การแพทย์ ของ เบวาซิซูแมบ

มะเร็งลำไส้ใหญ่

องค์การอาหารและยาสหรัฐอนุมัติให้ใช้เป็นยารักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ที่กระจายแล้ว โดยใช้ร่วมกับเคมีบำบัดปกติ ซึ่งเป็นการรักษาลำดับแรก หรือโดยใช้กับยา 5-fluorouracil ซึ่งเป็นการรักษาลำดับสอง

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2548 องค์กรยายุโรป (EMA) จึงอนุมัติให้ใช้รักษามะเร็งลำไส้ใหญ่[9]ยายังได้ตรวจสอบเพื่อใช้เสริมยาเคมีบำบัดอื่น ๆ ในคนไข้มะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ยังไม่แพร่กระจายแต่งานศึกษาที่ทำแบบสุ่มสองงานแสดงว่า ไม่มีประโยชน์เพื่อป้องกันมะเร็งไม่ให้กลับมาและอาจมีโทษสำหรับคนไข้กรณีนี้[10]

มะเร็งปอด

ในปี พ.ศ. 2549 องค์การอาหารและยาสหรัฐอนุมัติให้ใช้เป็นยารักษามะเร็งปอดแบบ nonsquamous non-small-cell lung carcinoma เป็นลำดับแรกโดยใช้ร่วมกับเคมีบำบัดที่ใช้ยา carboplatin หรือ paclitaxel การอนุมัติอาศัยงานศึกษาสำคัญที่เรียกว่า E4599 (ซึ่งทำโดย Eastern Cooperative Oncology Group) ซึ่งแสดงการรอดชีวิตโดยรวม (overall survival) ได้นานขึ้นสองเดือนสำหรับคนไข้ที่รักษาด้วยยา[11]การวิเคราะห์ทางวิทยาเนื้อเยื่อที่วางแผนล่วงหน้าใน E4599 แสดงการรอดชีวิตได้นานขึ้น 4 เดือนโดยมัธยฐาน สำหรับคนไข้มะเร็งชนิดต่อม[12] ซึ่งเป็นในกรณีคนไข้ 85% ของมะเร็งปอดกลุ่ม non-squamous cell carcinoma

การทดลองทางคลินิกของยุโรป คือ AVAiL ต่อมารายงานในปี พ.ศ. 2552 ยืนยันช่วงการมีชีวิตที่โรคไม่ก้าวหน้านานขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เหมือนที่พบใน E4599[13] แต่การรอดชีวิตโดยรวมไม่นานขึ้นเมื่อรักษาด้วยยา ซึ่งอาจเป็นเพราะการใช้ยาที่จำกัดกว่าในการรักษาแบบธำรงสภาพ (maintenance) ใน AVAiL เมื่อเทียบกับ E4599 ผลแตกต่างเช่นนี้ก็พบในคนไข้มะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วย[14] ในฐานเป็นยายับยั้งกำเนิดหลอดเลือด ไม่มีเหตุผลเนื่องกับกลไกของยาเพื่อยุติการใช้ยาก่อนโรคจะแย่ลงอีก กล่าวอีกอย่างก็คือ ประโยชน์คือการรอดชีวิตที่ได้จากการใช้ยา จะหวังได้ก็ต่อเมื่อใช้ตามหลักฐานทางคลินิกคือ ให้ใช้ยาจนกระทั่งโรคแย่ลงหรือมีผลข้างเคียงที่ยอมรับไม่ได้

งานทดลองทางคลินิกของยุโรปในการใช้ยารักษามะเร็งปอด คือ AVAPERL ได้รายงานในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2554[15]คนไข้ได้รักษาด้วย เบวาซิซูแมบ ร่วมกับยา cisplatin/pemetrexed 4 รอบ แล้วจัดเข้ากลุ่มต่าง ๆ โดยสุ่มเพื่อรักษาแบบธำรงสภาพ (maintenance) ด้วยยา bevacizumab/pemetrexed หรือด้วย เบวาซิซูแมบ อย่างเดียวจนกระทั่งโรคแย่ลงอีกการรักษาธำรงสภาพด้วย bevacizumab/pemetrexed ลดความเสี่ยงโรคแย่ลงถึง 50% เทียบกับเมื่อใช้ เบวาซิซูแมบ อย่างเดียว (ค่ามัธยฐานของช่วงการมีชีวิตที่โรคคงสภาพ 10.2 เดือนเทียบกับ 6.6 เดือน)แต่ก็ไม่ได้เพิ่มการรอดชีวิตโดยรวมอย่างสำคัญเทียบกับเมื่อใช้ เบวาซิซูแมบ เดี่ยว ๆ เมื่อวิเคราะห์ติดตามผล[16]

เครือข่ายศูนย์มะเร็งแห่งชาติสหรัฐ (National Comprehensive Cancer Network) แนะนำให้ใช้ยา เบวาซิซูแมบ เป็นการรักษาลำดับแรกบวกกับเคมีบำบัดมาตรฐานอื่น ๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วตามด้วยการรักษาธำรงสภาพด้วยยาจนกว่าอาการจะแย่ลงโดยให้ยาในขนาดสูงกว่าเมื่อใช้เคมีบำบัดที่อาศัยยา carboplatin เทียบกับเมื่อให้เคมีบำบัดที่อาศัยยา cisplatin

ในมะเร็งปอดระยะปลาย คนไข้น้อยกว่าครึ่งจะผ่านเกณฑ์เพื่อรักษา[17][18]

มะเร็งเต้านม

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2553 องค์การอาหารและยาสหรัฐได้แจ้งความตั้งใจถอนข้อบ่งใช้ยาในการรักษามะเร็งเต้านม (ซึ่งอนุมัติในปี พ.ศ. 2551) โดยอ้างว่า ไม่ปรากฏว่าปลอดภัยหรือมีประสิทธิผลสำหรับคนไข้คือ ข้อมูลรวมกันจากการทดลองทางคลินิกต่าง ๆ กัน 4 งานแสดงว่า ยาไม่ได้ทำให้รอดชีวิตโดยรวมได้นานขึ้น และไม่ได้ชะลออาการพอเมื่อเปรียบเทียบกับความเสี่ยงที่เกิดแก่คนไข้การถอนอนุมัตินี้มีผลให้บริษัทไม่สามารถโฆษณาขายยาเพื่อรักษามะเร็งเต้านมเท่านั้นและแพทย์ก็ยังสามารถให้ยานอกเหนือจากข้อบ่งใช้ แต่บริษัทประกันสุขภาพก็มีโอกาสน้อยลงในการจ่ายค่ายาที่ใช้นอกข้อบ่งใช้[19][20]

ต่อมาเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2554 คณะกรรมการขององค์กรก็ได้ปฏิเสธการอุทธรณ์ของบริษัทเจ้าของยาอย่างเป็นเอกฉันท์คือ คณะผู้ชำนาญการในเรื่องมะเร็งได้ตัดสินเป็นครั้งที่สองว่า Avastin (เบวาซิซูแมบ) ซึ่งเป็นยารักษามะเร็งที่ขายดีเป็นอันดับสองของโลก ไม่ควรใช้ต่อไปในคนไข้มะเร็งเต้านม เป็นการกำจัดอุปสรรคให้รัฐบาลสหรัฐถอนอนุมัติของยาการประชุมนี้เป็นการพิจารณาอุทธรณ์ของบริษัทเป็นขั้นสุดท้ายคณะผู้ชำนาญการได้สรุปว่า งานทดลองทางคลินิกของมะเร็งเต้านมที่ให้ยา Avastin แก่คนไข้ไม่แสดงประโยชน์ในอัตราการรอดชีวิต ไม่ทำคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และเกิดผลข้างเคียงอย่างสำคัญอย่างไรก็ดี กลุ่มสนับสนุนคนไข้ต่าง ๆ ก็รู้สึกผิดหวังในการตัดสินใจของคณะ[21]

ต่อมาเดือนตุลาคม พ.ศ. 2554 องค์กรจึงได้ประกาศว่าได้ถอนการอนุมัติการบ่งใช้ในโรคมะเร็งเต้านมของยา โดยสรุปว่าไม่มีหลักฐานว่ายาปลอดภัยหรือมีประสิทธิผลเพื่อข้อบ่งใช้นี้

มะเร็งไต

ในมะเร็งไตบางอย่าง ยาช่วยทำให้มีช่วงชีวิตที่โรคคงสภาพนานขึ้น แต่ไม่ช่วยให้รอดชีวิตได้นานขึ้นในปี พ.ศ. 2552 องค์กรอาหารและยาสหรัฐอนุมัติให้ใช้ยาเพื่อรักษามะเร็งเซลล์ไต (renal cell cancer) ที่แพร่กระจายแล้ว[22][23]หลังจากได้รายงานที่แสดงว่ามีฤทธิ์[24]สหภาพยุโรปก็ให้อนุมัติในปี พ.ศ. 2550[25]

มะเร็งสมอง

ยาชะลอการเติบโตของเนื้องอกแต่ไม่มีผลให้รอดชีวิตได้นานขึ้นในคนไข้มะเร็งแบบ glioblastoma multiforme[26]องค์การอาหารและยาสหรัฐได้ให้อนุมัติเพื่อรักษาโรคนี้แบบกลับเป็นซ้ำในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552[27]แต่งานปริทัศน์แบบคอเครนปี พ.ศ. 2557 ก็อ้างว่า ไม่มีหลักฐานพอเพื่อใช้รักษาการกลับเป็นซ้ำ[26]

โรคตา

โรคตาหลายชนิด เช่น จุดภาพชัดเสื่อมเนื่องกับอายุ (AMD) และโรคจอตาเหตุเบาหวาน ทำจอตาให้เสียหายและเป็นเหตุให้ตาบอด เมื่อเส้นเลือดรอบ ๆ จอตางอกอย่างผิดปกติแล้วปล่อยให้น้ำซึมออก ทำให้ชั้นต่าง ๆ ของจอตาแยกออกจากกันการงอกผิดปกติเช่นนี้มีเหตุจากแฟกเตอร์โปรโมตการเติบโตของเส้นเลือด คือ vascular endothelial growth factor (VEGF) และแพทย์ได้ใช้ เบวาซิซูแมบ เพื่อยับยั้ง VEGF และชะลอการงอกของเส้นเลือด

จักษุแพทย์ได้ใช้ยานี้แบบนอกข้อบ่งใช้ (off-label) โดยเป็นยาฉีดเข้าในวุ้นตาเพื่อรักษาโรคตาที่งอกเส้นเลือดใหม่ โดยเฉพาะที่เส้นเลือดงอกในชั้นคอรอยด์ของจอตา (CNV) ใน AMDแม้องค์กรอาหารและยาสหรัฐยังไม่ได้อนุมัติให้ใช้อย่างนี้ การฉีดยาประมาณ 1.25-2.5 มก. เข้าที่ช่องวุ้นตาก็ไม่ก่อพิษภายในตาอย่างสำคัญ[28]แพทย์เฉพาะทางในเรื่องจอตาได้เห็นผลที่น่าทึ่งในการรักษา CNV, โรคจอตาเหตุเบาหวาน, ต้อหินแบบเส้นเลือดใหม่งอก (neovascular glaucoma), จุดภาพชัดบวมเหตุเบาหวาน (diabetic macular edema), โรคจอตาของทารกคลอดก่อนกำหนด (retinopathy of prematurity)[29]และจุดภาพชัดบวม (macular edema) ซึ่งเป็นอาการทุติยภูมิของการอุดตันของเส้นเลือดดำในจอตา (retinal vein occlusion)

งานทบทวนบางงานได้สรุปว่า ผลที่ได้จากยา เบวาซิซูแมบ และ ranibizumab คล้ายกัน[30][31]แต่งานอื่น ๆ ก็แสดงผลไม่พึงประสงค์ในอัตราที่สูงกว่า[32][33][34]เช่น ภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือดเมื่อใช้ เบวาซิซูแมบ หรือไม่สามารถได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเนื่องจากมีข้อมูลจำกัด[35]

ในเรื่องความปลอดภัยของยานี้ ประเด็นที่ควรคำนึงถึงเป็นพิเศษเมื่อใช้รักษาโรคจุดภาพชัดจอตา ก็คืออาจเกิดการปนเปื้อนหรือติดเชื้อเมื่อแบ่งบรรจุและเก็บยาก่อนที่จะนำไปฉีดให้ผู้ป่วย ผศ.นพ.ธนภัทร รัตนภากร จากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้อธิบายในส่วนนี้ว่า “ต้องมีการแบ่งยา เบวาซิซูแมบ จากปริมาณบรรจุ 4 ซีซี เพื่อใช้ประมาณ 0.05 ซีซีต่อครั้ง ขั้นตอนหลังจากนั้นจะมีการเก็บยาไว้ เมื่อใดก็ตามที่ต้องมีหลายกระบวนการก่อนที่จะฉีดเข้าตา โอกาสปนเปื้อนในแต่ละจุดจึงเกิดได้ รวมทั้งการเก็บยาไว้นานเกินไป เก็บในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม ล้วนแต่อาจจะมีข้อบกพร่องซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อ เมื่อเทียบกับยาที่ออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับการฉีดเข้าตาโดยไม่ต้องแบ่ง” ทั้งนี้ สำหรับยา ranibizumab เอง ก็ต้องดูดเข้าเข็มฉีดยาก่อนฉีดให้แก่คนไข้เหมือนกัน หากไม่มีระบบฆ่าเชื้อที่ดีก็อาจปนเปื้อนได้เช่นกัน แต่อาจเกิดน้อยกว่าเพราะไม่ต้องแบ่งยา[36]

มะเร็งรังไข่

ในปี พ.ศ. 2561 องค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ให้การรับรอง เบวาซิซูแมบ ร่วมกับเคมีบำบัดสำหรับมะเร็งรังไข่ระยะที่สาม หรือสี่ หลังจากการผ่าตัดครั้งแรก ตามด้วยการให้ เบวาซิซูแมบ อย่างเดียว การอนุมัติมีพื้นฐานจากการศึกษาการเพิ่ม เบวาซิซูแมบ ในการให้ยา carboplatin และ paclitaxel[37] การอยู่รอดแบบไม่มีการลุกลามของโรคเพิ่มขึ้นจาก 13 เดือนเป็น 18 เดือน[37]

การให้ยา

เบวาซิซูแมบ ปกติจะให้ทางเส้นเลือดดำทุก ๆ 14 วันในมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะให้ร่วมกับยาเคมีบำบัด คือ 5-FU (5-fluorouracil), leucovorin, และ oxaliplatin/irinotecan[38]สำหรับโรคตา มันจะฉีดเข้าที่ช่องวุ้นตา (intravitreous)

แหล่งที่มา

WikiPedia: เบวาซิซูแมบ http://www.abc.net.au/news/stories/2010/07/22/2960... http://www.cbc.ca/news/canada/prince-edward-island... http://www.cbc.ca/news/health/story/2013/05/02/ava... http://www.avastin.com http://www.biopharma-reporter.com/Bio-Developments... http://mettapharmacy.blogspot.com/2014/04/blog-pos... http://www.bmj.com/content/350/bmj.h1654 http://www.clinicalconnection.com/exp/EPVS.aspx?st... http://currentcancer.com/nccn-guidelines-for-breas... http://www.drugcite.com/?q=AVASTIN