แต่งเพลง ของ เบญจมินทร์

ก่อนเข้ากรุงเทพฯ เบญจมินทร์หลงใหลเพลงรำวง - รำโทนอย่างมาก ทั้งยังเคยเข้าร่วมร้องเพลงในวงรำวง - รำโทนแถวบ้านด้วย ทำให้เขาเชี่ยวชาญเรื่องบทเพลงทำนองนี้อย่างมาก เมื่อได้รับการติดต่อจากบริษัทแผ่นเสียง จึงนำความเชี่ยวชาญนี้มาใช้อย่างจริงจัง

เขาเคยกล่าวว่าการแต่งเพลงได้รับอิทธิพลมาจากครูศิลปินที่ชื่นชอบ "พรานบูรพ์" (จวงจันทร์ จันทร์คณา)

เพลงแรกที่แต่งเอง "กล่อมขวัญใจ" ไม่ได้บันทึกเสียง แต่กลับนำไปร้องกล่อมเด็กข้างบ้าน

หันมาแต่งเพลงอย่างจริงจังราวปี พ.ศ. 2488 ซึ่งขณะนั้น รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามกำลังสนับสนุนเพลงรำวง - รำโทนอย่างมาก โดยชุดแรกมี 10 เพลง หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ "เมฆขลาล่อแก้ว" ในช่วงแรกแต่งให้กับห้างแผ่นเสียง บริษัท กมลสุโกศล ในราคาเพลงละ 500 บาท เพลงยังใกล้เคียงกับของเดิม คือเป็นเพลงสั้นๆ ประมาณ 2 ท่อน เป็นการหยิบเอามรดกดั้งเดิมของรำโทนอีสานมาปรับปรุงตกแต่งให้น่าสนใจยิ่งขึ้น

ปี พ.ศ. 2491 เมื่อเริ่มมีการบันทึกแผ่นเสียงเพลงรำวง - รำโทน เบญจมินทร์เร่งผลิตผลงานให้ห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ราว 50 เพลงๆละ 500 บาท ในช่วงนี้ เขาได้สร้างแบบฉบับของตัวเองขึ้นมาอย่างโดดเด่น จากเพลงรำวงแบบเดิม ที่มีอยู่ 2 ท่อน ก็เพิ่มเป็น 3 - 4 ท่อน รวมทั้งใส่พล็อตเรื่องและเพิ่มเครื่องดนตรีลงไป แทนที่จะมีแต่กลองโทนเป็นหลัก และก็ได้รับความนิยมอย่างสูง จน สาหัส บุญหลง (พฤหัส บุญหลง) เพื่อนร่วมคณะละคร ตั้งฉายาให้เขาว่า ราชาเพลงรำวง ระยะนี้เขามีผลงานทั้งประเภทแต่งเองร้องเอง ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างดี เพลงดังที่สุดในยุคนั้นชื่อ "รำเต้ย" ที่ขึ้นต้นว่า "สวยก็จริงนะสาว ขาวก็จริงนะน้อง..." นอกจากนี้ ยังมีเพลงที่แต่งให้คนอื่นร้อง และร้องเพลงของครูเพลงท่านอื่นด้วย

แม้กระทั่งบริษัทอัศวินแผ่นเสียงและการละคร ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ก็ยังรับสั่งให้ช่วยแต่งเพลง ยังความปลาบปลื้มแก่เบญจมินทร์อย่างยิ่ง