การคมนาคม ของ เบลเกรด

ทางถนน

มอเตอร์เวย์สายหลักที่เป็นหัวใจใหญ่ในการเดินทางผ่านกรุงเบลเกรดไปยังเมืองสำคัญต่างๆในคาบสมุทรบัลข่านประกอบไปด้วย มอเตอร์เวย์สาย E-75 / A1 ซึ่งตัดผ่านประเทศเซอร์เบียตลอดแนวเหนือจรดใต้ตั้งแต่ชายแดนที่ติดต่อกับประเทศฮังการีจนถึงมาเซโดเนีย และ สาย A3 ระหว่างกรุงซาเกร็บและกรุงเบลเกรดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมอเตอร์เวย์สาย E-70

นอกจากนั้นกรุงเบลเกรดยังเป็นจุดเชื่อมเส้นทางสายรองอีกจำนวนมากซึ่งใช้เดินทางไปยังเมืองขนาดใหญ่และขนาดกลางอื่นๆของประเทศเซอร์เบีย อาทิ ซเรนยานิน ครากูเยวัทส์ วัลเยโว ฯลฯ

สะพานบรานคอฟ

สะพานข้ามแม่น้ำ

ปัจจุบันนี้ในเบลเกรดมีสะพานข้ามแม่น้ำทั้งหมด 10 แห่ง และกำลังก่อสร้างเพิ่มเติมยังไม่แล้วเสร็จอีก 1 แห่ง โดยแบ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำซาวาจำนวน 9 แห่ง(ในจำนวนนี้ 3 แห่งเป็นสะพานรถไฟ) และสะพานข้ามแม่น้ำดานูบอีก 1 แห่ง

  • สะพานบรานคอฟ(อังกฤษ: Branko's Bridge; เซอร์เบีย: Бранков мост) (ข้ามแม่น้ำซาวา) - อยู่บริเวณปลายแม่น้ำซาวาใกล้กับปากแม่น้ำที่ไหลลงแม่น้ำดานูบที่สุด เป็นสะพานคอนกรีตไร้ตอม่อรองรับน้ำนักส่วนของสะพานช่วงที่ตัดข้ามแม่น้ำ สร้างในปี ค.ศ. 1957 แทนที่สะพานคิงอเล็กซานดาร์ซึ่งเคยอยู่บริเวณเดียวกันมาก่อนแต่ถูกทำลายไปในสงครามโลกครั้งที่2
สะพานรถไฟสตารี เซเลซนิชกี้(สะพานเหล็กด้านหน้า) และสะพานนอวี เซเลซนิชกี้(สะพานแขวนเคเบิลสองเสาด้านหลัง) มองจากสะพานกาเซลา
  • สะพานสตารี ซาฟสกี้(อังกฤษ: Old Sava Bridge; เซอร์เบีย: Стари Савски Мост) (ข้ามแม่น้ำซาวา) - อยู่ถัดเข้ามาจากสะพานบรานคอฟไม่ห่างกันมากนัก เป็นสะพานที่ใช้สัญจรทั้งรถยนต์และรถราง ก่อสร้างครั้งแรกในช่วงที่เบลเกรดถูกฝ่ายนาซียึดครองในช่วงสงครามโลกครั้งที่2 ก่อนตัวสะพานดั้งเดิมที่สร้างด้วยไม้จะถูกสร้างใหม่แทนที่ด้วยตัวสะพานในปัจจุบันในปี ค.ศ. 1964
  • สะพานกาเซลา(อังกฤษ: Gazela Bridge; เซอร์เบีย: Мост Газела) (ข้ามแม่น้ำซาวา) - สร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1970 เคยเป็นสะพานที่มีอัตราการจำนวนรถสัญจรมากที่สุดเนื่องจากอยู่บนเส้นทางทางหลวงหลักสาย E-75 ที่เป็นทางหลวงสายหลักที่เชื่อมเมืองใหญ่ที่สุด 4 ใน 5 เมืองของเซอร์เบีย(ซูบอติทซา-นอวี ซาด-เบลเกรด-นีช) ทุกวันนี้ก็ยังเป็นสะพานหลักที่รองรับการสัญจรของกรุงเบลเกรดแม้ว่าจะมีสะพานอาดาเพิ่มขึ้นช่วยแบ่งเบาความหนาแน่นของการจราจรแล้วก็ตาม
  • สะพานสตารี เซเลซนิชกี้(อังกฤษ: Stari železnički most / Old Railroad Bridge; เซอร์เบีย: Стари железнички мост) (ข้ามแม่น้ำซาวา) - สะพานรถไฟที่เก่าแก่ที่สุดในเขตเมืองของกรุงเบลเกรด ก่อสร้างครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1884 ก่อนจะถูกทำลายในสงครามโลกทั้งสองครั้ง สะพานเหล็กที่เห็นในปัจจุบันนี้สร้างเมื่อครั้นจบสงครามโลกครั้งที่2 ใน ค.ศ. 1945
สะพานอาดา มองจากปลายสะพานด้านฝั่งเมืองเก่าของเบลเกรดไปยังฝั่งนอวี เบลเกรด
  • สะพานนอวี เซเลซนิชกี้(อังกฤษ: Novi železnički most / New Railroad Bridge; เซอร์เบีย: Нови железнички мост) (ข้ามแม่น้ำซาวา) - สะพานรถไฟแบบสะพานแขวนเคเบิล เปิดใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1979
  • สะพานอาดา(อังกฤษ: Ada Bridge; เซอร์เบีย: Мост преко Аде) (ข้ามแม่น้ำซาวา) - สะพานข้ามแม่น้ำซาวาแห่งใหม่ล่าสุดซึ่งอยู่ห่างจากปากแม่น้ำซาวาไกลที่สุด(นับเฉพาะกลุ่มสะพานที่อยู่ในขอบเขตตัวเมืองของกรุงเบลเกรด) เปิดใช้งานอย่างเปิดทางการในวันขึ้นปีใหม่ปี ค.ศ. 2012 สร้างเป็นสะพานแขวนเคเบิลที่มีเสารับน้ำหนักเพียงเสาเดียวซึ่งมีความยาวมากที่สุดในโลก โดยมีตอม่อของเสารับน้ำหนักสะพานตั้งอยู่บนส่วนปลายของเกาะอาดา ซิกันลียา จึงเป็นที่มาของชื่อสะพาน โดยความสูงของเสาคอนกรีตรับน้ำหนักสะพานถึง 200 เมตร นับเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีความสูงมากที่สุดในกรุงเบลเกรดจนถึงทุกวันนี้และสร้างความสะดุดตายามที่มองขอบฟ้า ด้วยเหตุนั้นสะพานนี้ก็ได้กลายเป็นแลนด์มาร์กของเมืองหลวงเซอร์เบียอีกแห่งนึง
  • สะพานมอเตอร์เวย์เส้นเลี่ยงตัวเมือง (ข้ามแม่น้ำซาวา) - อยู่ในเขตชุมชนออสทรุซนิทซา(อังกฤษ: Ostružnica; เซอร์เบีย: Остружница) ห่างจากใจกลางเมืองของกรุงเบลเกรดทางตะวันตกเฉียงใต้ราวๆ 14 กิโลเมตรบนทางหลวงสายเลี่ยงตัวเมือง ก่อสร้างแล้วเสร็จในปีค.ศ. 1998 ทว่าปีต่อมาในช่วงที่นาโต้ทิ้งระเบิดใส่ยูโกสลาเวียในสงครามคอซอวอก็ได้รับความเสียหายจนต้องดำเนินการซ่อมแซมจนกลับมาเปิดใช้งานได้ในปี ค.ศ. 2004
  • สะพานรถไฟออสทรุซนิทซา (ข้ามแม่น้ำซาวา) - ตั้งอยู่ใกล้ๆกับสะพานมอเตอร์เวย์ที่ตัดผ่านชุมชนออสทรุซนิทซา
  • สะพานข้ามแม่น้ำที่โอเบรโนวัทส์ (ข้ามแม่น้ำซาวา) - อยู่ในอาณาเขตของแขวงโอเบรโนวัทส์ทางทิศตะวันตกสุดของเขตปกครองพิเศษเบลเกรด ห่างจากใจกลางของกรุงเบลเกรดประมาณ 30 กิโลเมตร
พิกัดของสะพานปูปินซึ่งจะเป็นสะพานข้ามแม่น้ำดานูบแห่งที่สองของกรุงเบลเกรด

ในด้านสะพานข้ามแม่น้ำดานูบนั้น ปัจจุบันมีใช้งานเพียงสะพานเดียวคือสะพานปันเชโว(อังกฤษ: Pančevo Bridge; เซอร์เบีย: Панчевачки мост / Pančevački most) ซึ่งเชื่อมการจราจรจากกรุงเบลเกรดไปยังเมืองปันเชโว เมืองหลักของเขตบานัทใต้(อังกฤษ: South Banat District; เซอร์เบีย: Јужнобанатски округ / Južnobanatski okrug)ที่อยู่ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำดานูบเยื้องไปทางตะวันออกเฉียงใต้ของแขวงปาลิลูลา ทว่าก็กำลังมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำดานูบแห่งที่สองอยู่ในแขวงเซมุนคือสะพานปูปิน ซึ่งตั้งชื่อมาจากนักฟิสิกส์ชาวเซอร์เบียในสมัยต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 Mihajlo Idvorski Pupin ผู้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตบานัทที่เป็นปลายด้านตะวันออกของสะพานใหม่แห่งนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนธันวาคม ค.ศ. 2014

แหล่งที่มา

WikiPedia: เบลเกรด http://web.mit.edu/most/www/ser/Belgrade/architect... http://web.archive.org/web/20070209215159/http://w... http://en.wikiquote.org/wiki/Belgrade //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://www.beograd.rs/ http://www.beograd.rs/cms/view.php?id=201029 http://www.beograd.rs/cms/view.php?id=201172 http://www.beograd.rs/cms/view.php?id=201197 http://www.beograd.rs/cms/view.php?id=514908 http://www.ancient-wisdom.co.uk/serbiavinca.htm