เทียนวรรณ

เทียนวรรณ หรือ ต.ว.ส. วัณณาโภ เป็นนามปากกาของ เทียน วัณณาโภ (พ.ศ. 2385 - พ.ศ. 2458) ทนายความ และนักคิดนักเขียนคนสำคัญ ที่มีบทความวิพากษ์ด้านนโยบายการต่างประเทศ ด้านเศรษฐกิจ และด้านการศึกษา ในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 6 เทียนวรรณศึกษากฎหมายด้วยตนเองอย่างจริงจัง และเริ่มทำงานเป็นที่ปรึกษากฎหมาย รวมทั้งศึกษาเพิ่มเติมทั้งภาษาไทยและอังกฤษอย่างต่อเนื่อง เขาเขียนทั้งบทความ, บันทึกประจำวัน, กาพย์กลอน และทำงานช่วยเหลือประชาชนทั่วไปให้ได้รับความยุติธรรมทางกฎหมาย ในปี พ.ศ. 2425 เทียนวรรณถูกฟ้องร้องกรณีเขียนฎีกาให้กับราษฎรผู้หนึ่ง และถูกตัดสินว่าหมิ่นตราพระราชสีห์ ซึ่งเท่ากับหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและหมิ่นประมาทเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตร ถูกโบย 50 ที และขังคุกโดยไม่มีกำหนด เทียนวรรณถูกจำขังอยู่ 17 ปี จึงได้รับอิสรภาพในปี พ.ศ. 2442 ระหว่างถูกคุมขังได้มีผลงานเขียนออกมาอย่างสม่ำเสมอเทียนวรรณ ได้ออกหนังสือพิมพ์รายปักษ์ ชื่อ "ตุลวิภาคพจนกิจ" ระหว่าง พ.ศ. 2442 ถึง พ.ศ. 2449 และ "ศิริพจนภาค" เมื่อ พ.ศ. 2451 โดยวิจารณ์สังคมไทยในยุคนั้น เช่นเรื่องการมีภรรยาหลายคน การเล่นการพนัน การรับสินบน และยังเสนอแนะให้รัฐบาลปรับปรุงพัฒนาประเทศ ตั้งโรงเรียนสอนวิชาแพทย์ วิชาช่าง ตั้งศาลยุติธรรม ตัดถนนและทางรถไฟ ก่อตั้งกิจการไปรษณีย์ โทรเลข และธนาคารพาณิชย์ เสนอกฎหมายห้ามสูบฝิ่น เลิกทาส ห้ามเล่นการพนัน ห้ามชายไทยมีภรรยาหลายคนเทียนวรรณเสียชีวิตเมื่อ ปี พ.ศ. 2458 ขณะอายุได้ 73 ปี