การคัดค้าน ของ เฏาะลากสามครั้งในอินเดีย

หญิงมุสลิมไม่เห็นด้วยกับการหย่าแบบเฏาะลากสามครั้ง[22] หญิงบางคนฟ้องคดีเพื่อประโยชน์ส่วนรวมต่อศาลสูงสุดอินเดีย โดยพรรณนาว่า เป็นวิถีประพฤติที่ "ล้าหลัง" (regressive)[16] โดยผู้ฟ้องคดีขอให้เพิกถอนมาตรา 2 ของรัฐบัญญัติให้ใช้กฎหมายบุคคลมุสลิม (ชะรีอะฮ์) ค.ศ. 1937 ที่ยอมให้มีการหย่าดังกล่าว อ้างว่า ขัดต่อมาตรา 14 ของรัฐธรรมนูญอินเดีย ซึ่งว่าด้วยความเสมอภาคกันในทางกฎหมาย[23]

วันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 2016 ศาลสูงอัลลอฮาบาด (Allahabad High Court) จึงวินิจฉัยว่า การหย่าแบบเฏาะลากสามครั้งขัดต่อรัฐธรรมนูญและละเมิดสิทธิสตรีมุสลิม[24][25]

ครั้นเดือนมีนาคม ค.ศ. 2017 กลุ่มอิสลามในสังกัดกลุ่มชาตินิยมฮินดูที่ชื่อ ราษฏรียสวยัมเสวกสังฆ์ (Rashtriya Swayamsevak Sangh) ล่ารายชื่อเรียกร้องให้ยุติการหย่าแบบเฏาะลากสามครั้ง มีชาวมุสลิมในอินเดียร่วมลงชื่อสนับสนุนกว่าหนึ่งล้านคน[26] วันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 2017 นักบวชผู้ใหญ่ในศาสนาอิสลามบางคนออกแถลงการณ์ว่า การหย่าดังกล่าว "ไม่ใช่ของอิสลาม" (un-Islamic) เป็นแต่เครื่องมือกดขี่สตรี[27][28]

คดีข้างต้นไปถึงศาลสูงสุดอินเดียใน ค.ศ. 2017 ผู้รับผิดชอบเป็นองค์คณะซึ่งประกอบด้วยตุลาการห้าคนที่หลากความเชื่อและศาสนา[29][30] ตุลาการสองคนเห็นว่า การหย่าโดยแจ้งเฏาะลากสามครั้งรวดเดียวนั้นไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ตุลาการอีกสามคนเห็นว่า ขัด จึงเกิดคำวินิจฉัยด้วยเสียงข้างมากสามต่อสอง[31] องค์คณะตุลาการยังกำหนดให้รัฐบาลกลางตรากฎหมายเกี่ยวกับการสมรสและการหย่าของชาวอิสลามเสียใหม่ภายในหกเดือน[32] แต่จนกว่าจะมีกฎหมายใหม่ องค์คณะตุลาการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยห้ามแจ้งเฏาะลากสามครั้งเพื่อหย่า[33][34]

แหล่งที่มา

WikiPedia: เฏาะลากสามครั้งในอินเดีย http://www.business-standard.com/article/news-ani/... http://www.cnn.com/2017/03/17/asia/triple-talaq-pe... http://www.dnaindia.com/mumbai/report-muslim-schol... http://m.hindustantimes.com/india-news/lucknow-mus... http://www.hindustantimes.com/india-news/ahead-of-... http://www.india.com/news/india/triple-talaq-all-i... http://indianexpress.com/article/india/triple-tala... http://indianexpress.com/article/opinion/columns/s... http://timesofindia.indiatimes.com/india/cleric-tr... http://timesofindia.indiatimes.com/india/muslims-h...