ประวัติ ของ เพลงพญาโศก

เพลงพญาโศก เป็นเพลงไทยเดิมที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยรวมอยู่ในเพลงเรื่องพญาโศก (ประกอบด้วยเพลงพญาฝัน, พญาโศก, ท้ายพญาโศก, พญาตรึก, พญารำพึง และพญาครวญ) ใช้ในการร้องหรือบรรเลงประกอบอารมณ์โศกเศร้า เพลงนี้มีทั้งเพลงอัตราจังหวะ 2 ชั้น และอัตราจังหวะ 3 ชั้น โดยเพลงพญาโศก 2 ชั้น นิยมบรรเลงเฉพาะเพลงพญาโศกเพียงเพลงเดียว แต่บางครั้งจะบรรเลงเป็นเพลงเรื่องทั้งชุด ส่วนเพลงพญาโศก 3 ชั้น นิยมบรรเลงแบบ "เดี่ยว" คือบรรเลงคนเดียวด้วยเครื่องดนตรีแต่ละชนิดตามแต่ถนัด เพื่ออวดฝีมือและทักษะการบรรเลงของนักดนตรีโดยเฉพาะ ซึ่งพระประดิษฐ์ไพเราะ (มี ดุริยางกูร) หรือครูมีแขก นักดนตรีไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ริเริ่มประดิษฐ์เพลงพญาโศกทางบรรเลงเดี่ยวเป็นคนแรก

สำหรับการใช้เพลงพญาโศกร้องประกอบการแสดงโขนละคร จะใช้เพลงพญาโศก 2 ชั้น และต้องร้องในบทที่ตัวละครโศกเศร้าอยู่กับที่ เช่น ยืน นั่ง นอน เท่านั้น จะใช้ในบทที่เดินเคลื่อนที่ไปไม่ได้ นอกจากนี้ บทที่ร้องด้วยเพลงพญาโศกจะต้องเลือกฐานะของตัวละคร  โดยมากจะต้องใช้กับตัวละครที่เป็นกษัตริย์ เจ้านาย หรือผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นสูง

ใกล้เคียง