เครื่องยา ของ เภสัชเวท

ตัวอย่างเครื่องยาในขวด
ดูเพิ่มเติมที่: เครื่องยา

เครื่องยา (Crude Drug) เป็นคำที่ใช้เรียกแหล่งที่มาของยาที่เป็นพืชหรือสัตว์ ซึ่งมักพบในรูปแบบที่ยังไม่สามารถนำไปใช้เป็นยาได้ ต่อมาคำว่า "เครื่องยา" ยังรวมไปถึงเภสัชภัณฑ์ที่มาจากแร่ธาตุก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ในโครงสร้างแบบสารอินทรีย์ เช่น โคลิน, เบนโตไนต์ เป็นต้น[5] เครื่องยาเป็นคำที่ใช้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างผลิตภัณฑ์ทางธรรมชาติที่ไม่มีคุณประโยชน์ทางการรักษาจนกว่าจะผ่านกระบวนการทางเภสัชกรรมจนให้ผลผลิตที่มีคุณสมบัติทางการรักษา ในสมัยโบราณได้มีการจัดจำแนกเครื่องยาตามประเภทของสารว่าอยู่ในเซลล์ (cellular) หรือไม่อยู่ในเซลล์ (acellular) โดยพิจารณาจากโครงสร้างของเครื่องยาว่ามีโครงสร้างใดๆที่แสดงถึงเป็นผลิตผลจากพืชหรือไม่ หากมีโครงสร้างที่แสดงถึงที่มาจากพืชก็จะจัดเข้าจำพวกของสารอยู่ในเซลล์ แต่ปัจจุบันได้มีการจำแนกประเภทของเครื่องยาออกเป็นประเภทต่างๆ โดยใช้ระบบการจัดจำแนกดังต่อไปนี้[6]

  • ระบบตามตัวอักษร ในระบบนี้ รายชื่อเครื่องยาจะถูกเรียงตามตัวอักษร
  • ระบบอนุกรมวิธานโดยแบ่งตามที่มาของเครื่องยาว่ามาจากสัตว์หรือพืช และใช้วิธีการจัดจำแนกในแบบอนุกรมวิธานคือ ไฟลัม, ชั้น, อันดับ, วงศ์ เป็นต้น
  • ระบบสัณฐานวิทยาว่าเครื่องยาที่ได้มานั้น เรานำมาจากส่วนใดของพืช เช่น ใบ, แก่นไม้, เนื้อไม้ เป็นต้น
  • ระบบเคมีว่าเครื่องยานั้นเป็นสารประเภทใด เช่น ไกลโคไซด์, แอลคาลอยด์, แทนนิส์, เรซิน เป็นต้น
  • ระบบเภสัชวิทยาศึกษาจากการออกฤทธิ์ของเครื่องยาว่าออกฤทธิ์ในระบบหรืออวัยวะส่วนใด เช่น การออกฤทธิ์ต่อระบบไหลเวียนโลหิต, การออกฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น
  • ระบบเคมีอนุกรมวิธานเป็นระบบบูรณาการระหว่างการจัดจำแนกพืชในทางอนุกรมวิธานและเครื่องยานั้นในระหว่างอยู่ในพืชและในรูปที่สกัดเพื่อนำไปใช้ประโยชน์

มาตรฐานเครื่องยา

การตรวจมาตรฐานของสมุนไพรในสมัยโบราณได้มีการจำแนกตามเป้าประสงค์ในการค้นหาคุณสมบัติของเครื่องยาเอง หรือการเสาะหาวิธีมาตรฐานที่ใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณา ซึ่งจำแนกได้ 3 ประเภท คือ การตรวจดูมาตรฐานด้านโครงสร้าง คือ การตรวจดูสิ่งปลอมปนที่มากับเครื่องยา โดยสามารถกำจัดออกได้โดยใช้วิธีการฝัด การผ่านแร่ง หรือการใช้ลมเป่า อีกวิธีหนึ่งคือการวิเคราะห์เรื่องยา เพื่อหาสารสำคัญ และการตรวจมาตรฐานทางกายภาพ เช่น การหาค่าความถ่วงจำเพาะ ค่าความหนืด ค่าจุดหลอมเหลวและจุดเดือด เป็นต้น ปัจจุบันได้มีการพัฒนาการวิเคราะห์เครื่องยาโดยการพิจารณาการหาน้ำหนักที่หายไปเมื่อทำให้แห้ง, ปริมาณเถ้ารวม, ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด, การหาปริมาณสิ่งสกัด รวมถึงการวัดปริมาณน้ำมันหอมระเหย และการวัดปริมาณน้ำในเครื่องยา

ปัจจุบันสมุนไพรที่เข้าสู่กระบวนการผลิตยาจำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบและต้องเป็นเครื่องยาที่ได้ถูกกำหนดโดยมาตรฐานเภสัชตำรับ เครื่องยาที่บรรจุในเภสัชตำรับปัจจุบัน จะเรียกว่า "Official Drugs" หรือเคยบรรจุแต่ได้คัดออกไปแล้วนั้นจะเรียกว่า "Official Drugs" และที่ไม่เคยได้รับการบรรจุในเภสัชตำรับเลยจะเรียกว่า "Nonoffcial Drugs" โดยเครื่องยาที่นำมาผลิตนั้นจำเป็นต้องบรรยายรายละเอียดของเครื่องยานั้นๆก่อนนำมาผลิตเรียกว่า "โมโนกราฟ"

การตรวจสอบมาตรฐานเครื่องยาเพื่อนำมาใช้ในการผลิตยาแบ่งได้เป็น 2 ขั้นตอนสำคัญคือ การตรวจมาตรฐานของสมุนไพรก่อนการผลิต เช่น การตรวจสอบชนิด ชื่อ และส่วนที่มาใช้ในการผลิต สรรพคุณรรวมถึงสารสำคัญ สิ่งแปลกปลอม สิ่งปลอมปน การปนเปื้อน เป็นต้น และการตรวจสอบมาตรฐานของยาหลังการผลิต หรือการตรวจสอบยาสำเร็จรูป ประกอบด้วย การตรวจลักษณะภายนอก, การผันแปรของน้ำหนักยา การแตกและกระจายตัว การปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ เป็นต้น