การสร้างสรรค์ผลงาน ของ เฉลิม_ม่วงแพรศรี

ผลงานการประพันธ์เพลงใหม่

  นายเฉลิมได้ประพันธ์เพลงใหม่ไว้ 3 เพลง ด้วยกัน คือ    เพลงนพรัตน์  แต่งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2515 เพื่อให้นักศึกษาชุมนุมดนตรีไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปบรรเลงในงานของชุมนุม เป็นเพลงที่มีจังหวะลีลาที่สนุกสนาน    เพลงเฉลิมศิลป์ แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2517 เมื่อครั้งก่อตั้งวงดนตรีคณะเฉลิมศิลป์ เป็นเพลงประจำวง ใช้บรรเลงนำก่อนการบรรเลงเพลงอื่น ๆ เป็นเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ทั้งหมดโดยไม่ได้ยึดทำนองของเพลงใด ๆ เป็นหลัก เพลงนี้เป็นเพลงสำเนียงมอญที่มีลีลาอ่อนหวานและมีสำนวนกลอนที่เป็นแบบฉบับของนายเฉลิมนับเป็นเพลงสองชั้นสั้น ๆ ที่ไพเราะน่าฟังยิ่งอีกเพลงหนึ่ง   เพลงบัวกลางบึงเถา แต่งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2528 โดยได้รับแรงบันดาลใจจากเพลงบัวกลางบึงของวงดนตรี สุนทราภรณ์ ขับร้องโดยนาง มัณฑนา โมรากุล เพลงนี้ต้นฉบับเดิมเป็นเพลงที่มีเนื้อหาเศร้าสร้อย คร่ำครวญ มีท่วงทำนองและเนื้อร้องไพเราะกินใจ ทั้งยังมีลักษณะใกล้เคียงกับเพลงไทยสำเนียงมอญเป็นอย่างมาก ด้วยความชื่นชอบเพลงบัวกลางบึงเป็นการส่วนตัว นายเฉลิมจึงได้นำเพลงนี้มากำหนดให้เป็นอัตราจังหวะสองชั้น และขยายขึ้นเป็นอัตราจังหวะสามชั้น และตัดลงเป็นอัตราจังหวะชั้นเดียวจนครบเป็นเพลงเถา อีกทั้งยังได้ทำทางเปลี่ยนไว้ในทุกอัตราจังหวะ โดยรักษาทำนองเดิมไว้ในอัตราจังหวะสองชั้นเที่ยวแรกทุกประการ ทั้งนี้นายเฉลิมได้ยึดอารมณ์ ลีลา และสำเนียงของเพลงเดิมไว้ให้มากที่สุดเมื่อนำมาทำเป็นเพลงเถา นับเป็นเพลงที่ไพเราะน่าฟังมากอีกเพลงหนึ่ง

นอกเหนือจากการประพันธ์เพลงใหม่ ๆ แล้วนายเฉลิมยังได้ประพันธ์ทำนองทางเปลี่ยนสำหรับการบรรเลงเพลงสองชั้นขึ้นไว้หลายเพลงด้วยกัน เช่น เพลงขึ้นพลับพลา เพลงแขกพราหมณ์ (สำเนียงจีน) เพลงกล่อมนารี เป็นต้น นอกจากนี้ นายเฉลิมยังได้ตัดเพลงแขกมอญชั้นเดียวลงเป็นอัตราจังหวะครึ่งชั้น เพื่อให้นิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บรรเลงออกท้ายเพลงแขกมอญเถาอีกด้วย

ผลงานการประพันธ์ทางเดี่ยวเครื่องดนตรี

นายเฉลิม ม่วงแพรศรี ได้ประพันธ์ทางเดี่ยวสำหรับซอด้วง ซออู้ และซอสามสาย ไว้หลายเพลงด้วยกัน ทางเดี่ยวเหล่านี้เกิดขึ้นจากประสบการณ์การบรรเลงและการเรียนรู้เทคนิคและแนวทางการบรรเลงซอของครูท่านต่าง ๆ อาทิ พระยาภูมีเสวิน หลวงไพเราะเสียงซอ นายเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล และนายประเวช กุมุท

นายเฉลิม ม่วงแพรศรี ได้ประพันธ์ทางเดี่ยวซอโดยใช้กรอบตามขนบนิยมและระเบียบวิธีของดุริยางค์ไทยตามแบบแผนที่สืบทอดกันมา แต่มีลีลาและสำนวนเพลงเป็นของตนเองซึ่งแสดงอัตลักษณ์ทางดนตรีของท่านได้เป็นอย่างดี เพลงที่แต่งทางเดี่ยวไว้มีดังนี้

  1. ทางเดี่ยวซอด้วง ได้แก่ เพลงสารถีสามชั้น เพลงสุดสงวนสามชั้น เพลงนางครวญสามชั้น เพลงหกบทเถา เพลงสร้อยมยุราสามชั้น เพลงสุรินทราหูสามชั้น เพลงนกขมิ้นสามชั้น เพลงม้าย่องสองชั้น เพลงนารายณ์แปลงรูปสามชั้น ฯลฯ
  2. ทางเดี่ยวซออู้ ได้แก่ เพลงสารถีสามชั้น เพลงสุดสงวนสามชั้น เพลงนางครวญสามชั้น เพลงหกบทเถา เพลงสุรินทราหูสามชั้น เพลงนกขมิ้นสามชั้น เพลงพญาโศกสามชั้น ฯลฯ
  3. ทางเดี่ยวซอสามสาย ได้แก่ เพลงสารถีสามชั้น เพลงหกบทเถา เพลงสุรินทราหูสามชั้น เพลงปลาทองสามชั้น เพลงพญาโศกสามชั้น ฯลฯ

ผลงานการประพันธ์บทขับร้อง

เนื่องจากนายเฉลิม ม่วงแพรศรี จบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเลือกเรียนภาษาไทยเป็นวิชาเอก กอปรกับมีความรักในวรรณคดีไทยเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งท่านยังมีความสนใจและชมชอบในการประพันธ์บทร้อยกรอง เมื่อเข้ารับราชการที่วิทยาลัยนาฏศิลป นายเฉลิมจึงได้รับเกียรติให้แต่งบทสำหรับขับร้องประกอบการแสดงในโอกาสพิเศษอยู่เสมอ เช่น บทถวายพระพร บทขับร้องประกอบการแสดงนาฏศิลป บทไหว้ครู ฯลฯ นอกจากการประพันธ์บทขับร้องให้แก่วิทยาลัยนาฏศิลปะแล้ว นายเฉลิมยังประพันธ์บทขับร้องประกอบการแสดงให้แก่หน่วยงานอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ธนาคารทหารไทย เป็นต้น

การสืบสานและสร้างสรรค์วงเครื่องสายประสมปี่มอญและซอสามสาย

แต่เดิมในวงเครื่องสายไม่เคยนำปี่มอญมาประสมวง ผู้ที่คิดทดลองประสมปี่มอญในวงเครื่องสายเป็นท่านแรกคือ นายประสิทธิ์ ถาวร และนายเทียบ คงลายทอง บรรเลงครั้งแรกในการออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ในนามของวิทยาลัยนาฏศิลป โดยขับร้องและบรรเลงเพลงสุดสงวนเถา และเพลงสุรินทราหูสามชั้น มีนักดนตรีที่ร่วมบรรเลงดังนี้ คือ นายเทียบ คงลายทอง - ปี่มอญ, นางสนิทบรรเลงการ (ละเมียด จิตตะเสวี) - ซออู้, นางทองดี สุจริตกุล - จะเข้, นายเฉลิม ม่วงแพรศรี - ซอด้วง, นายบาง หลวงสุนทร - ขลุ่ยเพียงออ, นางอุษา สุคันธมาลัย - ขับร้อง หลังจากออกอากาศไปแล้วปรากฏว่าไพเราะน่าฟังมาก เนื่องจากมีเสียงปี่มอญมาเติมเต็มช่วงเสียงทุ้มที่ขาดหายไปในวงเครื่องสาย ทำให้ได้อารมณ์และลีลาของสำเนียงมอญที่ชัดเจนขึ้น

นายเฉลิม ม่วงแพรศรี มีความประทับใจในการบรรเลงเพลงสำเนียงมอญด้วยวงเครื่องสายประสมปี่มอญเป็นอย่างมาก จึงได้เป็นผู้สืบสานต่อมาและเผยแพร่การบรรเลงในลักษณะนี้อยู่หลายครั้ง โดยท่านได้ถ่ายทอดการบรรเลงและปรับวงเครื่องสายประสมปี่มอญให้กับลูกศิษย์ในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ รวมทั้งแสดงเผยแพร่สู่สาธารณชนตามโอกาสอันควรอยู่หลายครั้งหลายหน ในระยะหลังได้ประสมซอสามสายเข้าไปในวงอีกชิ้นหนึ่ง เพื่อช่วยให้มีเสียงคลอร้องและเชื่อมเสียงปี่มอญกับเครื่องสายให้กลมกลืนกันยิ่งขึ้น การบรรเลงเพลงสำเนียงมอญด้วยวงเครื่องสายประสมปี่มอญและซอสามสายนี้ทำให้ได้อรรถรสของเพลงไทยสำเนียงมอญเป็นอย่างยิ่ง

ใกล้เคียง