การใช้ทางการแพทย์ ของ เดกซาเมทาโซน

ขวดยาฉีดเดกซาเมทาโซนฟอสเฟต

ต้านการอักเสบ

เดกซาเมทาโซน ใช้รักษาอาการอักเสบและแพ้ภูมิตัวเองหลายอย่าง เช่นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และหลอดลมหดเกร็ง[8] สำหรับโรคเกล็ดเลือดต่ำโดยไม่มีสาเหตุ (Idiopathic thrombocytopenic purpura) ซึ่งจำนวนเกล็ดเลือดลดลงเนื่องจากปัญหาภูมิคุ้มกัน ขนาดยาที่ให้คือ 40 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลาสี่วัน ยาอาจจะออกฤทธิ์ในวัฏจักร 14 วัน ไม่มีความชัดเจนว่าเดกซาเมทาโซน ดีกว่ากลูโคคอร์ติคอยด์อื่น ๆ หรือไม่ สำหรับภาวะของโรคนี้[9]

มีการให้ยาในปริมาณน้อย[10] ก่อนและ/หรือ หลังการผ่าตัดทางทันตกรรมบางรูปแบบเช่น การถอนฟันกรามซี่สุดท้าย ซึ่งการผ่าตัดมักจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการบวมบริเวณแก้ม

โดยทั่วไปแล้วเดกซาเมทาโซน จะใช้ในการรักษาอาการอักเสบของกล่องเสียงและหลอดลมในเด็กที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ เนื่องจากการฉีดเพียงครั้งเดียวสามารถลดอาการบวมของทางเดินหายใจ เพื่อแก้ไขและลดอาการหายใจไม่สะดวก[11]

เดกซาเมทาโซนถูกฉีดเข้าไปในส้นเท้าเพี่อรักษาโรครองช้ำ (plantar fasciitis) บางครั้งใช้ร่วมกับ triamcinolone acetonide

ยาใช้ประโยชน์ในการรับมือกับอาการแพ้ที่เกิดภาวะแอนาฟิแล็กซิส โดยให้ยาในปริมาณสูง

ยามีในรูปแบบยาหยอดตาซึ่งใช้โดยเฉพาะหลังจากการผ่าตัดตา - และในแบบสเปรย์พ่นจมูกและยาหยอดหู (สามารถใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะและยาต้านเชื้อรา) การฝังยาเดกซาเมทาโซน (ในรูปของแข็ง) เข้าในน้ำวุ้นตา (Dexamethasone intravitreal steroid implants) ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาสหรัฐในการรักษาพยาธิสภาพของตาเช่น อาการจุดภาพชัดบวมจากเบาหวานเข้าจอตา (diabetic macular edema), โรคหลอดเลือดดำจอประสาทตาอุดตัน (central retinal vein occlusion) และภาวะม่านตาอักเสบ (uveitis)[12] นอกจากนี้ยังมีการใช้เดกซาเมทาโซน ร่วมกับยาปฏิชีวนะในการรักษาการติดเชื้อภายในลูกตาเฉียบพลัน (acute endophthalmitis)[13]

เดกซาเมทาโซน ใช้ในการใส่สายเครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจผ่านทางหลอดเลือดดำ นำไปสู่การลดการตอบสนองการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ สเตอรอยด์จะถูกปล่อยเข้าสู่กล้ามเนื้อหัวใจทันทีที่สกรูบริเวณปลายสายยื่นออกมา และสามารถมีบทบาทสำคัญในการลดการกระตุ้นหัวใจอย่างฉับพลันเนื่องจากการตอบสนองต่อการอักเสบลดลง ปริมาณทั่วไปที่ใช้สำหรับนำยาไปในปลายสายคือน้อยกว่า 1.0 มิลลิกรัม

อาจมีการให้ยาเดกซาเมทาโซนก่อนยาปฏิชีวนะ ในกรณีของเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ยาทำหน้าที่เพื่อลดการตอบสนองการอักเสบของร่างกายต่อแบคทีเรียที่ถูกฆ่าโดยยาปฏิชีวนะ (การตายของแบคทีเรียปล่อยสารตั้งต้นชักนำการอักเสบซึ่งนำไปสู่การตอบสนองที่เป็นอันตราย) จึงลดการสูญเสียการได้ยินและความเสียหายทางระบบประสาท[14]

เดกซาเมทาโซนฟอสเฟตสำหรับฉีด

โรคมะเร็ง

ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัดมักได้รับยาเดกซาเมทาโซน ในการต่อต้านผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยยาต้านมะเร็ง เดกซาเมทาโซนสามารถเพิ่มฤทธิ์ต้านอาการคลื่นไส้และอาเจียนจากสารต้านตัวรับเซโรโทนิน 5 เอชที 3 (5-HT3) เช่น ยาออนดานเซตรอน (Ondansetron)[15] กลไกที่แน่นอนของปฏิสัมพันธ์นี้ไม่ได้ถูกนิยามไว้อย่างดี แต่ก็มีทฤษฎีที่ว่าผลที่เกิดขึ้นนี้อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ หลายประการ เช่น การยับยั้งการสังเคราะห์โพรสตาแกลนดิน, ฤทธิ์ต้านการอักเสบ, ฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน, การลดการหลั่งโอปิออยด์ในร่างกาย หรือการรวมกันของสาเหตุดังกล่าว[16]

โรคมะเร็งสมอง (ในชนิดปฐมภูมิ หรือในชนิดแพร่กระจาย) เดกซาเมทาโซนถูกใช้เพื่อต่อต้านพัฒนาการของอาการบวมน้ำ ซึ่งในที่สุดสามารถบีบอัดโครงสร้างสมองอื่น ๆ และยายังถูกใช้ในกรณีไขสันหลังถูกกดจากเนื้องอก

เดกซาเมทาโซน ยังใช้เป็นยาเคมีบำบัดโดยตรงในมะเร็งโลหิตวิทยาบางชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิโลมา ซึ่งจะใช้ยาเดกซาเมทาโซนเพียงอย่างเดียว หรือใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดอื่น ๆ รวมถึงที่มีการใช้เป็นส่วนใหญ่มักจะใช้ร่วมกับ ทาลิโดไมด์ (thalidomide; Thal-dex), เลนาลิโดไมด์ (lenalidomide), บอร์ทิโซมิบ (bortezomib; Velcade, Vel-dex)[17] หรือกับยาสูตรรวมของ ดอกโซรูบิซิน (doxorubicin; Adriamycin) และ วินคริสติน (vincristine) หรือใช้เป็นยาสูตรรวม bortezomib/lenalidomide/dexamethasone

ภาวะของต่อมไร้ท่อ

เดกซาเมทาโซนใช้ในการรักษาความผิดปกติที่หายากมากของการดื้อต่อ กลูโคคอร์ติคอยด์ (glucocorticoid)[18][19]

ในต่อมหมวกไตและโรคแอดดิสันมีการสั่งจ่ายยาเดกซาเมทาโซน เมื่อผู้ป่วยมีการตอบสนองที่ไม่ดีกับยากลุ่มเพรดนิโซน (Prednisone) หรือยา เมทิลเพรดนิโซโลน (Methylprednisolone)

สามารถใช้ในภาวะต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนมากผิดปรกติแต่กำเนิด (congenital adrenal hyperplasia) ในผู้ป่วยที่เป็นวัยรุ่นตอนปลายและวัยผู้ใหญ่ เพื่อลดการสร้างฮอร์โมนอะดริโนคอร์ติโคโทปิก (ACTH) โดยทั่วไปแล้วจะให้ยาก่อนนอนในเวลากลางคืน[20]

ในหญิงตั้งครรภ์

อาจให้ยาเดกซาเมทาโซน กับหญิงที่เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดเพื่อสนับสนุนการเจริญของปอดของทารกในครรภ์ การใช้ยานี้ซึ่งให้จนถึงหนึ่งสัปดาห์ก่อนคลอด พบว่าสัมพันธ์กับภาวะที่มีน้ำหนักแรกคลอดต่ำ ถึงแม้ว่าจะไม่เพิ่มอัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิด[21]

นอกจากนี้ยังใช้เดกซาเมทาโซนนอกข้อบ่งใช้ (off-label) ในการรักษาระหว่างการตั้งครรภ์สำหรับอาการต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนมากผิดปรกติแต่กำเนิด (congenital adrenal hyperplasia; CAH) ในทารกเพศหญิง ภาวะ CAH ทำให้เกิดความหลากหลายของความผิดปกติทางร่างกาย โดยเฉพาะความไม่ชัดเจนของอวัยวะเพศ การรักษาอาการ CAH ก่อนคลอดตั้งแต่แรก ๆ ได้แสดงการลดอาการ CAH บางอย่าง แต่ไม่ได้รักษาความผิดปกติแต่กำเนิดมูลฐาน การใช้แบบนี้เป็นที่ถกเถียงกันว่า เป็นการศึกษาที่ไม่เพียงพอ ประมาณหนึ่งในสิบของทารกในครรภ์ของผู้หญิงที่ได้รับการรักษานั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะดังกล่าว และมีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรง[22] การทดลองใช้เดกซาเมทาโซนในหญิงตั้งครรภ์ เพื่อรักษาทารกในครรภ์ที่มีภาวะ CAH ถูกยกเลิกในสวีเดน เมื่อผู้ป่วยหนึ่งในห้ารายมีอาการไม่พึงประสงค์[23]

การทดลองทางคลินิกขนาดเล็กพบว่ามีผลระยะยาวต่อความจำในการใช้ภาษาในกลุ่มเล็ก ๆ ของเด็กที่ได้รับการรักษาก่อนคลอด แต่ไม่สามารถสรุปผลได้เนื่องจากขนาดของการทดลอง[24][25]

กลุ่มอาการเจ็บป่วยจากการขึ้นที่สูง

เดกซาเมทาโซน ใช้ในการรักษาภาวะสมองบวมจากการอยู่ในพื้นที่สูง (high-altitude cerebral edema; HACE) รวมถึงภาวะปอดบวมน้ำจากการอยู่ในพื้นที่สูง (high-altitude pulmonary edema; HAPE) เป็นปกติที่มีการนำยานี้ติดตัวไปด้วยในคณะนักปีนเขา เพื่อช่วยให้นักปีนเขาจัดการกับภาวะแทรกซ้อนของการเจ็บป่วยจากระดับความสูง[26][27]

อาการคลื่นไส้และอาเจียน

การให้ยาเดกซาเมทาโซน ทางหลอดเลือดดำมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการคลื่นไส้และอาเจียนในผู้ที่ได้รับการผ่าตัด และมีอาการปวดหลังการผ่าตัด โดยให้ร่วมกับยาโอปิออยด์ที่ออกฤทธิ์ยาวทางไขสันหลังหรือช่องเหนือไขสันหลัง[28]

การรวมกันของเดกซาเมทาโซน และสารต้านตัวรับเซโรโทนิน 5 เอชที 3 เช่น ออนดานเซตรอน (Ondansetron) มีประสิทธิภาพมากกว่าสารต้านตัวรับ 5-HT3 เพียงอย่างเดียวในการป้องกันอาการคลื่นไส้และอาเจียนหลังการผ่าตัด[29]

เดกซาเมทาโซน เมื่อใช้เป็นยาแก้อาเจียนระหว่างการผ่าตัด ไม่ปรากฏว่าเพิ่มอัตราการติดเชื้อที่แผล และไม่มีความชัดเจนว่ายามีผลต่อการหายของแผล[30]

อาการเจ็บคอ

การให้ยาเดกซาเมทาโซนครั้งเดียว หรือยาสเตอรอยด์อื่น ช่วยเพิ่มความเร็วในการหายจากอาการเจ็บคอ[31]

แหล่งที่มา

WikiPedia: เดกซาเมทาโซน http://www.chemspider.com/Chemical-Structure.5541.... http://reference.medscape.com/drug/decadron-dexame... http://paramedic-info.com/PDA/index.html http://content.time.com/time/health/article/0,8599... http://www.wedgewoodpharmacy.com/monographs/trichl... http://www.ema.europa.eu/ema/index.jsp?curl=/pages... http://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/lookup.cfm?se... //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/10824073 //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/11275014 //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/12437261