ประวัติ ของ เทศบาลตำบลทับยา

การตั้งชุมชน

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของเมืองอินทร์บุรี สามารถอนุมานได้ว่า พื้นที่ตำบลทับยาอาจจะมีการตั้งรกรากมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ทั้งนี้เนื่องจากตั้งอยู่ไม่ไกลจากแหล่งโบราณคดีคูเมืองมากนัก

การตั้งรกรากของชุมชนโบราณน่าจะอิงอยู่กับแม่น้ำ ทั้งนี้เนื่องจากแม่น้ำเปรียบได้ดั่งเส้นเลือดใหญ่ของชุมชน ประชาชนต้องพึ่งพาแม่น้ำในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการอุปโภคบริโภค เพื่อการเกษตร การคมนาคม และอื่น ๆ ดังนั้น ในพื้นที่แห่งนี้จึงมีประชาชนอาศัยตลอดมา ถึงแม้ในบางช่วงเวลาก็อาจจะถูกกวาดต้อนเป็นเชลยสงครามไปบ้างเนื่องจากเป็นเส้นทางการเดินทัพ เป็นพื้นที่เมืองหน้าด่านในสมัยที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ที่มาของชื่อ “ทับยา” มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ดั้งเดิมชื่อ “ทัพหย่า” ซึ่งหมายถึงการหย่าทัพ หรือการเลิกทัพนั่นเอง ก่อนที่จะมีการเพี้ยนเสียงจนกลายเป็นทับยาในที่สุด

ชื่อของทัพหย่า เป็นชื่อเรียกสถานที่ที่อ้างอิงถึงความเป็นมาของสถานที่ที่พม่าหย่าทัพ เป็นเหตุการณ์ในสมัยการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 และเรื่องราววีรกรรมชาวบ้านบางระจัน ทั้งนี้ก็เพราะตำบลทับยามีทำเลที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากบ้านบางระจันนั่นเอง

เหตุการณ์เสียกรุงครั้งที่สองเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2307 เมื่อพระเจ้ามังระ กษัตริย์พม่า ได้จัดทัพสองทัพ โดยมอบหมายให้มังมหานรธาเป็นแม่ทัพยกมาตีกรุงศรีอยุธยา โดยการเข้าตีเรื่อยมาตามรายทางจากทางใต้ โดยเริ่มต้นที่เมืองทวาย ส่วนอีกทัพมีเนเมียวสีหบดีเป็นแม่ทัพ เดินทัพมาจากทางเหนือ และทั้งสองทัพจะมาบรรจบกันเข้าอยุธยา การล้อมกรุงครั้งนี้ใช้เวลาต่อเนื่องนานถึงสองปี ทัพพม่าอ่อนล้าและขาดแคลนเสบียงและไม่กล้าตั้งทัพใกล้กับกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากเกรงอำนาจปืนใหญ่ เนเมียวสีหบดีได้เลือกทำเลตั้งทัพค่อนมาทางเมืองอินทร์บุรี พร้อมกันนั้นก็ได้จัดแต่งกองทหารออกปล้น ฆ่า สะสมเสบียง กระทำทารุณกรรม ชาวบ้านบางระจันได้ชักชวนชาวเมืองอินทร์ เมืองพรหม และเมืองวิเศษไชยชาญ เพื่อต่อสู้ตอบโต้การกระทำอันป่าเถื่อน จนกระทั่งทัพพม่าที่ตั้งอยู่บริเวณตำบลทับยาต้องหย่าทัพ เพื่อไปหาทำเลที่ตั้งใหม่ พื้นที่ตรงนี้จึงถูกเรียกขานจากตำนานเหตุการณ์นั้นว่า “ทัพหย่า” อย่างไรก็ดี สุดท้ายน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ ชาวบ้านบางระจันก็ต้องประสบกับความพ่ายแพ้ในปี พ.ศ. 2309 และคนไทยเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2310

การเริ่มตั้งชุมชนในพื้นที่ตำบลทับยาน่าจะมีมาโดยต่อเนื่องหลังจากเหตุการณ์การเสียกรุงฯ เมื่อบ้านเมืองสงบจากการศึก ชาวบ้านที่หนีภัยเข้าป่าก็เริ่มต้นกลับมาตั้งรกรากในพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง และพื้นที่ริมน้ำก็เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดในการตั้งชุมชน

เมื่อดูจากประวัติศาสตร์ของตำบลทับยา จะพบว่าแม่น้ำเจ้าพระยาจะเป็นเงื่อนไขหลักในการเลือกทำเลที่ตั้งรกราก แม่น้ำมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับชุมชนโบราณ แม่น้ำเจ้าพระยากับชาวทับยาก็เช่นเดียวกัน เจ้าพระยาเป็นเส้นทางคมนาคม ชาวบ้านจึงหันหน้าบ้านลงน้ำ วัดซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชนก็เป็นเช่นเดียวกัน ท่าน้ำของวัดก็คือท่าหน้าวัด การทำนา ในอดีตก็ได้พึ่งพา “บาง” หรือคลองที่ต่อเนื่องกับเจ้าพระยาที่จะนำน้ำกระจายออกสู่ท้องทุ่งในฤดูน้ำหลาก “ลำแม่ลา” เริ่มมีผู้คนตั้งถิ่นฐาน เมื่อบริเวณริมเจ้าพระยาเริ่มหนาแน่น พร้อม ๆ กับชื่อเสียงของปลาแม่ลา ผู้คนพึ่งพิงแม่ลาในทุกด้านเช่นกัน “คลองบรมธาตุ” จุดเปลี่ยนอันสำคัญยิ่งเริ่มต้นที่คลองชลประทานที่เข้ามาสู่ชุมชนในต้นทศวรรษ 2500

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

เดิมทีตำบลทับยาการปกครองเป็นรูปแบบของสภาตำบล และได้ถูกยกฐานะขึ้นเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล โดยมีหลักเกณฑ์ในการยกฐานะดังนี้ สภาตำบลใดที่มีรายได้โดยไม่รวมเงินอุดหนุนในงบประมาณที่ล่วงมาติดต่อกันสามปี เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน ให้ยกฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป และมีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ทั้งเป็นนิติบุคคล ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยนายเสนาะ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามประกาศจัดตั้งเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2539 โดยมีผลสมบูรณ์เมื่อครบกำหนด 60 วัน คือในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 และองค์การบริหารส่วนตำบลทับยาได้ถูกจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลชั้น 5 และได้เปลี่ยนแปลงเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลขนาดเล็ก องค์การบริหารส่วนตำบลทับยาได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาท้องถิ่นในด้านคุณภาพชีวิต พัฒนาศักยภาพการผลิต การจัดระบบสาธารณูปโภค การศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม และพัฒนาระบบการให้บริการประชาชนในการดำเนินงานทุกด้านนั้นมาจากความต้องการของประชาชนทั้งสิ้น

ใกล้เคียง

เทศบาลนครแหลมฉบัง เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลเมือง เทศบาลนครนครราชสีมา เทศบาลนครนครศรีธรรมราช เทศบาลนครในประเทศไทย เทศบาลเมืองปากพูน เทศบาลนครอุบลราชธานี เทศบาลนครอุดรธานี