เซอร์รัส
เซอร์รัส

เซอร์รัส

เซอร์รัส (อังกฤษ: cirrus) เป็นเมฆสกุลหนึ่งที่มีลักษณะเป็นริ้วบาง ๆ คล้ายปอยผม จึงได้ชื่อมาจากภาษาละติน cirrus ที่แปลว่า ลอนผม[1] เมื่อมองจากพื้นโลกจะเห็นเป็นสีขาวถึงเทา เซอร์รัสมีอักษรย่อคือ Ci และบางครั้งรู้จักในชื่อ "เมฆหางม้า" (mares' tails) ตามลักษณะที่ปรากฏ[2]เมฆเซอร์รัสเป็นเมฆระดับสูง ก่อตัวในชั้นโทรโพสเฟียร์ที่ระดับความสูงประมาณ 20,000–40,000 ฟุต (6,000–12,000 เมตร) ในช่วงที่มีสภาพอากาศแห้ง ทำให้ไอน้ำเกิดการระเหิดกลับไปเป็นผลึกน้ำแข็ง[3] นอกจากนี้ยังสามารถเกิดจากคอนเทรล เมฆคิวมูโลนิมบัส และพายุหมุนเขตร้อน เนื่องจากเซอร์รัสเกิดจากสภาพอากาศที่ไม่เสถียร ทำให้บางครั้งสามารถใช้พยากรณ์ได้ว่าสภาพอากาศจะไม่ดี โดยทั่วไปเมฆเซอร์รัสไม่ก่อให้เกิดฝนตก แต่อาจก่อให้เกิดน้ำโปรยฐานเมฆ ซึ่งเป็นหยาดน้ำฟ้าที่ระเหยไปก่อนจะตกถึงพื้น เมฆเซอร์รัสสามารถแสดงปรากฏการณ์ทางแสง เช่น ซันด็อก และเฮโล เมื่อแสงอาทิตย์ส่องกระทบเมฆแล้วเกิดการเลี้ยวเบนของแสง เกิดเป็นวงแหวนสีรุ้ง[4]เมื่อเซอร์รัสแต่ละก้อนขยายรวมกันเป็นเนื้อเดียวจะกลายสภาพเป็นเมฆเซอร์โรสเตรตัส ซึ่งเป็นเมฆที่เกิดจากผลึกน้ำแข็ง ปรากฏเป็นผืนบาง ๆ บนท้องฟ้า[5] หากเกิดการถ่ายเทความร้อนในชั้นบรรยากาศ เมฆเซอร์รัสสามารถกลายสภาพเป็นเมฆเซอร์โรคิวมูลัส ซึ่งเป็นเมฆที่เกิดจากผลึกน้ำในสถานะเย็นยวดยิ่ง มีลักษณะเป็นกลุ่มก้อน[6]