การแพร่หลายในประเทศไทย ของ เตลกฏาหคาถา

จารึกเนินสระบัว พบที่เนินสระบัว ในบริเวณเมืองพระรถ ตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ต่อมาได้ถูกเคลื่อนย้ายมาพิงไว้ที่โคนต้นโพธิ์ใหญ่ในวัดโพธิ์ศรีมหาโพธิ ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากที่เดิมนัก เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 นายชิน อยู่ดี หัวหน้าแผนกพิพิธภัณฑ์พระนคร กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้ออกสำรวจที่แหล่งโบราณคดีนี้ จึงได้พบจารึกหลักดังกล่าว และได้ทำสำเนาจารึกหลักนี้ไว้ ต่อมา ศ. ฉ่ำ ทองคำวรรณ ได้อ่าน-แปลจารึกหลักนี้ แล้วนำไปตีพิมพ์ในหนังสือชุดประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 ในปี พ.ศ. 2506 และ นาวาอากาศเอก แย้ม ประพัฒน์ทอง ได้อ่านและแปลใหม่อีกครั้ง แล้วนำไปตีพิมพ์ในหนังสือชุดจารึกในประเทศไทย เล่ม 1 ในปี พ.ศ. 2529 [8]

เนื้อหาในจารึกระบุมหาศักราช 683 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 1304 กล่าวถึงการประดิษฐานพระพุทธศาสนา เป็นการสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย และการอุทิศพระโค เดิมเชื่อว่า จารึกเนินสระบัว เป็นวรรณคดีภาษาบาลี ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งนักปราชญ์ในอดีตคือ พระพุทธสิริรจนาขึ้น มิได้คัดลอกมาจากคัมภีร์พระบาลี หรืออรรถกถาใด ๆ [9]

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ดร.โรหนะ ชาวศรีลังกา ได้อ่านจารึกนี้พบว่า พระบาลีสามบทในจารึกเป็นบทสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยตรงกับ เตลกฏาหคาถา หรือ คาถากระทะน้ำมัน ในบทที่ 2, 3 และ 4 [10]