ข้อเท็จจริงและข้อสันนิษฐาน ของ เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา

เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาแต่งขึ้นเลียนแบบมหาสุบินชาดก และนิทาน "พยาปัถเวนทำนายฝัน" ชาดกและนิทานดังกล่าวเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระสุบินนิมิตสิบหกประการของประการของพระเจ้าปเสนทิโกศลที่ได้ทูลถามคำพยากรณ์จากพระโคตมพุทธเจ้า

เพลงยาวฯ นี้ ปรากฏอยู่ในหนังสือ "อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยา" ซึ่งมหาอำมาตย์โท พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) อดีตสมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา และอดีตอุปนายกราชบัณฑิตยสภา แผนกโบราณคดี พิมพ์ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในการพระราชพิธีทรงบวงสรวงอดีตมหาราชเจ้าที่พระนครศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2459

สันนิษฐานว่าเพลงยาวนี้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่นักวิชาการยังไม่อาจสรุปแน่ชัดว่าใครเป็นผู้แต่ง แม้ว่าในตอนท้ายของบทกลอนได้บันทึกกำกับไว้ว่า "พระนารายณ์เป็นเจ้านพบุรีทำนาย..." หากว่าเป็นจริงตามนั้น "พระนารายณ์" ก็หมายถึงสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ส่วน "นพบุรี" คือเมืองลพบุรี

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายไว้ในคำนำหนังสือดังกล่าว มีความตอนหนึ่งว่า "...เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา อ้างไว้ข้างท้ายว่าเปนพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพลงยาวนี้มีหลักฐานควรเชื่อแต่ว่าแต่งเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานี ด้วยในคำให้การของพวกชาวกรุงเก่าที่พม่าจับไปถามคำให้การเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาได้กล่าวอ้างถึง แต่ข้อที่ว่าเปนพระราชนิพนธ์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้นไม่มีหลักฐานอย่างอื่นนอกจากที่มีเขียนอ้างไว้กับเพลงยาว ปลาดอยู่ที่เพลงยาวบทนี้ยังมีผู้ท่องจำกันมาได้แพร่หลายจนในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ แต่เรียกกันว่าเพลงยาวพุทธทำนาย...”

ในหนังสือ “คำให้การชาวกรุงเก่า” ก็มีเรื่องคำพยากรณ์กรุงศรีอยุธยานี้เช่นกัน กล่าวว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของพระพุทธเจ้าเสือ มีเนื้อความสั้นกว่าและปรากฏความเป็นร้อยแก้ว ซึ่งสันนิษฐานเพิ่มเติมได้อีกว่า เพลงยาวฯ นี้อาจแต่งขึ้นเพื่อใช้ทำลายขวัญกำลังใจสาธารณะอันเป็นจิตวิทยาทางการเมือง เพราะบทกลอนดังกล่าวมีเนื้อความคล้ายกับร่ายของพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีหรือพระเจ้าเสือที่ทรงประพันธ์ขึ้นมาเพื่อใช้ในปฏิบัติการจิตวิทยาทางการเมืองในปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งต่อมาผู้นำในสมัยรัตนโกสินทร์ก็ใช้ประโยชน์จากบทกลอนดังกล่าวมาอธิบายเหตุการณ์การเสียกรุงศรีอยุธยาโดยมีเป้าหมายในทางการเมืองที่ต่างไปจากพระเจ้าเสือ

สรุปก็คือ ถ้าหากว่าเพลงยาวนี้ได้ถูกแต่งในสมัยอยุธยาจริง อาจกล่าวได้ว่า

1. ผู้แต่งจะต้องเป็นบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง มีความสามารถในทางโหราศาสตร์หรือทางจิตวิทยาและเป็นนักประพันธ์นำมาผนวกกับเรื่องราวของพุทธทำนายดังกล่าวข้างต้น

2. เพลงยาวฯ นี้อาจใช้เป็นจุดประสงค์ในทางการเมือง

ข้อสังเกตอีกประเด็นหนึ่งก็คือ การทำนายชะตาบ้านเมืองไปในทางเลวร้ายเช่นนี้ถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตายและเป็นการอัปมงคล หากเป็นการแต่งโดยบุคคลธรรมดาก็อาจจะถูกลงโทษสถานหนัก ดังนั้นผู้ที่สามารถทำนายกล่าวอ้างออกมาได้และทำให้ผู้คนยอมรับและจดจำกันได้นั้น ก็ย่อมต้องเป็นบุคคลที่มีความสำคัญระดับพระมหากษัตริย์ หรือบุคคลที่พระมหากษัตริย์ให้การยอมรับนับถือ