โบราณสถาน ของ เมืองคูบัว

จากการสำรวจพบจำนวน 67 แห่ง บริเวณภายในเมืองพบโบราณสถานที่ยังปรากฏหลักฐานอยู่จำนวน 8 แห่ง[thai 5] และบริเวณที่เคยสำรวจพบเนินโบราณสถาน แต่ปัจจุบันถูกทำลายจนสิ้นสภาพอีก 6 แห่ง[thai 6] และโบราณสถานใกล้กับโบราณสถานหมายเลข 8 อีก 2 แห่ง ซึ่งขุดแต่งโดยนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี พ.ศ. 2524 - 2526

โบราณสถานที่พบนอกคูเมืองมีอยู่ทั้งหมด

นอกคูเมืองทิศคงสภาพ (แห่ง)สิ้นสภาพ (แห่ง)
ตะวันออก6[thai 7]2[thai 8]
ใต้6[thai 9]8[thai 10]
ตะวันตกเฉียงเหนือ5[thai 11]2[thai 12]
ตะวันตก14[thai 13]9[thai 14]

โบราณสถานที่ถูกทำลายจนสิ้นสภาพ และไม่สามารถระบุตำแหน่งที่ตั้งได้อีกจำนวน 1 แห่ง คือ โบราณสถานบริเวณบ้านนายมิ่ง แก้วสว่าง

โบราณสถานหมายเลข 1

ที่ตั้งโบราณสถานหมายเลข 1

โบราณสถานหมายเลข 1 หรือโคกนายใหญ่ หลงเหลือเฉพาะส่วนฐานเจดีย์สี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อด้วยอิฐ ฐานยาวด้านละ 6 เมตร ความสูงในปัจจุบันประมาณ 2 เมตร ลักษณะโดยทั่วไปคล้ายคลึงกับโบราณสถานหมายเลข 44 คือฐานล่างสุดเป็นฐานเขียง ผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ 6 เมตร ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัววลัย อยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยกเก็จหรือกระเปาะ แต่ที่แตกต่างจากโบราณสถานหมายเลข 44 คือโบราณสถานหมายเลข 1 มีการย่อมุมเพิ่มขึ้นมากกว่า และช่องสี่เหลี่ยมรอบฐาน (บริเวณท้องไม้) แบ่งออกเป็นสองชั้น ไม่พบการประดับรูปประติมากรรมภายในช่องดังกล่าว เหนือขึ้นเป็นส่วนขององค์เจดีย์ที่ปัจจุบันพังทลายหมดแล้ว

ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ให้ความเห็นว่าการทำฐานยกเก็จหรือยกกระเปาะ ทำให้ผนังอาคารเกิดเป็นช่อง เกิดความสวยงาม และคงมีวัตถุประสงค์เพื่อการประดับงานประติมากรรมด้วย เจดีย์ที่มีการยกเก็จขึ้นที่มุมทั้งสี่ ทำให้เกิดลักษณะคล้ายๆกับเสาประดับมุม ลักษณะเช่นนี้อาจเปรียบเทียบได้กับงานสถาปัตยกรรมที่ร่วมสมัยกัน เช่น ปราสาทของศิลปะจามในระยะแรกๆ ที่เรียกว่า “กาลัน” และ “จันทิ” ในศิลปะชวากลาง หรือปราสาทขอมในสมัยก่อนเมืองพระนคร[5]

ในปี พ.ศ. 2504 พบผอบเงินที่ตอนกลางขององค์เจดีย์ ภายในเป็นผอบทองบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 5 องค์

ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ 87 ง เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2544

โบราณสถานหมายเลข 8

ที่ตั้งโบราณสถานหมายเลข 8

โบราณสถานหมายเลข 8 หรือวัดคูบัว สันนิษฐานว่าเป็นฐานของเจดีย์ขนาดใหญ่ ก่อด้วยอิฐ

ในชุดฐานชั้นล่างหรือชั้นที่หนึ่งส่วนล่างสุดเป็นฐานก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ความยาวด้านละประมาณ 20.8 เมตร ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัว รองรับฐานหน้ากระดานที่มีการเจาะเป็นช่องขนาดเท่ากันโดยรอบ เหนือขึ้นไปเป็นฐานชั้นที่สองในฐานชั้นที่หนึ่งนี้ พบร่องรอยปูนฉาบบางส่วน

ฐานชั้นที่สองเป็นฐานบัวยกเก็จในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีการย่อมุม ส่วนท้องไม้เจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยม

ส่วนบนของเจดีย์ไม่ปรากฏรูปแบบที่แน่ชัด[6]

ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ 87 ง เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2544

โบราณสถานหมายเลข 10

ภาพสตรีห้าคนกำลังเล่นดนตรี ที่ค้นพบภายในโบราณสถานหมายเลข 10
ที่ตั้งโบราณสถานหมายเลข 10

โบราณสถานหมายเลข 10 ตั้งอยู่นอกคูเมืองของเมืองโบราณคูบัวด้านทิศตะวันตก สมศักดิ์ รัตนกุล ได้ให้รายละเอียดว่ามีลักษณะฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ 10.25 เมตร สูง 1.20 เมตร ฐานก่ออิฐเป็นบัวเตี้ยเหนือบัวขึ้นไปมีซุ้มด้านละ 12 ซุ้ม ฐานทางด้านตะวันออกและตะวันตกมีบันไดขึ้นไปสู่องค์เจดีย์ทั้งสองด้าน ยื่นออกมาจากฐานประมาณ 2.5 เมตร กว้าง 1.5 เมตร ส่วนทางด้านเหนือและใต้ก่ออิฐเป็นมุขยื่นออกมาจากกึ่งกลางของฐานเท่านั้น

ซุ้มที่ทำเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัสบนฐานด้านละ 12 ช่องนั้น สันนิษฐานว่าน่าจะมีรูปคนแคระและประติมากรรมอื่นๆติดประดับอยู่ภายใน เพราะขุดค้นพบประติมากรรมปูนปั้นในบริเวณเนินโบราณสถานค่อนข้างมาก ที่สำคัญ อาทิ

ภาพบุคคลถูกมัดมือติดกันหรือภาพนักโทษ อาจเป็นภาพประกอบชาดกเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือเป็นภาพเล่าเรื่องสังคมในสมัยนั้น สะท้อนให้เห็นถึงว่าในสมัยนั้นมีการจับนักโทษและการลงโทษกันแล้ว นอกจากนี้จากภาพจะเห็นได้ว่า นักโทษไว้ผมยาวและเกล้าเป็นมวยแบบสตรี

ภาพกลุ่มสตรีห้าคนกำลังเล่นดนตรี สมัยโบราณของไทยเรียกว่า “วงขับไม้บรรเลงพิณ” [5]:182 คนขวาสุดของภาพไม่ปรากฏเครื่องดนตรีชัดเจน เนื่องจากชำรุดเสียหาย แต่เมื่อพิจารณาจากท่าทาง สันนิษฐานว่าอาจกำลังเล่นกรับชนิดหนึ่ง คนถัดมาอยู่ในท่าเท้าแขน น่าจะเป็นผู้ขับร้อง คนกลางดีดเครื่องสายประเภทหนึ่งตระกูลพิณ ตรงกับพิณของอินเดีย “กัจฉะปิ” คนที่ 2 จากซ้ายมือถือเครื่องตี น่าจะเป็นฉิ่ง และคนซ้ายสุดดีดเครื่องสายประเภทพิณน้ำเต้าประเภทหนึ่ง[7] อาจชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับจีน

นอกจากนั้น ภาพกลุ่มนักดนตรี ยังทำให้ทราบถึงการแต่งกายของสตรีในสมัยนั้น กล่าวคือ สตรีจะนุ่งห่มผ้ายาวเกือบถึงส้น ทบชายผ้าไว้ด้านหน้า มีเข็มขัดเชือกหรือผ้าคาดที่เอว อาจเป็นเข็มขัดที่มีลวดลายหรือการพันผ้าที่เล่นลวดลาย มีชายผ้าหรือชายเข็มขัดห้อยลงมาข้างใดข้างหนึ่ง เท่าที่พบหลักฐานสตรีไม่สวมเสื้อ แต่มีผ้าผืนเล็กๆคาดหรือคล้องอยู่คล้ายกับสไบ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของกลุ่มคนในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาช้านาน[5]:274

ปัจจุบัน โบราณสถานหมายเลข 10 มีสภาพรกร้างและอยู่ในพื้นที่สวนของชาวบ้าน ไม่สามารถเข้าไปศึกษาได้

โบราณสถานหมายเลข 18

ที่ตั้งโบราณสถานหมายเลข 18
ดูเพิ่มเติมที่: วัดโขลงสุวรรณคีรี
บันไดก่อด้วยอิฐขึ้นไปยังฐานวิหารก่อด้วยศิลาแลง

โบราณสถานหมายเลข 18 หรือวัดโขลง เป็นโบราณสถานที่มีขนาดที่ใหญ่ที่สุดในเมืองคูบัว มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สันนิษฐานว่าเป็นฐานของวิหาร ด้านบนฐานวิหาชั้นล่างสุดก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูน ผนังด้านเหนือและใต้ของวิหารมีมุขขนาดเล็กยื่นออกมาด้านละ 3 มุข ผนังทางด้านตะวันตกซึ่งเป็นด้านหลังวิหารมีมุขเล็ก ยื่นออกมาตรงกลาง ฐานชั้นสองก่อด้วยอิฐ เป็นฐานบัวโค้ง ถัดขึ้นไปเป็นช่องซุ้มรูปสี่เหลี่ยมประดับปูนปั้น ชั้นต่อไปเป็นฐานหน้ากระดานรองรับซุ้มสี่เหลี่ยมผืนผ้าเพื่อขึ้นไปเป็นเสาประดับผนังรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ระหว่างเสาเป็นซุ้ม

ส่วนบนของฐานเป็นลานประทักษิณขนาดใหญ่ มีฐานก่ออิฐยกพื้นสี่เหลี่ยมผืนผ้าด้านทิศตะวันตกทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวิหารห่างออกไปประมาณ 9 เมตร มีฐานอาคารขนาดเล็กแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสลักษณะของฐานจะเป็นอิฐก่อเรียงซ้อนกันสามชั้น ถัดขึ้นไปเป็นซุ้มรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสโดยรอบด้านละ 16 ซุ้ม มีร่องรอยการฉาบปูนสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยหลัง

โบราณสถานได้ขุดค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีหลายอย่าง สถาปัตยกรรมในเมืองโบราณคูบัว ได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปะจากช่างสมัยคุปตะ ประเทศอินเดีย ส่วนโบราณวัตถุสำคัญต่างที่ถูกขุดพบจากโบราณสถานแห่งนี้ ได้แก่ เศียรพระพุทธรูปสมัยโบราณ, เทวดาปูนปั้น, เชิงเทียนสัมฤทธิ์, คนแคระรูปปั้น, หินชนวนสีดาที่จารึกอยู่ด้านหลัง ด้านหน้าเป็นแม่พิมพ์พระพุทธรูปปางสมาธิ, คนโทแก้วหรือขวดน้ำหอม, เต้าปูนสัมฤทธิ์ เป็นต้น เก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี และบางส่วนเก็บที่วัดโขลงสุวรรณคีรี

ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 79 ตอนที่ 97 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2505

โบราณสถานหมายเลข 24–25

ที่ตั้งโบราณสถานหมายเลข 24 และ 25

โบราณสถานหมายเลข 24 และ 25 หรือโคกนายพวง มีสภาพเป็นเนินโบราณสถาน[8]

โบราณสถานหมายเลข 24 มีลักษณะเป็นฐานเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีขนาดความกว้างและความยาวด้านละ 10 เมตร ความสูง 1.80 เมตร ฐานก่ออิฐเป็นบัวขึ้นไปห้าชั้น มีร่องรอยการก่ออิฐทำเป็นช่องซุ้มสี่เหลี่ยมรอบฐาน แต่ได้เสื่อมสภาพเสียหมด ในการขุดแต่งแต่แรกไม่พบโบราณวัตถุแต่อย่างใด สันนิษฐานว่าโบราณสถานหมายเลข 24 เป็นซากสถูปเจดีย์ก่ออิฐสอดินฉาบปูนเหลือหลักฐานอยู่เพียงส่วนฐานซ้อนกันสองชั้น มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฐานเจดีย์แต่ละชั้นเป็นฐานบัว ประกอบด้วยฐานเขียงสองชั้นรองรับฐานบัวมีลักษณะโค้งมนเรียกว่า “ฐานบัววลัย” เหนือชั้นฐานเป็นส่วนองค์เจดีย์ซึ่งชำรุดหักพังลงมาบริเวณกึ่งกลางด้านทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศเหนือ มีแนวเรียงอิฐยื่นจากฐาน

โบราณสถานหมายเลข 25 หรือแนวกำแพงแก้ว มีลักษณะเป็นฐานวิหารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดความยาว 29 เมตร ความกว้าง 15.30 เมตร และความสูง 1 เมตร ตัววิหารตั้งอยู่บนฐาน 2 ชั้น ก่ออิฐเหลี่ยมขึ้นไปอย่างธรรมดา ไม่พบร่องรอยของบันไดทางขึ้นสูงวิหารทางด้านทิศตะวันออก หลักฐานที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ประกอบด้วยแนวกำแพงแก้วด้านทิศใต้ แนวกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออก และแนวกำแพงแก้วด้านทิศตะวันตก ลักษณะเป็นกำแพงที่มีรูปผังเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบศาสนสถานสิ่งก่อสร้างบางอย่าง ซึ่งในปัจจุบันไม่พบร่องรอยหลักฐาน เนื่องจากพื้นที่ด้านในกำแพงถูกทำลาย และแนวกำแพงด้านเหนือถูกทำลายจากการขุดตักดินในบริเวณนี้ออกไป เป็นสระน้ำขนาดใหญ่

ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 122 ตอนพิเศษ 126 ง เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548

โบราณสถานหมายเลข 40

ที่ตั้งโบราณสถานหมายเลข 40

โบราณสถานหมายเลข 40 หรือโคกหนองเกษร ตั้งอยู่ด้านทิศใต้นอกคูเมืองของเมืองคูบัว ในปี พ.ศ. 2504 พบฐานของสิ่งก่อสร้างก่ออิฐ สันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์สมัยวัฒนธรรมทวารวดี ลักษณะของฐานล่างเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ 9.8 เมตร บนฐานจัตุรัสประกอบด้วยอิฐก่อเหลื่อมออกมา และกำกับด้วยบัว มีร่องรอยให้เห็นว่าเหนือฐานบัวมีช่องซุ้มสี่เหลี่ยมก่อรอบองค์เจดีย์แบ่งออกเป็น 3 ส่วน แต่ละส่วนทำเป็นมุขหรือกะเปาะยื่นออกมา ภายในซุ้มสี่เหลี่ยมบนฐานชั้นที่ 2 ติดประดับลวดลาย ซึ่งแตกต่างจากโบราณสถานอื่นๆในเมืองคูบัวที่ในส่วนนี้มักประดับด้วยประติมากรรมรูปคนแคระหรือรูปสิงโต

การขุดแต่งเจดีย์องค์นี้ พบโบราณวัตถุที่ทำด้วยดินเผามากกว่าโบราณสถานแห่งอื่นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งชิ้นส่วนพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ เทวรูป รวมทั้งประติมากรรมต่างๆ เช่น เศียรยักษ์ ศีรษะคนต่างชาติ (แขก) หัวสิงโต ลวดลายประดับสถูป เป็นต้น

ผู้ขุดแต่งโบราณสถานแห่งนี้ ให้ความเห็นว่าโบราณวัตถุที่ขุดค้นได้จากเจดีย์องค์นี้มีจำนวนมาก เมื่อเทียบกับขนาดของฐานค์เจดีย์ที่ยาวด้านละ 9.8 เมตร อีกทั้งยังไม่เหมาะที่จะใช้ประดับประดาเจดีย์ขนาดเล็กเช่นนี้ จากลักษณะประติมากรรมดินเผา แสดงให้เห็นอิทธิพลของศิลปะคุปตะที่ถ้ำอชันตา ประเทศอินเดีย[9]:30-34

โบราณสถานหมายเลข 44

ที่ตั้งโบราณสถานหมายเลข 44

โบราณสถานหมายเลข 44 หรือโคกนายผาด ตั้งอยู่นอกคูเมืองด้านทิศใต้ ล้อมรอบด้วยที่ราบลุ่ม เป็นส่วนฐานของสิ่งก่อสร้างที่ก่อด้วยอิฐ สันนิษฐานว่าเป็นส่วนฐานของเจดีย์สมัยวัฒนธรรมทวารวดี ความสูงจากฐานล่างถึงยอดเนินประมาณ 2 เมตร บางส่วนขององค์เจดีย์ปรากฏร่องรอยปูนฉาบ

ฐานเจดีย์ชั้นล่างสุดเป็นฐานเขียง มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง (ตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก) 13.7 เมตร ความยาว (ตามแนวทิศเหนือ-ใต้) 17.8 เมตร สูง 3.7 เมตร มีบันไดยื่นออกมาทั้ง 4 ด้าน ด้านบนของฐานชั้นนี้มีลานประทักษิณ ฐานชั้นที่ 2 เป็นฐานบัววลัย อยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยกเก็จหรือกระเปาะ มีการย่อมุม (สามชั้น) คล้ายคลึงกับโบราณสถานหมายเลข 1 ในฐานชั้นนี้จากการขุดแต่งในปี พ.ศ. 2504 ทางด้านทิศตะวันออกพบประติมากรรมรูปสิงโตนั่งสลับกับสิงโตยืน ส่วนผนังอีก 3 ด้านเป็นรูปคนแคระแบก มีอิทธิพลของศิลปะลังกา นอกจากนั้นยังมีเศียรพระพุทธรูป ชิ้นส่วนพระพุทธรูป เทวรูป หรือเทวดา ซึ่งล้วนทำมาจากปูนปั้น[9]