คำให้การชาวบ้านดงนาคำ ของ เจ้าพระรามราชปราณีศรีมหาพุทธปริษัท_(ศรี_รามางกูร)

เอกสารประวัติเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก (ท่านเจ้าราชครูขี้หอม) พระเทพรัตนโมลีเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมเรียบเรียง ระบุคำให้การของชาวบ้านดงนาคำออกนามว่าแสนกลางน้อยศรีมงคลและแสนกลางน้อยศรีมุงคุล ช่วงปกครองธาตุพนมกลับตรงสมัยพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชมหาราช (ครองราชย์ราว พ.ศ. ๒๑๘๑-๒๒๓๘) สันนิษฐานศักราชคงคลาดเคลื่อนเนื่องจากห่างสมัยเจ้าอนุวงศ์ ๑๐๐ กว่าปี เนื้อความโดยละเอียดระบุว่า ...ตามคำให้การของชาวบ้านดงนาคำอยู่ในประเทศลาวตรงข้ามกับธาตุพนมซึ่งได้บอกกันสืบต่อ ๆ มาจากบรรพบุรุษว่า เมื่อสร้างยอดพระธาตุเสร็จแล้วเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กได้สั่งให้หัวหน้าข้าโอกาสทั้ง ๓ คนคือแสนกลางน้อยศรีมงคล แสนพนม และแสนนามพาครัวลูกหลานบ่าวไพร่อพยพจากบ้านธาตุพนมไปตั้งภูมิลำเนาอยู่แถวดงนาคำลึกจากฝั่งโขงเข้าไปในฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเขตประเทศลาว ก่อนไปเจ้าราชครูฯ ให้โอวาทว่า "สูเจ้าจุ่งลูกหลานญาติพี่น้องจุ้มเจื้อเชื้อแนวไปสร้างบ้านแปงเฮือน เฮ็ดไฮ่ใส่นาอยู่แถวดงนาคำบ่อนดินดำน้ำซุ่มพุ้น ที่นั้นมีผลหมากไม้บ่ไฮ้บ่อึด มียอดบุ่นยอดหวายเผิ่งมิ้มของป่าของดงก็มาก ที่สร้างแปงไฮ่นาก็กว้างบ่อึดบ่อยาก ให้เคารพยำแยงคุณแก้ว ๓ ประการ อย่าได้ประมาท ให้เอาบั้งจุ้มพระธาตุพนม (ตำนาน) เป็นที่ไหว้สักการะบูชาพิทักษ์ฮักษาอย่าขาด เพื่อให้เป็นเนื้อหนังอุปกรณ์แก่พระชินธาตุเจ้าตามเฒ่าแก่บูฮาณมา ก็หากจักวุฒิสวัสดิ์แก่สูเจ้าทั้งหลายทุกเมื่อหั่นแลฯ" ดังนี้ ส่วนแสนกลางน้อยศรีมุงคุลได้อพยพพวกพร้องไปตั้งอยู่บ้านมะนาว แสนพนมไปตั้งอยู่บ้านดงใน แสนนามพาครอบครัวไปตั้งอยู่บ้านดงนอก ทั้ง ๓ บ้านถือพระบรมธาตุและตำนานพระธาตุเป็นสรณะอันศักดิ์สิทธิ์สืบมาจนบัดนี้ ตำนานพระธาตุพนมที่ชาวดงนาคำได้ไว้นั้น เล่ากันว่าเป็นฉบับดั้งเดิมและละเอียดถูกต้องกว่าฉบับอื่น ๆ จารึกลงในลานทองบรรจุหีบศิลาอย่างดี ต้องเปลี่ยนวาระกันสักการะบูชาบ้านเรือนละ ๓ วัน เวียนกันไป ถือขลังและศักดิ์สิทธิ์จนเข้ากระดูกดำใครไปขอดูก็มิได้ เขาว่าเจ้าเก่านายหลังเขามาพวกเขาจึงจะเอาตำนานนั้นให้ พวกเราก็จะได้ดิบได้ดีเพราะได้สั่งความกันไว้แต่สมัยก่อนโน้น และบอกลักษณะเจ้าเก่าที่จะมานั้นว่า ต้องพิสูจน์โดยการเอาน้ำใส่โอ (ขัน) ใหญ่และให้เหยียบดู ถ้าน้ำไม่ล้นโอก็ใช่ มันเป็นแบบหาหนวดกับเต่าหาเขากับกระต่าย ตายแล้วตายอีกก็คงไม่พบ จึงเป็นการยากที่คนภายนอกจะรู้เคล็ดลับกับเขา บ้านเหล่านี้สันนิษฐานว่าเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กจะสั่งย้ายภายหลัง เมื่อบ้านธาตุพนมแตกครั้งที่สองที่ได้นำเอาข้าโอกาสชาวธาตุลงไปจำปาศักดิ์ตามตำนานพระธาตุพนม...[10]

บ้านดงนาคำเดิมคือบ้านดงนอก ดงใน หรือบ้านดงท่า ดงเทิง และบ้านนาคำ บ้านดงในเดิมชื่อบ้านดงเทิงตั้งคู่กับบ้านดงท่า ปัจจุบันขึ้นกับเมืองอุทุมพอน แขวงสะหวันนะเขด ประชาชนเป็นชาวภูไทที่ตั้งรกรากอยู่เมืองวังอ่างคำและเมืองเซโปนซึ่งเป็นกองข้าอุปัฏฐากพระธาตุพนมมาแต่เดิมเรียกว่าลูกธาตุแล้วอพยพมาตั้งบ้านดงท่าดงเทิง ถือเป็นกลุ่มข้าโอกาสทำหน้าที่รักษากุญแจเปิดปิดประตูพระธาตุพนม ประเพณีโบราณก่อนงานบุญนมัสการพระธาตุพนมต้องส่งคนมาเชิญชาวบ้านดงท่าดงเทิงและชาวบ้านนาวางไปร่วมเปิดพิธี ชาวบ้านนาวางทำหน้าที่รักษาบั้งจุ้มพระธาตุพนมและอุปัฏฐากพระธาตุตุ้มพะวัง (ตุมพะวัง) เดิมบั้งจุ้มเก็บรักษาไว้ในพระธาตุตุ้มพะวังหลังสงครามเวียงจันทน์ในรัชสมัยเจ้าอนุวงศ์สยามนำไปเก็บไว้ที่กรุงเทพฯ ผู้รักษาบั้งจุ้มเรียกว่าข้าบั้งจุ้ม[11] ต่อมาชาวบ้านดงท่าดงเทิงบางส่วนอพยพไปสร้างบ้านนาคำตั้งอยู่หัวน้ำบุยแล้วย้ายมาตั้งที่บุ่งกะสกและย้ายอีกครั้งในที่ตั้งบ้านนาคำปัจจุบัน หลังสงครามเวียงจันทน์ชาวดงท่าดงเทิงบูรณะพระธาตุพนมน้อยหรือพระธาตุท่าพะนมขึ้นเป็นตัวแทนพระธาตุพนม ต่อมายาท่านใหญ่มหางอน ดำลงบุน ประธานองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวลำดับ ๕ เปลี่ยนนามใหม่ว่าพระธาตุท่าพนมปฐมรัตนเจดีย์ ปัจจุบันบ้านดงท่าดงเทิงแบ่งออก ๘ หมู่บ้านคือ บ้านบ้านดงท่า บ้านดงใน บ้านนาคำ บ้านหนองแปน บ้านดงขวาง บ้านตาดขาแดง (ปัจจุบันขึ้นกับเมืองอาดสะพอน) บ้านหนองเขียดเหลือง (ปัจจุบันขึ้นกับเมืองไซบูลี) และบ้านโนนป่าไล่[12]

ใกล้เคียง

เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง โรจนกุล) เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร) เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล)