วิธีการใช้ในสมัยโบราณ ของ เดวส์เอกส์มาคีนา

กว่าครึ่งของละครโศกนาฏกรรมของยูริพิเดส (Euripides) ใช้กลวิธีเดวส์เอกส์มาคีนาในการคลี่คลายปมปัญหา ซึ่งทำให้นักวิจารณ์หลายคนอ้างว่ายูริพิเดสเป็นผู้ให้กำเนิดกลวิธีนี้ขึ้น แม้ว่าเอสคิลัส (Aeschylus) นักเขียนโศกนาฏกรรมชาวกรีก จะใช้กลวิธีที่คล้ายกันในบทละคร "ยูเมนิเดส (Eumenides)"[3] ตัวอย่างที่ได้รับการยกขึ้นมาบ่อยครั้งคือ เรื่องมีเดีย (Medea) ของยูริพิเดส ซึ่งเดวส์เอกส์มาคีนา ในรูปลักษณ์ของรถลากมังกรที่ถูกส่งมาโดยเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ถูกนำมาเป็นพาหนะในการพามีเดีย ซึ่งเพิ่งก่อคดีฆาตกรรมและฆ่าทารก ให้ได้หนีจาก เจสัน สามีของเธอ สู่ที่ปลอดภัยใน เอเธนส์ ในบทละครเรื่อง "อัลเคสติส" (Alcestis) อัลเคสติส ตัวเอกได้ตกลงที่จะสละชีวิตเพื่อช่วยชีวิตสามีของเธอ แอดมีตัส (Admetus) โดยในตอนท้ายของเรื่อง เฮราคลีส (Heracles) ได้ปรากฏตัวขึ้นและแย่งตัวเธอจากยมทูตทำให้เธอรอดชีวิตและได้กลับไปอยู่กับแอดมีตัส

กลวิธีนี้ไม่รอดพ้นการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิจารณ์ในสมัยโบราณ โดยหนึ่งในคำวิจารณ์แรก ๆ ที่ได้รับการบันทึกนั้นมาจากไดอะล็อกของ เพลโต (Plato) คราไทลัส (Cratylus) แม้ว่าจะอยู่ในบริบทของการถกเถียงที่ไม่ได้เกี่ยวกับการละคร

อาริสโตเติล ได้วิจารณ์กลวิธีนี้ไว้ใน โพเอติกส์ (Poetics) โดยกล่าวว่าการคลี่คลายปมปัญหานั้นควรมาจากภายใน และสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นในละคร:[4]

ในตัวละครก็เช่นกัน เฉกเช่นเดียวกับโครงสร้างของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น [กวี] ควรมองหาถึงสิ่งที่จำเป็นหรือเป็นไปได้อยู่เสมอ เพื่อที่ว่าตัวละครดังกล่าวจะสามารถกระทำหรือพูดสิ่งใดที่จำเป็นหรือเป็นไปได้สำหรับตัวละครนั้น ๆ และด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้เหตุการณ์ที่จำเป็นหรือเป็นไปได้เกิดขึ้นหลังจากการกระทำดังกล่าว เห็นได้ชัดว่านี่เอง จึงเป็นสิ่งสมควรที่การคลี่ปมปัญหาเนื้อเรื่องจะเป็นผลจากเนื้อเรื่องในตัวมันเอง ไม่ได้มาจากสิ่งประดิษฐ์ อย่างใน "มีเดีย" และบทที่กล่าวถึงการล่องเรือกลับบ้านใน อีเลียด (IIiad) สิ่งประดิษฐ์ควรใช้ในบริบทนอกเนื้อเรื่องในละคร — เช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ซึ่งอยู่นอกเหนือความรู้ของมนุษย์ หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังที่ควรเล่า เพราะเรายอมรับในดวงตาที่เห็นในทุกสิ่งของเทพเจ้า ไม่ควรมีส่วนประกอบใดในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ดูเป็นไปไม่ได้ หากมี สิ่งนั้นก็ควรอยู่นอกเรื่องราวที่สำคัญ เช่น ในเรื่อง อิดิปุส (Oedipus) ของ ซอโฟคลีส (Sophocles)— (1454a33–1454b9)

อย่างไรก็ตาม อาริสโตเติลได้ชื่นชมยูริพิเดสในการจบเรื่องด้วยเหตุร้าย ซึ่งอาริสโตเติลมองว่าเป็นสิ่งที่ถูกควรในละครโศกนาฏกรรม และให้ข้อยกเว้นกับการแทรกแซงจากเทพเจ้า โดยกล่าวว่าควรมี "ความน่าประหลาดใจ" อยู่ในละครโศกนาฏกรรม:[5]

ความไม่เป็นเหตุเป็นผลควรอยู่ในกรอบของสิ่งที่คนพูด นี่เป็นทางออกหนึ่ง เพราะบางครั้งมีความเป็นไปได้เสมอว่าสิ่งที่ไม่น่าเกิดอาจเกิดขึ้นได้

ในบทละครของอริสโตเฟน เธสโมโฟเรียโซไซ (Thesmophoriazusae) อริสโตเฟน (Aristohane) ได้ล้อการชอบใช้เครนของยูริพิเดสด้วยให้ยูริพิเดสเป็นตัวละครหนึ่งที่ถูกเครนยกขึ้นบนเวที

ใกล้เคียง

แหล่งที่มา

WikiPedia: เดวส์เอกส์มาคีนา http://books.google.com/books?id=j1ZJcFqQ7V8C&pg=P... http://www.novelguide.com/a/discover/dfs_18/dfs_18... http://weeklycomicbookreview.com/2011/08/12/fear-i... http://books.google.de/books?id=JPNfox6H5qwC&pg=PA... http://books.google.de/books?id=SQMQQyIaACYC&pg=PA... http://books.google.de/books?id=xvGLsT_dP_YC&pg=PA... http://web.cn.edu/kwheeler/lit_terms_D.html http://myanimelist.net/character/2795/Nabeshin http://www.reelviews.net/movies/l/life_brian.html http://tolkiengateway.net/wiki/Eagles