ในวรรณกรรมสมัยใหม่ ของ เดวส์เอกส์มาคีนา

โดยทั่วไป "เดวส์เอกส์มาคีนา" มักถูกมองว่าเป็นกลวิธีที่ไม่ควรใช้ในการเขียน โดยมักชี้ให้เห็นถึงการขาดความคิดสร้างสรรค์ของผู้เขียน ด้วยเหตุผลที่ว่ากลวิธีนี้ไม่ต้องตรงกับตรรกะภายในเรื่อง (แม้ว่าบางครั้งกลวิธีนี้จะถูกใช้อย่างจงใจด้วยประการนี้) และมักหักล้าง ความเชื่อชั่วคราว (Suspension of disbelief) ของผู้ชม เพื่อให้ผู้เขียนสามารถจบเรื่องได้ด้วยบทสรุปที่ไม่น่าเชื่อ แม้ว่าอาจทำให้ได้ตอนจบที่น่าพอใจกว่าก็ตาม[6] ตามข้อวิจารณ์ของอาริสโตเติล นักวิจารณ์ในช่วงสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยายังคงมองเดวส์เอกส์มาคีนาในฐานะกลวิธีที่ขาดความสร้างสรรค์ แม้ว่านักเขียนบทละครหลายคนในช่วงยุคนี้จะยังใช้กลวิธีนี้อยู่ก็ตาม เช่น วิลเลียม เชกสเปียร์ ที่ใช้กลวิธีนี้ใน ตามใจท่าน (As You Like It) เพริคลีส, พรินซ์ ออฟ ไทร์ (Pericles, Prince of Tyre) ซิมเบอลีน (Cymbeline) และ เดอะ วินเทอร์ส เทล (The Winter's Tale)[7]

ระหว่างความผันผวนทางการเมืองในศตวรรษที่ 17 และ 18 กลวิธีเดวส์เอกส์มาคีนามักถูกนำมาใช้เพื่อทำให้ประเด็นที่กำลังเป็นที่ถกเถียงดูดีมากขึ้น เพื่อความพึงพอใจของผู้ที่มีอำนาจ เช่น ในฉากสุดท้ายของ Tartuffe (Tartuffe) บทละครของ มอลีแยร์ (Molière) ตัวเอกได้รับการช่วยเหลือให้พ้นภัยจากกษัตริย์ผู้มีความเมตตาและรู้เห็นทุกสิ่งอย่าง — ซึ่งเป็นกษัตริย์คนเดียวกันที่กุมชะตาชีวิตของมอลีแยร์[8]

ในวรรณคดีไทย ตัวอย่างของการใช้ เดวส์เอกส์มาคีนา ก็มีอยู่ เช่น ในนิทานคำกลอนของสุนทรภู่ เรื่องพระอภัยมณี ตอนกำเนิดสุดสาคร เมื่อนางเงือกจะคลอดสุดสาครนั้นนางอยู่ตัวคนเดียว หาใครช่วยก็ไม่มี มีแต่พระฤๅษีซึ่งถือตบะบำเพ็ญพรต ทำให้แตะต้องตัวนากเงือกไม่ได้ และท่านก็ไม่รู้วิธีผูกแต่งเปลไว้เลี้ยงเด็ก แต่เทพยาดาก็มาช่วยให้นางเงือกคลอดได้อย่างปลอดภัย ส่วนเปลเลี้ยงเด็กนั้นพระฤๅษีหลับตาเข้ากรรมฐานแล้วเปลเด็กก็ปรากฏขึ้นเอง

ในปลายศตวรรษที่ 19 ฟรีดริช นีทเชอ (Friedrich Nietzsche) ได้วิจารณ์ยูริพิเดสที่ทำให้โศกนาฏกรรมเป็นประเภทวรรณกรรมสุขนาฏกรรมผ่านการใช้กลวิธีนี้ นอกจากนี้ นีทเชอยังมีข้อกังขาเกี่ยวกับ "ความรื่นเริงแบบชาวกรีก" ที่ทำให้เขามองละครประเภทดังกล่าวว่าเป็น "ความสุขยินดีในชีวิต"[9] สำหรับนีทเชอ เดวส์เอกส์มาคีนา เป็นอาการของวัฒนธรรมแบบโสกราตีส (Socrates) ซึ่งให้คุณค่าความรู้เหนือสุนทรียดนตรี และเป็นสาเหตุของจุดจบและความเสื่อมถอยของละครโศกนาฏกรรม:[10]

แต่ตอนนี้ จิตวิญญาณใหม่ที่ไร้สุนทรียะนั้นเห็นได้ชัดแจ้งที่สุดใน "ตอนจบ" ของละครใหม่ ๆ ในตอนจบของโศกนาฏกรรมแบบเก่านั้นมีกลิ่นอายของความประนีประนอมเชิงอภิปรัชญาอยู่ ซึ่งหากปราศจากสิ่งนี้แล้วยากเหลือเกินที่จะจินตนาการว่า เราจะหาความยินดีจากโศกนาฏกรรมได้อย่างไร บางที น้ำเสียงผ่อนโยนนั้นอาจสะท้อนก้องจากอีกโลกหนึ่งอย่างพิสุทธิ์สูงสุดใน อีดิปุส แอท โคโลนัส (Oedipus at Colonus) ตอนนี้ เมื่อโศกนาฏกรรมขาดอัจฉริยภาพทางดนตรี โศกนาฏกรรมในความหมายของตัวมันเองได้ตายลงเสียแล้ว ก็ในเมื่อความประนีประนอมเชิงอภิปรัชญานั้นหายไปเสียแล้ว ดังนั้นทางออกสำหรับความไม่กลมกลืนในโศกนาฏกรรมนั้นต้องเกิดขึ้น ตัวเอก หลังจากได้รับความทรมานจากชะตากรรม ได้รับรางวัลที่คุ้มค่าจากการแต่งงานที่สมเกียรติ รวมไปถึงเครื่องแสดงเกียรติยศที่สมศักดิ์ศรี ตัวเอกได้กลายเป็นนักรบ ได้รับอิสรภาพหลังจากที่พานพบอุปสรรคนานัปการ การปลอบประโลมเชิงอภิปรัชญากลับถูกขับออกไปด้วยเดวส์เอกส์มาคีนา— ฟรีดริช นีทเชอ

นีทเชอได้กล่าวว่าเดวส์เอกส์มาคีนาทำให้เกิดการปลอบประโลมอย่างลวง ๆ ซึ่งไม่ควรมีขึ้นในปรากฏการณ์นี้[11] คำครหาของเขาได้กลายเป็นข้อคิดเห็นกระแสหลักในหมู่นักวิจารณ์

คำวิจารณ์จากนักคิดแนวหันเหใหม่ (Revisionism) ในศตวรรษที่ 20 ได้ชี้ว่าเดวส์เอกส์มาคีนา ไม่สามารถได้รับการวิเคราะห์ได้ในคำจำกัดความที่ตื้นเขินได้ และโต้เถียงว่ากลวิธีนี้ทำให้มนุษย์สามารถ "ล้วงลึก" ถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้าได้[12] โดยเฉพาะรัช เรห์ม (Rush Rehm) ที่ได้ยกตัวอย่างละครโศกนาฏกรรมกรีกที่เดวส์เอกส์มาคีนา ได้เข้ามาทำให้ชีวิตและทัศนคติของตัวละครที่พบกับเทพเจ้ายุ่งยากยิ่งขึ้น ในขณะที่ยังสื่อเรื่องราวให้แก่ผู้ชม[12] ทั้งนี้ ในบางกรณี ความไม่น่าเชื่อของเดวส์เอกส์มาคีนาถูกนำมาใช้อย่างจงใจ เช่น การหักมุมอย่างขบขันที่เกิดขึ้นในฉากหนึ่งของ มอนตี้ ไพธอนส ไลฟ์ ออฟ ไบรอัน' (Monty Python's Life of Brian)' เมื่อไบรอัน ตัวละครที่อาศัยอยู่ในจูเดีย ในคริสต์ศักราชที่ 33 ได้รับการช่วยชีวิตจากการตกลงจากที่สูงด้วยยานอวกาศของมนุษย์ต่างดาวที่ผ่านมา[13]

ตัวอย่างใหม่ ๆ

ในนวนิยายคลาสสิก ลอร์ด ออฟ เดอะ ฟลายส์ (Lord of the Flies) การกู้ภัยกลุ่มเด็กที่ติดเกาะด้วยนายทหารนาวีที่บังเอิญผ่านมา (ซึ่งวิลเลียม โกลดิง (William Golding) ผู้เขียน ได้กล่าวว่าเป็น "กลสนุกเล็ก ๆ น้อย ๆ") ถูกนักวิจารณ์บางกลุ่มมองว่าเป็นเดวส์เอกส์มาคีนา ตอนจบที่กระทันหันนั้นชี้เป็นนัยว่า หากไม่ได้รับการช่วยเหลือ เด็ก ๆ จะต้องประสบกับชะตากรรมที่เลวร้าย (โดยเฉพาะราล์ฟ)[14]

นักเขียนการ์ตูน แมท แฟรคชั่น (Matt Fraction) ถูกวิจารณ์ว่าได้ใช้ที่พลังมหาศาล แต่ไม่เคยได้รับการระบุอย่างชัดเจนว่าคืออะไรของตัวละคร แฟรงคลิน ริชาร์ด (Franklin Richards) เป็นเดิส เอ็กาส์ มาคีนา ในการ์ตูนเรื่อง เฟียร์ อิทเซลฟ์ #5 (Fear Itself #5) (2011).[15]

เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน (J. R. R. Tolkien) ได้ประดิษฐ์คำว่า ยูคาสทรอฟี (eucatastrophe) ซึ่งหมายถึงจุดหักเหของเหตุการณ์ที่ทำให้ตัวเอกไม่พบกับชะตากรรมที่เลวร้าย โทลคีนยังได้กล่าวถึง อินทรียักษ์ (Great Eagles) ที่ปรากฏตัวทั้งใน ฮอบบิท (The Hobbit) และ อภินิหารแหวนครองพิภพ (The Lord of the Rings) ว่าเป็น "เครื่องจักรที่อันตราย"[16] นักวิจารณ์บางสำนักได้กล่าวว่ายูคาสทรอฟี โดยเฉพาะในกรณีอินทรียักษ์ เป็นตัวอย่างของเดวส์เอกส์มาคีนา เช่น เมื่ออินทรียักษ์ได้ช่วยชีวิตโฟรโดและแซมจากเมาท์ดูมในตอนสุดท้ายของ มหาสงครามชิงพิภพ (The Return of the King)[17][18] ในขณะที่นักวิจารณ์สำนักอื่นโต้ว่าสองแนวคิดนี้ไม่เหมือนกัน โดยยูคาสทรอฟีนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อความสะดวกสบาย แต่เป็นส่วนหนึ่งของโลกในนวนิยาย ที่ซึ่งความหวังจะชนะทุกสิ่งในตอนท้าย[19]

เอ็กเซล ซาก้า (Excel Saga) ซีรีส์อนิเมะและมังงะญี่ปุ่น ใช้เดวส์เอกส์มาคีนาเป็นกลวิธีเพื่อความขบขัน ด้วยการใช้ตัวละคร นาเบะชิน[20] หรือชินอิจิ วาตานาเบะ ผู้กำกับอนิเมะ ซึ่งได้รับบทเป็นตัวร้ายในเรื่อง รวมไปถึงเดอะ เกรท วิล ออฟ เดอะ มาโครคอสซึม (The Great Will of the Macrocosm) ซึ่งเป็นสิ่งที่มีรูปร่างเหมือนหลุมดำที่มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงเวลาและสถานที่ได้ตามความต้องการของเนื้อเรื่อง

ใกล้เคียง

แหล่งที่มา

WikiPedia: เดวส์เอกส์มาคีนา http://books.google.com/books?id=j1ZJcFqQ7V8C&pg=P... http://www.novelguide.com/a/discover/dfs_18/dfs_18... http://weeklycomicbookreview.com/2011/08/12/fear-i... http://books.google.de/books?id=JPNfox6H5qwC&pg=PA... http://books.google.de/books?id=SQMQQyIaACYC&pg=PA... http://books.google.de/books?id=xvGLsT_dP_YC&pg=PA... http://web.cn.edu/kwheeler/lit_terms_D.html http://myanimelist.net/character/2795/Nabeshin http://www.reelviews.net/movies/l/life_brian.html http://tolkiengateway.net/wiki/Eagles