ประวัติ ของ เพียเมืองแพน

อพยพจากเวียงจันทน์

พ.ศ. ๒๓๒๒ พระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์ (ครองราชย์ราว พ.ศ. ๒๒๙๔-๒๓๒๒) พิพาทกับกลุ่มเจ้าพระวอเจ้าพระตาเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน แล้วยกทัพตีค่ายบ้านดอนมดแดงแตกจับเจ้าพระวอประหาร กษัตริย์ธนบุรีจึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) สองพี่น้องยกทัพตีนครเวียงจันทน์ เจ้าแก้วบุฮม (แก้วบรม) และเพียเมืองแพน (พระยาเมืองแพน) สองพี่น้องซึ่งเป็นโอรสเจ้าแสนปัจจุทุม (ท้าวแสนแก้วบุฮม)[13] ในราชวงศ์ล้านช้างจึงยกไพร่พลจากบ้านเพี้ยปู่แขวงเมืองธุรคมหงษ์สถิตย์ซึ่งตั้งอยู่ทิศเหนือเวียงจันทน์ไปทางน้ำงึมราว ๗๐ กิโลเมตร ข้ามน้ำโขงมาตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่บ้านโพธิ์ตาก (ตำบลบ้านกง อำเภอเมืองขอนแก่น) บ้านยางเดี่ยว บ้านโพธิ์ศรี (ตำบลบ้านโนน อำเภอกระนวน)[14] บ้านโพธิ์ชัย (อำเภอมัญจาคีรี) บ้านสร้าง บ้านชีโหล่น (เขตเมืองสุวรรณภูมิ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด)[15] และไพร่พลบางส่วนตั้งอยู่เขตอำเภอเมืองขอนแก่น อำเภอน้ำพอง อำเภออาจสามารถในจังหวัดร้อยเอ็ด และอำเภอคำเขื่อนแก้วในจังหวัดยโสธร[16] เฉพาะเจ้าแก้วบุฮมอพยพไพร่พลตั้งที่บ้านโพธิ์ชัยฝ่ายเพียเมืองแพนอพยพไพร่พลตั้งที่บ้านชีโหล่น[17] คุมไพร่พลคนละ ๕๐๐ ขึ้นเมืองท่งหรือเมืองสุวรรณภูมิ ราว ๙ ปีต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๓๑ เพียเมืองแพนอพยพไพร่พลราว ๓๓๐ คนขอแยกจากเมืองสุวรรณภูมิไปตั้งบ้านเรือนที่บึงบอนบ้านดอนพยอมเมืองเพี้ยยกขึ้นเป็นเมือง ปัจจุบันคือบ้านเมืองเพี้ย ตำบลเมืองเพี้ย อำเภอบ้านไผ่[18]

เริ่มตั้งเมือง

หลังทัพสยามบุกทำลายนครเวียงจันทน์ได้กวาดต้อนเจ้านาย ขุนนาง และไพร่พลลาวเข้ามาในอาณาเขตสยามตั้งรกรากส่วนมากที่สระบุรีรวมทั้งหัวเมืองลาวชั้นในและกรุงเทพฯ[19] เจ้านางคำแว่นราชวงศ์ล้านช้างธิดาคนโตของเพียเมืองแพนอดีตนางข้าหลวงของเจ้านางเขียวค้อมพระราชธิดาพระเจ้าสิริบุญสาร[20][21] ถูกควบคุมตัวในฐานะเชลยไว้ที่พระบรมมหาราชวัง พ.ศ. ๒๓๒๕ เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกปราบดาภิเษกตนเองเป็นกษัตริย์สยามรัชกาลที่ ๑ แล้วย้ายราชธานีจากธนบุรีมาตั้งที่บางกอก จึงมีนโยบายกดดันเจ้านายหัวเมืองลาวสองฝั่งโขงให้อยู่ในความควบคุมผ่านการตั้งเมืองขึ้นโดยส่งบรรณาการปีละ ๒ ครั้ง พ.ศ. ๒๓๓๑ เพียเมืองแพนทราบข่าวธิดาถูกสถาปนาเป็นพระสนมเอกและกวนเมืองแสนหรือเพียเมืองแสน (ท้าวคำพาว) ญาติสนิทได้เป็นพระจันทรประเทศเจ้าเมืองชลบถ ปัจจุบันคืออำเภอชนบทในจังหวัดขอนแก่น[22] จึงอพยพไพร่พลมาอยู่บ้านโนนทองข้างบึงบอน (หนองขอนแก่นหรือบึงพระลับโนนทอง) ตั้งเป็นบ้านบึงบอนปัจจุบันคือพื้นที่บึงแก่นนคร ก่อนตั้งเมืองได้สำรวจสถานที่ลงหลักปักฐานจากบ้านภูเวียงใกล้เขาภูเวียงมาถึงบ้านโพธิ์ตากใกล้บึงชัยวานและน้ำพองหนีบ ซึ่งมีน้ำพองไหลผ่านทิศเหนือและน้ำเซินไหลผ่านทิศใต้ แต่เห็นว่าบริเวณดังกล่าวคงห่างไกลกรุงเทพฯ และปีใดฝนดีน้ำก็ท่วม จึงสำรวจสถานที่ตั้งเมืองใหม่ ณ บ้านทุ่มแต่น้ำท่าไม่สะดวกและเจ้าเมืองชลบถอ้างว่าเป็นเขตแดนเมืองชลบถเสมอซึ่งอ้างมาจนสมัยรัชกาลที่ ๕ เพียเมืองแพนจึงเลือกบริเวณบ้านโนนทอง บ้านโนนทัน และบ้านพระลับ[23] ซึ่งนอกจากตั้งใกล้บึงบอนยังใกล้น้ำชี เมื่อตั้งเมืองด้วยไพร่พล ๓๓๐ คนแล้วจึงสมัครขึ้นเมืองนครราชสีมา[24] โดยมีใบบอกถึงพระยานครราชสีมาและปักบือเมืองหรือเสาหลักเมือง ณ ทิศตะวันตกวัดกลาง บ้านเมืองเก่า ถนนกลางเมือง สร้างหอโฮงเจ้าเมือง ๓ หลังซึ่งใหญ่กว่าที่ว่าราชการเมืองหรือจวนเจ้าเมือง

การพระพุทธศาสนา

ราว พ.ศ. ๒๓๓๒-๒๓๓๓ เพียเมืองแพนสร้างวัดประจำเมืองขึ้น ๔ วัดคือ

๑. วัดเหนือ (วัดหนองแวงพระอารามหลวง) สำหรับเจ้าเมืองบำเพ็ญกุศลและประกอบพิธีกรรม[25] ที่เรียกวัดเหนือเนื่องจากตั้งอยู่เหนือทางน้ำไหล

๒. วัดกลาง (วัดกลางเมืองเก่า) ติดโฮงเจ้าเมือง[26] สำหรับกรมการผู้ใหญ่บำเพ็ญกุศลและประกอบพิธีกรรม

๓. วัดใต้ (วัดธาตุพระอารามหลวง) หรือวัดพระธาตุโนนทอง หรือวัดธาตุเมืองเก่า สำหรับประชาชนบำเพ็ญกุศลและประกอบพิธีกรรม ที่เรียกว่าวัดใต้เนื่องจากตั้งอยู่ทิศใต้สายน้ำแต่อยู่ทิศเหนือของเมือง ที่เรียกวัดธาตุเนื่องจากมีธาตุเก่าตั้งอยู่ทิศตะวันออกของวัด ในอดีตน้ำจากบึงแก่นนครไหลลงบึงทุ่งสร้างดังนั้นคุ้มเหนือจึงตั้งอยู่ทิศใต้ของเมือง

๔. วัดแขก (วัดโพธิ์โนนทัน) หรือวัดท่าแขก ฟากตะวันออกบึงบอน สำหรับสงฆ์และแขกเมืองหรือคนต่างถิ่นพักอาศัยบำเพ็ญกุศลและประกอบพิธีกรรม นอกจากนี้ยังบูรณะสิม (พระอุโบสถ) ขึ้นใหม่[27]

สถาปนาเมืองขอนแก่น

ปลาย พ.ศ. ๒๓๓๙ รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ เจ้านางคำแว่นธิดาเพียเมืองแพนเป็นท้าวเสือ เมืองขอนแก่นส่งส่วยเมืองนครราชสีมาครบ ๙ ปี เจ้านางคำแว่นจึงกราบบังคมทูลให้บิดายกไพร่พลแยกจากเมืองสุวรรณภูมิตั้งเป็นเมือง พระยานครราชสีมามีใบบอกถึงกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๓๔๐[28][29] รัชกาลที่ ๑ จึงโปรดเกล้าฯ ยกบ้านบึงบอนเป็นเมืองขอนแก่น ให้เพียเมืองแพนเป็นพระนครศรีบริรักษ์เจ้าเมืองขึ้นต่อกรุงเทพฯ[30] ดังระบุในใบบอกเมืองขอนแก่น เขียนที่ว่าราชการเมืองขอนแก่นฝ่ายเมืองเดิม วันที่ ๒๘ เมษายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๐๙ ว่า

ข้าพเจ้าอุปฮาต ราชวงษ์ ราชบุตร หลวงพรหมภักดีผู้ช่วย เมืองแสน เมืองจัน ท้าวเพี้ยกรมการเมืองขอนแก่น บอกปรนนิบัติคำนับมายังท่านออกพันนายเวร ขอให้นำขึ้นกราบเรียน พณหัวเจ้าท่านลูกขุน ณ ศาลาทรงทราบ ด้วยเดิมจะตั้งเป็นเมืองขอนแก่น เจ้านางคำแว่นกราบบังคมทูลให้เมืองแพน พาสมัครพรรคพวกแยกออกจากเมืองสุวรรณภูมิ จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมตั้งเมืองแพนเป็นที่เจ้าเมืองขอนแก่น หาทันมีอุปฮาต ราชวงษ์ ราชบุตรไม่ เมืองแพนเจ้าเมืองถึงแก่กรรมไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ท้าวคำบ้งบุตรเขยเมืองแพนเจ้าเมือง ขึ้นเป็นที่พระนครเจ้าเมือง โปรดให้ท้าวคำยวงเป็นที่ราชบุตร แต่ที่อุปฮาตราชวงษ์นั้นหาทันตั้งไม่ พระนครคำบ้งถึงแก่กรรมไปจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ตั้งราชบุตรคำยวงเป็นที่พระนครเจ้าเมือง ตั้งท้าวสุวันบุตรพระนครคำบ้งเป็นที่อุปฮาต ตั้งพระราชวงษาบุตรหลานเจ้าเมืองแผนเป็นที่ราชวงษ์ ตั้งท้าวคำพางบุตรพระนครคำยวงเป็นที่ราชบุตร ขึ้นไปครอบครองบ้านเมืองก็โดยยุติธรรม คุมส่วยผลเร่วลงมาทูลเกล้าฯ เสมอทุกปีมิได้ทศค้าง ครั้นอยู่หลายปีราชวงษ์ถึงแก่กรรมไป จึงโปรดเกล้าให้ท้าวอินบุตรพระนครคำยวงเป็นที่ราชวงษ์ ครั้นพระนครเจ้าเมือง อุปฮาต และราชบุตรถึงแก่กรรมไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวหนูเข้ามาเป็นเจ้าเมืองขอนแก่น โปรดเกล้าฯ ให้ราชวงษ์อินบุตรพระนครคำยวงเป็นที่อุปฮาต ท้าวมุ่งบุตรพระนครคำยวงที่เป็นพี่ชายอุปฮาตอินเป็นที่ราชวงษ์ ท้าวจันชมภูบุตรอุปฮาตสุวันคนเก่าเป็นที่ราชบุตร อยู่มาได้สามปีจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระนครหนู หนีจากเมืองขอนแก่นไปเป็นเจ้าเมืองมุกดาหาร แล้วจึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งอุปฮาตอินเป็นที่พระนครศรีบริรักษ์เจ้าเมือง ราชวงษ์มุ่งเป็นที่อุปฮาต ท้าวขติยะบุตรเขยพระนครคำยวงเป็นที่ราชวงษ์ แต่ราชบุตรยังคงที่ พระนครศรีบริรักษ์พาท้าวเพียประพฤติราชการบ้านเมืองก็เป็นสัจจเป็นธรรม คุมเงินส่วยผลเร่วเมืองขอนแก่น จำนวนปีละยี่สิบแปดช่างแปดตำลึง ลงมาทูลเกล้าฯ เสมอทุกปี ฯลฯ[31]

ส่วนหลักฐานการตั้งเมืองขอนแก่นในพงศาวดารอีสานฉบับพระยาขัติยวงศา (เหลา ณร้อยเอ็จ) ระบุว่า ...ครั้นถึงจุลศักราช ๑๑๕๐ ได้ทราบข่าวว่าเมืองแพนบ้านชีโล่นแขวงเมืองสุวรรณภูมิพาราษฎรไพร่พลประมาณ ๓๓๐ คน แยกจากเมืองสุวรรณภูมิไปขอตั้งฝั่งบึงบอนเป็นเมือง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เมืองแพนเป็นพระนครศรีบริรักษ์ผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่น...[32] เหตุการณ์เดียวกันยังถูกระบุในพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสานของหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว. ปฐม คเนจร) ด้วยว่า ...ลุจุลศักราช ๑๑๕๙ ปีมเสงนพศก ฝ่ายเพี้ยเมืองแพนบ้านชีโล่นเมืองสุวรรณภูมิเห็นว่าเมืองแสนได้เปนเจ้าเมืองชนบทก็อยากจะได้เปนบ้าง จึ่งเกลี้ยกล่อมผู้คนได้อยู่ในบังคับสามร้อยเศษ จึ่งสมัคขึ้นอยู่ในเจ้าพระยานครราชสิมาแล้วขอตั้งบ้านบึงบอนเปนเมือง เจ้าพระยานครราชสิมาได้มีบอกมายังกรุงเทพฯ จึ่งโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เมืองแพนเปนที่พระนครบริรักษ์เจ้าเมือง ยกบ้านบึงบอนขึ้นเปนเมืองขอนแก่น (มณฑลอุดร) ขึ้นเมืองนครราชสิมา...[33]

อนิจกรรม

เพียเมืองแพนปกครองเมืองขอนแก่นนาน ๒๒ ปีจึงถึงแก่อนิจกรรม ท้าวจามผู้บุตรรับตำแหน่งพระนครศรีบริรักษ์เจ้าเมือง เนื่องจากบ้านบึงบอนตั้งใกล้ชิดเมืองชลบถจึงย้ายเมืองไป ณ ดอนพันชาติหรือดงพันชาติปัจจุบันคือบ้านโนนเมือง ตำบลแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม