรงทราบภาษาไทยดีมิใช่น้อย แต่ทรงถนัดภาษาพูดมากกว่าภาษาเขียน สำนวนของท่านจึงออกจะขรุขระอยู่บ้างในทางภาษาหนังสือ และแม้จะทรงถือพระองค์ว่าเป็นเจ้านายอันสูงศักดิ์ แต่ก็ยังคงใช้ราชาศัพท์ผิดให้จับได้ก็หลายแห่ง ยิ่งข้อเท็จจริงด้วยแล้ว มีความผิดพลาดรวมอยู่ด้วยมิใช่น้อย"[4]