เบลอเดอตาแวร์นีเย
เบลอเดอตาแวร์นีเย

เบลอเดอตาแวร์นีเย

เบลอเดอตาแวร์นีเย (ฝรั่งเศส: Bleu de Tavernier) หรือ แทเวอร์เนียร์บลู (อังกฤษ: Tavernier Blue) เป็นเพชรขนาดยักษ์ สีน้ำเงิน ซึ่งพ่อค้าชาวฝรั่งเศสนาม ฌ็อง-บาติสต์ ตาแวร์นีเย (Jean-Baptiste Tavernier) นำมาจากประเทศอินเดียมาขายให้แก่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส และภายหลังถูกโจรกรรมไปใน ค.ศ. 1792 ช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ปัจจุบันเชื่อว่าถูกตัดแบ่งออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเพื่ออำพรางอัตลักษณ์ และกระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่าง ๆ หนึ่งในชิ้นส่วนดังกล่าวเชื่อกันว่าได้แก่เพชรโฮป[1][2]ตัวเพชรดั้งเดิมหนัก 112 3/16 กะรัตฝรั่งเศสโบราณ[3] ฌ็อง-บาติสต์ ตาแวร์นีเย พ่อค้าชาวฝรั่งเศส ขายเพชรนี้ให้แก่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินสดและบรรดาศักดิ์[4] เพชรได้รับการนำไปประดับไว้บนเข็มกลัดอกเมื่อ ค.ศ. 1674 ต่อมาใน ค.ศ. 1715 ได้รับการนำไปประดับไว้บนเข็มอิสริยาภรณ์ขนแกะทองคำ[1][2] เข็มอิสริยาภรณ์ดังกล่าว พร้อมทั้งเพชรนี้ ได้รับการบรรจุเข้าเป็นหนึ่งในเครื่องอัญมณีประจำราชาธิปไตยฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. 1749 ต่อมาใน ค.ศ. 1775 พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศส รับสั่งให้ถอดเพชรนี้ออกจากเข็มอิสริยาภรณ์ และให้ฌ็อง ปีโต (Jean Pitau) ช่างเพชรหลวง เจียระไนกลายเป็นเพชร 68 กะรัต ตั้งชื่อใหม่ว่า เบลอเดอฟร็องส์ (Bleu de France)[1][3] จากนั้น เพชรจึงได้รับการบรรจุกลับเข้าเป็นหนึ่งในเครื่องอัญมณีประจำราชาธิปไตย[4]ใน ค.ศ. 1792 ระหว่างชุลมุนในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส มีผู้โจรกรรมเพชรเบลอเดอฟร็องส์นี้ไป[3] เชื่อกันว่า เพชรถูกตัดออกเป็นชิ้นย่อยเพื่อปกปิดอัตลักษณ์ และหนึ่งในชิ้นเหล่านั้นคือเพชรโฮป หนัก 45.52 กะรัต[5] ความเชื่อนี้เป็นที่ยอมรับของนักประวัติศาสตร์และนักอัญมณีมายาวนาน และใน ค.ศ. 2005 มีงานวิจัยสนับสนุนความเชื่อดังกล่าว โดยใช้วิทยาการสมัยใหม่จำลองภาพ 3 มิติขึ้น[6][5]นอกจากเพชรโฮปแล้ว เชื่อกันว่า อีกชิ้นส่วนหนึ่งของเพชรเบลอเดอฟร็องส์ได้แก่เพชรซึ่งจักรพรรดินีมาเรีย พระมเหสีของจักรพรรดิปัฟเวลที่ 1 แห่งรัสเซีย ทรงนำไปประดับไว้บนพระธำมรงค์ และต่อมาใน ค.ศ. 1860 ทายาทของพระนางโอนให้แก่กองทุนเพชรแห่งรัสเซีย ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พระราชวังอะเล็กซานเดอร์[6]

ใกล้เคียง