สถานที่สำคัญและสถานที่ท่องเที่ยว ของ เทศบาลเมืองศรีสะเกษ

สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ศรีสะเกษ

เป็นสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ แห่งแรกของประเทศ ที่รัฐบาลประกาศจัดตั้งขึ้นจำนวน 12 แห่ง เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในวโรกาสเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา ใน พ.ศ. 2523 โดยมีมติเลือกพื้นที่ป่าธรรมชาติดั้งเดิมบริเวณนี้เพื่อดำเนินการปรับปรุงพัฒนาจัดตั้งเป็น "สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ศรีสะเกษ" จนแล้วเสร็จและเปิดใน พ.ศ. 2524 บนเนื้อที่ 237 ไร่ ทั้งนี้ มูลนิธิสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ มีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานและระดมทุนทั้งเป็นค่าก่อสร้างและกองทุนสำหรับการดูแลรักษา โดยเป็นผู้ดูแลร่วมกับจังหวัดและท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งของสวน

สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ศรีสะเกษ ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเขตเทศบาล เป็นสวนสาธารณะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเขตเมืองศรีสะเกษ มีความชุ่มชื้นและสมบูรณ์ตามธรรมชาติ แวดล้อมด้วยลำห้วยปูน ห้วยระกำ เป็นแหล่งอนุรักษ์สัตว์ป่าไทยและต่างประเทศหลายชนิด อาทิ ไก่ฟ้าหลายพันธุ์ กวาง เม่น นกกระจอกเทศ จระเข้ งู นกแร้ง เต่า ตลอดจนฮิปโปโปเตมัส และสัตว์อื่นๆ อีกจำนวนมาก สัตว์หลายชนิดเป็นสัตว์ป่าที่มีถิ่นอาศัยอยู่เดิมในพื้นที่ป่าอันเป็นที่ตั้งของสวน ซึ่งเปิดให้เข้าชมในลักษณะสวนสัตว์ขนาดย่อมสำหรับนักท่องเที่ยว ทั้งยังเป็นแหล่งทัศนศึกษาของนักเรียนนักศึกษาในจังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดใกล้เคียง

ลักษณะเด่นของสวนคือความเขียวชอุ่มด้วยสวนพฤกษศาสตร์ไม้ดอกนานาพรรณและไม้ยืนต้น อันเป็นพันธุ์ไม้พื้นถิ่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะ "ลำดวน" และ " ดอกลำดวน" ซึ่งถือเป็นต้นไม้และดอกไม้สัญลักษณ์ประจำจังหวัดศรีสะเกษ ที่ขึ้นหนาแน่นอยู่ในพื้นที่นี้จำนวนมากกว่า 50,000 ต้น ระหว่างเดือนมีนาคม เป็นช่วงที่ต้นลำดวนออกดอกบานสะพรั่งส่งกลิ่นหอมอบอวลทั้งในเขตสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ศรีสะเกษ และพื้นที่เขตเทศบาลซึ่งมีต้นลำดวนปลูกอยู่ตามแนวถนนทุกสาย เทศบาลเมืองศรีสะเกษ ร่วมกับจังหวัดศรีสะเกษ ได้จัดให้มี"เทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณีสี่เผ่าไทยศรีสะเกษ" ขึ้นบริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ศรีสะเกษ เป็นประจำทุกปี เป็นเทศกาลท่องเที่ยวที่ได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543

พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ภายในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ศรีสะเกษ

พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ใน พ.ศ. 2543 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในพระอิริยาบถประทับนั่ง ไว้ภายในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ศรีสะเกษ บริเวณทางเข้า เพื่อเป็นราชสักการะและถวายพระเกียรติหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จทรงประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม

อนุสาวรีย์พระนางศรีสระเกศ

ประดิษฐานอยู่ทางตอนเหนือของเขตเทศบาล บนถนนศรีสะเกษ ใกล้กับสถานีรถไฟศรีสะเกษและวัดมหาพุทธาราม (วัดพระโต) องค์พระนางศรี เป็นประติมากรรมรูปหล่อสร้างด้วยทองเหลืองรมดำ ประดิษฐานอยู่เหนือแท่นหินอ่อน บนฐานล่างทรงกลม รูปหล่อพระนางศรีประทับนั่งในอิริยาบถกำลังสระเกศ (เส้นผม) สอดคล้องกับนามเมือง "ศรีสระเกศ" หรือ "ศรีสะเกษ" ดังปรากฏในตำนานเมือง กล่าวว่าพระนางศรีผู้เป็นธิดาพญาขอม ได้เป็นผู้สร้างเมืองศรีสะเกษตั้งแต่ในสมัยอาณาจักรขอม พระนางศรีได้สรงน้ำและสระเกศ (ผม) ที่สระกำแพงซึ่งเป็นบารายหรือสระน้ำประจำเทวสถานสำคัญในสมัยนั้นคือปราสาทสระกำแพงใหญ่และปราสาทสระกำแพงน้อย จึงเป็นที่มาของชื่อ "ศรีสะเกษ" ("ศรีสระเกศ")

อนุสาวรีย์พระนางศรีสระเกศ เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนชาวศรีสะเกษ และถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของเมือง นอกจากนั้น บริเวณอนุสาวรีย์พระนางศรีสระเกศ เป็นที่รู้จักของชาวเทศบาลเมืองศรีสะเกษและประชาชนชาวศรีสะเกษโดยทั่วไปในชื่อ "วงเวียนแม่ศรี" หรือ "วงเวียนพระนางศรี" ซึ่งเป็นวงเวียนการจราจรอีกแห่งหนึ่งภายในเขตเทศบาล

ใกล้เคียง

เทศบาลนครแหลมฉบัง เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลเมือง เทศบาลนครนครราชสีมา เทศบาลนครนครศรีธรรมราช เทศบาลนครในประเทศไทย เทศบาลเมืองปากพูน เทศบาลนครอุบลราชธานี เทศบาลนครอุดรธานี