เต่าหัวค้อน
เต่าหัวค้อน

เต่าหัวค้อน

เต่าหัวค้อน หรือ เต่าล็อกเกอร์เฮด หรือ เต่าจะละเม็ด (อังกฤษ: Loggerhead) เป็นเต่าทะเลชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Caretta caretta จัดเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Caretta[2]ลักษณะทั่ว ๆ ไปคล้ายเต่าหญ้า (Lepidochelys olivacea) และเต่าตนุ (Chelonia mydas) มาก ต่างกันที่เกล็ดบนส่วนหัวตอนหน้ามี จำนวน 2 คู่ เท่ากับเต่าหญ้า แต่เกล็ดบนกระดองหลังแถวข้างมีจำนวน 5 แผ่นซึ่งต่างจากเต่าทะเลชนิดอื่น ๆ และรูปทรงของกระดองจะเรียวเล็กลงมาทางส่วนท้ายและเป็นสันแข็งเห็นชัดเจน กระดองมีสีน้ำตาลแดง น้ำตาลเหลือง หรือน้ำตาลส้ม ขอบชายโครงมีสันแข็ง ขณะที่ยังเป็นลูกเต่ากระดองจะยกสูง ที่สำคัญเป็นจุดเด่น คือ มีหัวขนาดใหญ่โตอย่างเห็นได้ชัด อันเป็นที่มาของชื่อเรียก ขาซึ่งเป็นใบพายทั้งคู่หน้าและคู่หลังมีเล็บหนึ่งเล็บในแต่ละข้างขนาดเมื่อโตเต็มที่มีขนาดกระดองหลังยาวประมาณ 85 เซนติเมตร กระดองท้อง 60 เซนติเมตร มีน้ำหนักตัวประมาณ 70 กิโลกรัม กินอาหารจำพวก สัตว์น้ำมีเปลือกและหอย เป็นอาหารหลัก[3]พบน้อยมากที่มหาสมุทรแปซิฟิก แต่พบมากที่มหาสมุทรแอตแลนติก ในน่านน้ำไทยพบน้อยมาก และไม่พบรายงานว่ามีการขึ้นมาวางไข่เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว แต่ยังพบได้บ้างที่เขตอบอุ่นทางตอนเหนือของออสเตรเลียและทะเลญี่ปุ่น หรืออินโดนีเซียในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2550 ที่น่านน้ำของจังหวัดสตูลได้มีชาวประมงวางอวนแล้วติดเต่าหัวค้อนขึ้นมาตัวหนึ่ง น้ำหนักกว่า 80 กิโลกรัม ซึ่งเต่าได้รับบาดเจ็บ ชาวบ้านจึงนำกลับมารักษาเป็นระยะเวลากว่า 3 เดือน จากนั้นจึงนำส่งต่อให้หน่วยงานภาครัฐของจังหวัดภูเก็ตดูแลต่ออีก 17 เดือน จนกระทั่งเต่าแข็งแรงขึ้น ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 จึงได้มีการปล่อยเต่าตัวนี้กลับคืนสู่ทะเล[4]สถานะปัจจุบันของเต่าหัวค้อนในประเทศไทย ถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 เช่นเดียวกับเต่าทะเลชนิดอื่น ๆ