สภาพพลาสติกของระบบประสาท ของ เซลล์ประสาทรับความรู้สึก

เริ่มตั้งแต่ที่นักวิทยาศาสตร์สังเกตเห็นการสร้างวงจรประสาทใหม่ในสมองของลิง ในการทดลองของนักวิจัยทอบ ที่เมืองซิลเวอร์ สปริง รัฐแมรีแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็มีงานวิจัยมากมายเกี่ยวกับสภาพพลาสติกของระบบรับความรู้สึก และได้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในการรักษาโรคของระบบรับความรู้สึก เทคนิคเช่น การรักษาด้วยการเคลื่อนไหวมีอวัยวะถูกรัด (constraint-induced movement therapy[21]) ที่พัฒนาโดยทอบ ได้ช่วยคนไข้ที่มีแขนขาอัมพาต ให้ได้ใช้แขนขาเหล่านั้นอีก โดยบังคับให้ระบบรับความรู้สึกสร้างวิถีประสาทใหม่ แทนที่วิถีที่ถูกทำลายไปเพราะโรค[22]

กลุ่มอาการหลงผิดว่าแขนขายังคงอยู่ (phantom limb syndrome) เป็นโรคระบบรับความรู้สึกที่คนไข้ที่ถูกตัดแขนขาออก มีความรู้สึกว่าแขนขาที่ถูกตัดออกไปแล้วนั้น ยังมีอยู่ และอาจจะยังมีความรู้สึกเจ็บปวดที่อวัยวะนั้น กล่องกระจกที่พัฒนาโดยรามจันทรัน ได้ช่วยเปลื้องคนไข้ที่มีภาวะนี้จากความรู้สึกเจ็บปวดในอวัยวะที่ไม่มีเหล่านั้น

กล่องกระจกเป็นอุปกรณ์ง่าย ๆ ซึ่งใช้กระจกเงาในกล่องเพื่อสร้างภาพลวงตาที่ระบบรับความรู้สึกเข้าใจว่า มันเห็นมือ 2 มือแทนที่จะเห็นแค่มือเดียว และดังนั้น เปิดโอกาสให้ระบบรับความรู้สึกควบคุม "อวัยวะผี" นั้น เมื่อทำอย่างนี้ ระบบรับความรู้สึกสามารถสร้างความคุ้นเคยกับความไม่มีของอวัยวะนั้น และในที่สุดก็ช่วยระงับอาการของภาวะนี้[23]