พระราชประวัติ ของ เดซีเร_คลารี_สมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดนและนอร์เวย์

ช่วงต้นพระชนม์ชีพและครอบครัว

พระบรมสาทิสลักษณ์ของพระนางเดซีเรในช่วงวัยดรุณีวาดโดยโรแบร์ เลฟอีเร

เดซีเร คลารีประสูติที่ มาร์แซย์ ฝรั่งเศส เป็นบุตรีของฟรองซัวส์ คลารี (เกิดที่มาร์แซย์, แวงต์เฟร์เรออล, 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1725 - เสียชีวิตที่มาร์แซย์, 20 มกราคม ค.ศ. 1794) เป็นพ่อค้าและผู้ผลิต ผ้าไหมที่มั่งคั้ง กับภริยาคนที่สองของเขา (สมรสกันเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1759) ฟรองซัวส์ โรเซ โซมิส (เกิดที่มาร์แซย์, แวงต์เฟร์เรออล, 30 สิงหาคม ค.ศ. 1737 - เสียชีวิตที่ปารีส, 28 มกราคม ค.ศ. 1815) ซึ่งเขาเคยสมรสมาก่อนที่มาร์แซย์ ในวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1751 กับกาเบรียล เฟลชง (เกิดค.ศ. 1732 - เสียชีวิต 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1758) โดยไม่มีทายาท พี่สาวของเธอคือ จูลี คลารีได้สมรสกับโจเซฟ โบนาปาร์ต และหลังจากนั้นได้กลายเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งเนเปิลส์และสเปน น้องชายของเดซีเรคือ นิโกลัส โจเซฟ คลารี ได้รับการแต่งตั้งเป็นกงเตคลารีที่ 1 (1st Comte Clary) และสมรสกับแอนน์ ฌานน์ โรแยร์ ซึ่งมีธิดาหนึ่งคนคือ ซีไนเด ฟรองซัวส์ คลารี (เกิดที่ปารีส 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1812 - เสียชีวืตที่ปารีส 27 เมษายน ค.ศ. 1884) เป็นภริยาของนโปเลียน เบอติเอร์ เดอ วากรัม ดยุกที่ 2 แห่งวากรัม (เกิด 10 กันยายน ค.ศ. 1810 - เสียชีวิต 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1887) เป็นบุตรชายในนายพลหลุยส์-อาแล็กซ็องดร์ แบร์ตีเย และมีทายาท (ซึ่งเชื้อสายนี้มีคนหนึ่งเป็นภริยาคนแรกของฌออากีม เจ้าชายมูว์ราที่ 4)

เดซีเรได้รับการศึกษาจากคอนแวนต์ซึ่งมักจะเป็นสถานศึกษาสำหรับบุตรสาวของตระกูลชนชั้นสูงในฝรั่งเศสยุคก่อนการปฏิวัติ แต่ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 คอนแวนต์ได้ถูกปิด[3] และเดซีเรเดินทางกลับไปอยู่กับบิดามารดา การศึกษาของเดซีเรได้ถูกบรรยายว่าตื้นเขิน[4] เธออุทิศให้กับครอบครัวของเธอตลอดทั้งชีวิต ในปีค.ศ. 1794 บิดาของเธอเสียชีวิต หลังจากนั้นไม่นานมีการค้นพบว่าเขาได้ขอร้องให้สถานะของครอบครัวสูงขึ้นก่อนที่จะเกิดการปฏิวัติ (คำขอถูกปฏิเสธ) ด้วยเหตุนี้ เอเตียง พี่ชายของเธอ ซึ่งเป็นหัวหน้าของครอบครัวและเป็นผู้ปกครองของเธอ ได้ถูกจับกุมที่บ้านของบิดาโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิวัติ ตามเรื่องราวเดิม เธอพร้อมกับซูซาน พี่สะใภ้ได้เดินทางไปพบหัวหน้ากรมตำรวจ อัลบิตเต เพื่อร้องขอให้ปล่อยตัวพี่ชายของเธอ ในห้องรับรอง เธอได้เผลอหลับไปและได้ถูกลืมโดยผู้คนได้ยกย่องซูซานที่ทำความตั้งใจได้สำเร็จ เธอพบกับโจเซฟ โบนาปาร์ตซึ่งเดินทางมายังบ้านของเธอ โจเซฟได้แนะนำตัวกับครอบครัวของเธอ และปนะนำให้มีการหมั้นระหว่างโจเซฟและเดซีเร และนโปเลียน โบนาปาร์ตก็ได้แนะนำตัวกับครอบครัว มีรายงานว่านโปเลียนได้แนะนำโจเซฟว่า โจเซฟควรหมั้นกับพี่สาวของเธอคือ จูลี คลารี ในขณะที่เขาจะหมั้นกับเดซีเร ข้อเสนอนี้ได้รับการตกลงจากคนสี่คนที่เกี่ยวข้อง โจเซฟสมรสกับจูลี และเดซีเรหมั้นกับนโปเลียน โบนาปาร์ต ในวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1795 ในระหว่างปีค.ศ. 1795 - 1797 เดซีเรอยู่อาศัยกับมารดาที่เจนัว อิตาลี ที่ซึ่งโจเซฟ พี่เขยของเธอได้มาปฏิบัติภารกิจทางการทูต พวกเขาจึงมาร่วมกับตระกูลโบนาปาร์ต ในปีค.ศ. 1795 นโปเลียนได้มีความสัมพันธ์กับโฌเซฟีน เดอ โบอาร์แน เขาได้ถอนหมั้นเดซีเรในวันที่ 6 กันยายน ซึ่งทำให้เธอเป็นอิสระจากคำสัญญาในการแต่งงานและเขาสมรสกับโฌเซฟีนในปีค.ศ. 1796

ในปีค.ศ. 1797 เดซีเรเดินทางไปยังโรม พักอาศัยกับจูลี พี่สาวของเธอและโจเซฟ พี่เขย ซึ่งเป็นทูตฝรั่งเศสประจำรัฐสันตะปาปา ความสัมพันธ์ของเธอกับจูลียังคงแนบแน่นและลึกซึ้ง เธอได้หมั้นช่วงสั้นๆกับมาทูแรง-ลีโอนาร์ด ดูโปต์ นายพลชาวฝรั่งเศส การหมั้นได้รับการจัดการโดยนโปเลียนไม่มากก็น้อย ซึ่งต้องการชดเชยเธอด้วยการจัดการแต่งงาน และดูโปต์ก็สนใจสินสอดและสถานะที่เป็นน้องสะใภ้ในนโปเลียนของเธอ เธอตกลงที่จะหมั้นอย่างไม่เต็มใจ เพราะเป็นที่รู้กันว่าดูโปต์มีคู่รักที่คบหาอย่างยาวนานและมีบุตรชาย ในวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 1807 ในวันก่อนวันแต่งงานของพวกเขา ดูโปต์ได้ถูกสังหารในการจลาจลต่อต้านฝรั่งเศสนอกสถานพำนักปาลาซโซคอร์ซินีในโรม[4]

มาดามเบอร์นาดอตต์

เดซีเร คลารี วาดโดยฟรองซัวส์ เกอราร์ดในปีค.ศ. 1810

หลังจากที่เดินทางกลับฝรั่งเศส เดซีเรได้พำนักกับจูลีและโจเซฟที่ปารีส ในกรุงปารีส เธอพำนักอยู่กับตระกูลโบนาปาร์ตซึ่งต่อต้านโฌเซฟีน หลังจากที่นโปเลียนถอนหมั้นเธอและหันมาสนับสนุนเธอแทน เธอเองก็ไม่ชอบโฌเซฟีนเช่นกัน ซึ่งเธอได้เรียกโฌเซฟีนว่าโสเภณีสูงอายุซึ่งมีชื่อเสียงที่ไม่ดีไม่งาม แต่เธอก็ไม่ได้แสดงตนเป็นศัตรูกับโฌเซฟีนเช่นเดียวกับสมาชิกในตระกูลโบนาปาร์ต เธอตอบรับการขอแต่งงานจากนายพลฌ็อง-อันดอเช ฌูโนต์ แต่ข้อเสนอก็ถูกปฏิเสธไปเมื่อมันถูกส่งผ่านไปยังออกุสต์ เดอ มาร์มงต์[5] เดซีเรได้พบกับสามีในอนาคตคือ ฌ็อง-บาติสต์ ฌูลส์ เบอร์นาดอตต์ นายพลและนักการเมืองชาวฝรั่งเศส ทั้งคู่สมรสกันโดยพิธีทางฆราวาสที่โซในวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1798[5] ในสัญญาสมรส เดซีเรมีอิสระทางการเงิน[4] ในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1799 เธอได้ให้กำเนิดบุตรหนึ่งคนคือ โจเซฟ ฟรองซัวส์ ออสการ์ เบอร์นาดอตต์

ในช่วงการรัฐประหารปีค.ศ. 1799 เมื่อนโปเลียนสามารถยึดอำนาจได้สำเร็จ เดซีเรได้ถูกจัดการให้เป็นเครื่องมือของทั้งตระกูลโบนาปาร์ต ซึ่งต้องการให้เบอร์นาดอตต์สนับสนุนนโปเลียน และฝ่ายเบอร์นาดอตต์ที่ต้องการให้เขาดำเนินการด้วยตัวเอง ทั้งสองฝ่ายพยายามใช้อิทธิพลของเธอเหนือเบอร์นาดอตต์และพยายามล้วงข้อมูลเกี่ยวกับท่าทีของเขา ด้วยการตระหนักถึงเรื่องนี้ เขาจึงไม่บอกแผนการของเขาแก่เธอ แต่เขาก็ได้พูดในภายหลังว่าเป็นเพราะอิทธิพลของครอบครัวซึ่งทำให้เขาไม่ตอบโต้อะไรในช่วงการรัฐประหาร ในระหว่างรัฐประหาร ทั้งคู่ถูกบังคับให้ลี้ภัยที่วิลลาชานเมืองของนายพลซาร์ราแซงที่วิลเลนิวแซงต์จอร์จ เดซีเรปลอมตัวเป็นผู้ชายในระหว่างการหลบหนี เธอยังคงติดต่อกับจูลีตลอดเวลา และนโปเลียนได้ยอมรับในตัวเบอร์นาดอตต์ก็เพราะเธอ

ในปีค.ศ. 1800 เดซีเรได้อยู่ในสถานที่ที่เกิดการลอบสังหารนโปเลียนซึ่งล้มเหลว เมื่อระเบิดได้ระเบิดขึ้นบริเวณระหว่างรถม้าของนโปเลียนกับรถม้าที่เธอและแคโรไลน์ โบนาปาร์ตนั่งมา เดซีเรไม่ได้สนใจการเมือง แต่ด้วยเธอมีสายสัมพันธ์อันดีทำให้ต้องกลายเป็นหุ่นเชิดของสามีและนโปเลียน ซึ่งใช้อิทธิพลที่มีต่อเธอซึ่งกันและกันในการส่งผ่านข้อความ[4]ในปีค.ศ. 1801 เบอร์นาดอตต์ได้เข้าแทรกแซงเธอตามความต้องการของนายพลเออร์นูฟโดยผ่านโจเซฟ[5] ในปีค.ศ. 1802 แผนการสมคบคิดต่อต้านนโปเลียนได้ถูกเปิดเผย นโปเลียนได้สงสัยเบอร์นาดอตต์ และได้ทำการสอบปากคำเดซีเร ซึ่งเธอได้บอกเขาอย่างบริสุทธิใจว่าสามีของเธอไม่ได้เกี่ยวข้องกับแผนการ แม้ว่าเขาจะได้พบกับนายพลมอโรที่บ้านและเบอร์นาดอตต์มีการพึมพำถึงชื่อของเขาในตอนนอนหลับ[5] หลังจากเหตุการณ์นี้นโปเลียนได้แต่งตั้งเบอร์นาดอตต์เป็นผู้ว่าการลุยเซียนา ทั้งคู่พร้อมที่จะเดินทางโดยเรือแล้วเมื่อมีคำสั่งเพิกถอนการแต่งตั้ง

ในวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1804 สามีของเธอได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายพลแห่งฝรั่งเศส ซึ่งทำให้เธอได้รับตำแหน่งที่เท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม เธอได้ถูกอธิบายว่าเป็นคนที่ไม่สนใจในสถานะทางการเมือง เช่นเดียวกับจูลี พี่สาวของเธอ นโปเลียนได้ให้เบี้ยเลี้ยงแก่เธอ และมอบบ้านในรูดีอองฌูแซงต์-ฮอนอเร ซึ่งเป็นสถานที่ที่เธอพำนักเมื่ออยู่ที่ปารีส ในพระราชพิธีราชาภิเษกของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 วันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1804 เธอได้ตามเสด็จจักรพรรดินีโฌเซฟีน ซึ่งขบวนนำโดยพี่สะใภ้ของเธอ และเธอได้ทำหน้าที่ถือผ้าซับพระพักตร์และผ้าคลุมพระพักตร์ของจักรพรรดินีโฌเซฟีนไว้กับหมอน[5]

สามีของเธอเป็นนายพลชั้นแนวหน้าของกองทัพฝรั่งเศสภายใต้จักรพรรดินโปเลียนและมักจะไม่ได้อยู่ที่ปารีส เขาชอบให้เธอเป็นสมาชิกของสังคมชั้นสูงและให้เธอมีเวลาเรียนเต้นรำและมารยาทจากอาจารย์มงเตล เดซีเรมีความสัมพันธ์ที่ดีกับราชวงศ์โบนาปาร์ต ตามคำขอของสามี เธอจึงไม่ได้เป็นนางสนองพระโอษฐ์และไม่ได้เข้าร่วมราชสำนัก เธออาศัยอยู่ในแวดวงของราชวงศ์โบนาปาร์ตและตระกูลคลารีและยังเข้าร่วมสังคมชั้นสูง ซึ่งเธอมีความสุขกับดนตรี การละครและการเต้นรำ ในขณะที่เธอใช้เวลาในช่วงฤดูร้อนไปสปาหรือไปยังวิลลาต่างจังหวัดที่ลาแกรงและออเตอุล เชื่อว่าเธอมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับอังเก ไชป์เป ชายชาวคอร์ซิกา ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้คุ้มกันของเธอ[4][5] เธอถูกบรรยายว่าเป็นคนที่น่ารักและเป็นที่ชื่นชอบและเป็นนักเต้นรำที่มีความสามารถ แต่คำบรรยายนี้ไม่ถูกระบุชื่อว่าเป็นใคร เธอมักจะแยกจากสามีโดยเธอต้องอยู่ในกรุงปารีสในช่วงที่เขาไม่อยู่ เธอเป็นคนบอกเขาเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองในปารีสโดยติดต่อถึงกัน[5]

ในระหว่างที่เบอร์นาดอตต์ดำรงเป็นผู้ว่าการกลุ่มเมืองฮันเซียติกและผู้ว่าการฮาโนเวอร์ เดซีเรได้เดินทางไปเยี่ยมเขาที่ฮัมบวร์คพร้อมกับบุตรชายถึงสองสามครั้ง แต่เธอก็ไม่เคยพำนักอยู่นาน ซึ่งต้องกลับปารีสในไม่ช้า เธอไม่มีความสุขที่จะอยู่ที่ใดก็ตามยกเว้นปารีส ในปีค.ศ. 1806 เธอถูกบังคับให้ตามเสด็จจักรพรรดินีโฌเซฟีนไปยังไมนทซ์ เมื่อสามีของเธอได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าชายแห่งปงเตคอร์โวในปีค.ศ. 1806 เดซีเรถามอย่างกังวลใจถึงการจะต้องถูกบังคับให้ออกจากปารีส แต่เธอก็มีความสุขเมื่อเธอมั่นใจว่าไม่ต้องออกไปจากปารีส[4] ในปีค.ศ. 1807 เธอได้เดินทางไปเยี่ยมเบอร์นาดอตต์ในสปานเดาและในมาเรียนบูร์กที่ปรัสเซียตะวันออก ซึ่งเธอได้เดินทางไปดูแลสามีซึ่งกำลังเจ็บป่วย

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1810 เบอร์นาดอตต์ได้ถูกเลือกให้เป็นรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์สวีเดน ในตอนแรกเดซีเรคิดว่ากรณีนี้คล้ายกับกรณีตำแหน่งเจ้าชายแห่งปงเตคอร์โว และไม่ได้คาดคิดว่าจะต้องเดินทางไปสวีเดนมากไปกว่าการที่ถูกบังคับให้ไปปงเตคอร์โว เธอกล่าวว่า "ฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องที่เหมือนกับปงเตคอร์โว สถานที่ที่ซึ่งเราได้ตำแหน่ง"[5] ในภายหลังเธอยอมรับว่า เธอไม่เคยสนใจประเทศอื่นใดไปนอกจากฝรั่งเศสเลยและเธอไม่รู้อะไรเกี่ยวกับต่างประเทศดังเช่นที่เธอพยายามไม่สนใจประเทศเหล่านั้น และนั่นทำให้เธอสิ้นหวังเมื่อเธอคาดว่าในเวลานี้ต้องเดินทางออกจากปารีส เดซีเรเดินทางล่าช้าและไม่ได้ออกไปพร้อมสามีของเธอ เธอยินดีกับสถานะที่เธอได้รับจากราชสำนักฝรั่งเศสเมื่อเธอได้รับการเลื่อนยศขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารี (เธอได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานของราชสำนักทุกสัปดาห์) และเธอได้หวั่นกลัวเรื่องราวของคนรับใช้ชาวฝรั่งเศส ซึ่งพยายามทำให้เธอหมดกำลังใจที่จะเดินทางไปโดยบอกว่าสวีเดนเป็นประเทศที่ใกล้กับขั้วโลกเหนือและเต็มไปด้วยหมีขาว[5] ในที่สุดเธอได้ออกจากปารีสและเดินทางผ่านฮัมบวร์คและโครนบอร์กในเดนมาร์ก ข้ามออเรซุนด์ไปยังเฮลซิงบอร์กในสวีเดน (หัวข้อต่อจากนี้จะมีการใช้ราชาศัพท์เนื่องจากเดซีเรได้รับการเลื่อนสถานะเป็นมกุฎราชกุมารี)

มกุฎราชกุมารี

ขณะทรงเป็นมกุฎราชกุมารีแห่งสวีเดน ทรงฉลองพระองค์เนชันเนลลา ดรักเทน วาดโดยโรแบร์ เลฟอีเร

ในวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1810 มกุฎราชกุมารีเดซีเรเสด็จมาพร้อมเจ้าชายออสการ์ พระโอรสที่เฮลซิงบอร์กในสวีเดน และในวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1811 พระนางทรงได้รับการแนะนำต่อราชสำนักสวีเดนที่พระราชวังหลวงในสต็อกโฮล์ม ที่เฮลซิงบอร์กพระนางทรงพบกับแคโรไลน์ เลเวนฮุปต์ นางสนองพระโอษฐ์ประจำห้องฉลองพระองค์และมาเรียนา คอสคูล นางพระกำนัลที่ได้รับการแต่งตั้ง สภาพอากาศของสวีเดนเป็นสิ่งที่ทำให้พระนางตกพระทัยมาก พระนางเสด็จมาถึงในช่วงฤดูหนาวและทรงเกลียดหิมะมากจนถึงขนาดที่ทรงร่ำไห้[4] พระสวามีของพระนางทรงเปลี่ยนศาสนาทันทีที่ได้รับการเลือกให้เป็นรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์สวีเดน และเมื่อเสด็จมาถึงพระโอรสของพระนางก็ทรงเปลี่ยนศาสนาเช่นกัน ซึ่งจำเป็นต้องแยกพระโอรสออกมาจากพระนางเพื่อให้ทรงได้รับการอภิบาลในฐานะนิกายลูเธอรัน แต่ก็ไม่มีข้อเรียกร้องให้พระนางเปลี่ยนศาสนา และได้มีการจัดโบสถ์คาทอลิกสำหรับพระนางโดยเฉพาะ[5] พระนางเดซีเรไม่ทรงเคร่งในศาสนา[5] แต่การทำพิธีมิสซาแบบคาทอลิกเป็นสิ่งที่ทำให้ทรงระลึกถึงฝรั่งเศส และพระนางทรงเฉลิมฉลองการประสูติของพระโอรสในจักรพรรดินโปเลียน กษัตริย์แห่งโรม โดยทรงทำพิธีเพลงสรรเสริญพระเจ้าแสดงความกตัญญูภายในโบสถ์ของพระนาง

มกุฎราชกุมารีเดซีเรไม่ทรงสามารถปรับพระองค์เข้ากับมารยาททางราชสำนักหรือการมีส่วนร่วมในพระกรณียกิจได้ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในฐานะที่ทรงเป็นมกุฎราชกุมารี คณะผู้ติดตามชาวฝรั่งเศสของพระนางเดซีเร โดยเฉพาะเอลีซ ลา ฟลอเต ทำให้พระนางไม่ทรงได้รับความนิยมในระหว่างที่ประทับในสวีเดนโดยทรงสนับสนุนให้เอลีซวิพากษ์วิจารณ์ทุกสิ่งทุกอย่าง[2] มกุฎราชกุมารีเดซีเรทรงกล่าวว่าพระนางทรงได้รับการปฏิบัติอย่างเย่อหยิ่งจากราชสำนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสมเด็จพระราชินีเฮดวิก เอลิซาเบธ ชาร์ล็อต แต่สมเด็จพระพันปีหลวงโซเฟีย มักดาลีนาทรงมีพระเมตตาต่อพระนาง สมเด็จพระราชินีได้บรรยายถึงมกุฎราชกุมารีในพระอนุทินที่มีชื่อเสียงของพระนางไว้ว่า มกุฎราชกุมารีเป็นคนที่จิตใจดี ในกว้างและมีความสุขในสิ่งที่เธอเลือกที่จะเป็นและเป็นคนที่ไม่มีเล่ห์เพทุบาย แต่เธอยังคงอยู่ในวัยกำดัด เป็น"เด็กนิสัยเสีย" ซึ่งเกลียดคำขอร้องทุกอย่างและไม่สามารถควบคุมอากัปกิริยาท่าทางได้ สมเด็จพระราชินีทรงบรรยายว่าพระนางเดซีเรเป็น "ผู้หญิงฝรั่งเศสทุกกระเบียดนิ้ว" ซึ่งเกลียดและจะวิพากษ์วิจารณ์ทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่เป็นฝรั่งเศส และ "เพราะเหตุนี้ เธอจึงไม่เป็นที่ชื่นชอบ"[6]

พระนางเดซีเรเสด็จออกจากสวีเดนในฤดูร้อน ปีค.ศ. 1811 โดยทรงใช้พระนามว่าเคานท์เตสแห่งกอตลันด์ ทรงเสด็จอย่างเป็นทางการจากปัญหาด้านสุขภาพ และทรงเสด็จกลับปารีส โดยที่พระสวามีและพระโอรสยังคงประทับอยู่ที่สวีเดน พระนางทรงกล่าวว่าชนชั้นสูงในสวีเดนได้ปฏิบัติต่อพระนางราวกับน้ำแข็ง ทรงตรัสว่า "อย่าพูดคุยกับฉันที่สต็อกโฮล์ม มันทำให้ฉันจะเป็นไข้พอๆกับที่ฉันได้ยินคำพูดเหล่านั้น"[7] ที่สวีเดน พระสวามีของพระนางทรงมีพระสนมคือ มาเรียนา โคสกูล

ภายใต้พระนาม เคานท์เตสแห่งกอตลันด์ พระนางเดซีเรทรงพำนักอย่างเป็นทางการที่กรุงปารีสโดยไม่เปิดเผยตัวตน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการเมือง แต่ที่พำนักของพระนางที่รูดีอองฌูได้ถูกจับตามองโดยตำรวจลับและลายพระหัตถ์ของพระนางได้ถูกเปิดอ่านโดยตำรวจลับ พระนางไม่ทรงมีราชสำนัก ทรงมีเพียงแต่พระสหายหญิง เอลีซ ลา ฟลอเต ที่ให้ความช่วยเหลือพระนางในฐานะเจ้าภาพในการรับรองแขก และโดยส่วนใหญ่แล้วพระนางทรงอยู่ในแวดวงของพระสหายสนิทและครอบครัว พระนางทรงต้อนรับตาแลร็องและโจเซฟ ฟูเชบ่อยๆซึ่งได้มาตามคำสั่งของจักรพรรดินโปเลียนซึ่งต้องการแทรกแซงอิทธิพลของพระสวามีของพระนางโดยผ่านพระนาง[5] ในปีค.ศ. 1812 พระนางทรงทำหน้าที่เป็นคนกลางเมื่อจักรพรรดินโปเลียนทรงเจรจากับพระสวามีของพระนางโดยผ่านดยุกแห่งบาซซาโน พระสวามีของพระนางทรงโปรดให้พระนางประทับในปารีส ซึ่งพระนางสามารถสงบพระอารมณ์ที่ฉุนเฉียวของจักรพรรดินโปเลียนต่อการเมืองของสวีเดนและจะทำให้พระองค์ทราบถึงเหตุการณ์การเมืองยุโรป แต่การติดต่อกันได้สูญหายซึ่งไม่ได้รู้จักวิธีทางการเมืองอย่างที่ควรเป็น[5] ในระหว่างการพบกันระหว่างพระสวามีของพระนางกับพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียในอาโบในปีค.ศ. 1812 พระเจ้าซาร์ทรงแนะนำให้พระสวามีของพระนางหย่ากับพระนางและเสกสมรสกับหนึ่งในพระขนิษฐาของพระองค์ แต่พระสวามีของพระนางทรงปฏิเสธข้อเสนอนี้[5]

ก่อนที่จักรพรรดินโปเลียนจะบุกรัสเซีย พระองค์ได้ขอให้พระนางเดซีเรเสด็จออกไปจากฝรั่งเศส พระนางทรงจัดการเตรียมพร้อมที่จะเสด็จออกแต่ทรงพยายามหลีกเลี่ยง ในฐานะที่พระนางทรงพำนักอย่างเป็นทางการโดยไม่ระบุตัวตน พระนางสามารถหลีกเลี่ยงจากการเมืองได้เมื่อสวีเดนและฝรั่งเศสทำสงครามกันในปีค.ศ. 1813 ในฤดูร้อนปีค.ศ. 1813 พระนางทรงถอนพระองค์จากสิทธิในทรัพย์สินของพระนางจูลี มอร์เตฟงแตนและเจ้าหญิงคาทารีนาแห่งเวือร์ทเทิมแบร์คเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นจุดสนใจก่อนที่จะทรงกลับไปยังปารีสในวันส่งท้ายปีเก่าปีค.ศ. 1814 ในวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1814 การมาถึงของกองทัพพันธมิตรในกรุงปารีสหลังจากที่จักรพรรดินโปเลียนพ่ายแพ้ ที่พำนักของพระนางได้กลายเป็นที่ลี้ภัยของพระนางจูลี พระเชษฐภคินี พระนางเดซีเรทรงพบกับพระสวามีของพระนาง ผู้ซึ่งอยู่ในกลุ่มนายพลพันธมิตรที่เดินทางมาถึงปารีส พระนางไม่ทรงเสด็จกลับสวีเดนพร้อมพระสวามี แต่เป็นที่ดึงดูดความสนใจ เมื่อถูกถามว่าทำไมไม่เสด็จกลับโดยเคานท์ยาค็อบ เดอ ลา การ์ดี ชาวสวีเดนที่มอร์เตฟงแตน พระนางทรงตอบว่าทรงเกรงว่าถ้าพระนางเสด็จกลับจะทรงถูกหย่า[5]

ในวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1814 พระนางทรงได้รับการแนะนำให้รู้จักกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งพระนางได้เสด็จไปเยี่ยมราชสำนักทุกๆปีและเป็นผู้ซึ่งพระนางทรงชื่นชอบ หลังจากสมัยร้อยวันในปีค.ศ. 1815 เชื้อพระวงศ์โบนาปาร์ตถูกเนรเทศออกจากฝรั่งเศส รวมถึงพระนางจูลี พระเชษฐภคินีของพระนางด้วย และเมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงโปรดปรานพระนาง พระนางก็ทรงขอร้องพระองค์บ่อยครั้งให้ทรงยกเว้นโทษของพระนางจูลีและอนุญาตให้พระนางประทับในปารีสได้ ในปีค.ศ. 1816 มกุฎราชกุมารีเดซีเรทรงตั้งพระทัยจะเสด็จกลับสวีเดน แต่ทรงปรารถนาที่จะพาพระนางจูลี พระเชษฐภคินีโดยเสด็จด้วย พระสวามีของพระนางเห็นว่าเป็นความคิดที่ไม่ฉลาด เพราะพระนางจูลีเป็นพระมเหสีของเชื้อพระวงศ์โบนาปาร์ตและและการปรากฏของพระนางอาจจะเป็นการแสดงสัญญาณว่าพระองค์อยู่ฝ่ายเดียวกับอดีตจักรพรรดินโปเลียนซึ่งทรงถูกปลดจากราชบัลลังก์ และในที่สุดเรื่องนี้ก็ไม่เกิดขึ้น[8] ในจุดนี้ มกุฎราชกุมารีเดซีเรมักจะทรงใช้เวลากับเฌอแมน เดอ สตอลและจูเลียต เรกามิเยร์ ในปีค.ศ. 1817 พระสวามีของพระนางเดซีเรได้ตั้งให้เคานท์เดอมงตรีชาร์ดไปเป็นสายลับในที่พำนักของพระนางเพื่อรายงานว่าพระนางกระทำอะไรบ้างที่ส่งผลกระทบต่อพระองค์[4]