พระประวัติ ของ เจ้าฟ้าพินทวดี

เจ้าฟ้าพินทวดี เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ประสูติแต่กรมหลวงพิพิธมนตรี ใน คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ระบุว่าพระองค์มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าพิน ต่อมาพระบิดาให้เปลี่ยนพระนามเป็น เจ้าฟ้าพินทวดี[7] แต่ใน คำให้การชาวกรุงเก่า ระบุพระนามว่า เจ้าฟ้าอินทวดี[1] คำให้การขุนหลวงหาวัด ระบุว่าพระชนนีสืบเชื้อสายพราหมณ์จากเมืองเพชรบุรี[8] พระองค์มีพระพี่น้องร่วมพระชนกชนนีแปดพระองค์ ได้แก่ เจ้าฟ้าสิริประชา (หรือประชาวดี), เจ้าฟ้าสิริประภา (หรือประภาวดี), เจ้าฟ้ากษัตรีย์, สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์, เจ้าฟ้าบัวจัน (หรือจันทรวดี), เจ้าฟ้านวน (หรือนุ่ม) และสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร[4]

หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พม่าได้ทำการกวาดต้อนเจ้านายอยุธยา 869 องค์ และผู้สืบเชื้อสายพระราชวงศ์อีก 2,000 คนเศษ แต่ปรากฏว่าเหลือเจ้านายบางส่วนตกค้างที่ค่ายโพธิ์สามต้น และบางส่วนหนีรอดออกไป[9] เจ้าฟ้าพินทวดีถูกกุมขังในค่ายโพธิ์สามต้นไม่ได้ถูกกวาดไปพม่า เพราะทรงพระประชวร โดยถูกจองจำพร้อมกับเจ้านายฝ่ายในจำนวนหนึ่ง[10] ดังปรากฏใน พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ความว่า[11]

"...ในเขตแดนแว่นแคว้นสยามประเทศ เหตุว่าหาเจ้าแผ่นดินจะปกครองบมิได้ เหมือนดุจสัตถันดรกัล์ปและทุพภิกขันดรกัล์ป และพระราชวงศานุวงศ์ ซึ่งเหลืออยู่พม่ามิได้เอาไปนั้น ตกอยู่ ณ ค่ายโพธิ์สามต้นก็มีบ้าง ที่หนีไปเมืองอื่นนั้นก็มีบ้าง และเจ้าฟ้าสุริยา 1 เจ้าฟ้าพินทวดี 1 เจ้าฟ้าจันทวดี 1 พระองค์เจ้าฟักทอง 1 ทั้ง 4 พระองค์นี้ เป็นราชบุตรีพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศ และเจ้ามิตรบุตรีกรมพระราชวัง 1 หม่อมเจ้ากระจาดบุตรีกรมหมื่นจิตรสุนทร 1 หม่อมเจ้ามณีบุตรีกรมหมื่นเสพภักดี 1 หม่อมเจ้าฉิมบุตรีเจ้าฟ้าจีด 1 เจ้าทั้งนี้ตกอยู่กับพระนายกอง ณ ค่ายโพธิ์สามต้น อนึ่งพระองค์เจ้าทับทิมบุตรีสมเด็จพระอัยกานั้น พวกข้าไทพาหนีออกไป ณ เมืองจันทบูร เจ้าตากก็สงเคราะห์รับเลี้ยงดูไว้..."

ภายหลังสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพตีค่ายโพธิ์สามต้นแตก อันเป็นที่สิ้นสุดสงครามกู้กรุงศรีอยุธยา พระองค์ก็ทรงอุปการะเจ้าหญิงอยุธยามาไว้ในราชสำนักธนบุรี ดังปรากฏใน พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ความว่า[11]

"...อนึ่ง ซึ่งพระขัตติยวงศ์ครั้งกรุงเก่านั้น บรรดาเจ้าหญิงทรงพระกรุณาโปรดเลี้ยงไว้ในพระราชวัง และเจ้าฟ้าสุริยา เจ้าฟ้าจันทวดี สองพระองค์นั้นดับสูญสิ้นพระชนม์ ยังอยู่แต่เจ้าฟ้าพินทวดี พระองค์เจ้าฟักทอง พระองค์เจ้าทับทิม ซึ่งเรียกว่าเจ้าครอกจันทบูรนั้น และเจ้ามิตร บุตรีกรมพระราชวัง โปรดให้ชื่อ เจ้าประทุม หม่อมเจ้ากระจาด บุตรีกรมหมื่นจิตรสุนทร โปรดให้ชื่อ เจ้าบุปผา กับหม่อมเจ้าอุบล บุตรีกรมหมื่นเทพพิพิธ หม่อมเจ้าฉิม บุตรีเจ้าฟ้าจีด ทั้งสี่องค์นี้ทรงพระกรุณาเลี้ยงเป็นห้าม..."

หลังผลัดแผ่นดินสู่ยุครัตนโกสินทร์ พระองค์ยังได้รับการถวายพระเกียรติเป็นเจ้าฟ้า ด้วยมีพระชันษาสูงจึงถูกเรียกว่าเจ้าฟ้าหญิงแก่[2] เมื่อเจ้าฟ้าพินทวดีทอดพระเนตรพระราชพิธีโสกันต์ที่จัดขึ้นในแผ่นดินใหม่ ก็ตรัสว่าพระราชพิธีไม่ได้ทำเต็มตามตำราแต่กรุงเก่าสักพระองค์หนึ่ง หากพระองค์ซึ่งเคยทอดพระเนตรการเตรียมการพระราชพิธีต่าง ๆ มาตั้งแต่กรุงเก่าสิ้นพระชนม์ไป คงไม่มีผู้ใดมาชี้แนะแบบแผนพระราชพิธีที่ถูกต้อง พระองค์จึงบันทึกแบบแผนพระราชพิธีการลงสรงโสกันต์ให้เจ้านายพระองค์อื่น ๆ ทรงทราบ[2] เจ้าฟ้าพินทวดีตรัสว่า "จะทำอะไรก็ให้ถามฉันนะ จะได้บอกให้ว่าทำอย่างไร"[6] เมื่อความไปถึงสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ก็ทรงเห็นชอบด้วย จึงก่อสร้างเขาไกรลาศ ยอดเขามีพระมณฑป เบื้องล่างมีสระอโนดาต และต่อท่อไขน้ำออกจากปากสัตว์หิมพานต์ โดยมีพระราชพิธีโสกันต์ในวังหน้าสามครั้งก่อนพระองค์สิ้นพระชนม์[2] หลังจากนั้นใน พ.ศ. 2351 วังหลวงจึงจัดพระราชพิธีโสกันต์ครั้งแรกตามตำราที่เจ้าฟ้าพินทวดีทรงบันทึกไว้คือพระราชพิธีโสกันต์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช[3][12] หลังเจ้าฟ้าพินทวดีสิ้นพระชนม์ไปแล้ว 7 ปี[3]

เจ้าฟ้าพินทวดีสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2344[3] และในหมายรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกกล่าวถึงการพระราชทานเพลิงพระศพเจ้าฟ้ากิม (คาดว่าคือเจ้าฟ้าพินทวดี) ณ เมรุวัดสุวรรณารามราชวรวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2345[13]

ใกล้เคียง

เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ เจ้าฟ้าเสือห่มเมือง เจ้าฟ้าหลวงอัตถวรปัญโญ เจ้าฟ้า เจ้าฟ้าหญิงมกุฎราชกุมารีมณีไลย เจ้าฟ้าชายวงศ์สว่าง มกุฎราชกุมารแห่งลาว เจ้าฟ้าน้อย เจ้าฟ้าอภัยทศ เจ้าฟ้าสิริสุวรรณราชยสสรพรหมลือ เจ้าฟ้าสังวาลย์