ลักษณะทางกายภาพ ของ เมืองคูบัว

คูน้ำและคันดิน

คูน้ำอยู่ตรงกลางระหว่างคันดินสองชั้น ตัวคูน้ำกว้างเฉลี่ยประมาณ 50 เมตร ส่วนคันดินกว้างประมาณ 53 เมตร สูง 3 เมตร คูน้ำและคันดินด้านทิศเหนือและใต้ยาวด้านละประมาณ 800 เมตร ส่วนคูน้ำและคันดินด้านทิศตะวันออกและตะวันตกยาวด้านละประมาณ 2,000 เมตร รวมความยาวมั้ง 4 ด้านโดยรอบตัวเมืองประมาณ 5,680 เมตร

ศาสนสถาน

ศาสนสถานที่พบภายในเมืองคูบัว เป็นศาสนาพุทธในมหายานและเถรวาท

ในส่วนโบราณสถานศาสนาพุทธแบบมหายาน มักนิยมตกแต่งอาคารด้วยลวดลายทั้งที่เป็นแผ่นภาพดินเผา แผ่นภาพปูนปั้น ตลอดจนประติมากรรมนูนสูง ทั้งดินเผาและปูนปั้น โดยพบในโบราณสถานหมายเลข 39 และ 40 พบภาพดินเผารูปพระโพธิสัตว์, เทวดา, อมนุษย์[thai 2], และรูปสัตว์ โดยเฉพาะเศียรพระโพธิสัตว์ดินเผาที่แสดงถึงฝีมือช่างชั้นสูง[thai 3] รูปพระโพธิสัตว์ดินเผาที่ส่วนองค์ยังคงสภาพดีอยู่ ล้วนยืนในท่าตริภังค์ (ยืนเอียงสะโพก) ลักษณะเดียวกับประติมากรรมในศิลปะอินเดีย จนมีผู้สันนิษฐานว่าประติมากรรมดินเผาที่พบที่โบราณสถานหมายเลข 39 และ 40 นี้ อาจจะทำขึ้นโดยช่างฝีมือชาวอินเดียที่เดินทางเข้ามาตั้งหลักแหล่งบริเวณเมืองคูบัว ในราวพุทธศตวรรษที่ 11-13[2]:60

โบราณสถานศาสนาพุทธแบบเถรวาท ไม่นิยมการประดับตกแต่งมากนัก อาจมีเพียงแผ่นอิฐแต่งลวดลายหรือชิ้นส่วนลวดลายดินเผาประดับ หรืออาจเป็นแผ่นภาพเล่าเรื่องในศาสนาพุทธ เช่น ภาพปูนปั้นประดับโบราณสถานหมายเลข 10 เป็นภาพจากนิทานในนิกายสรวาสติวาส ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ราวพุทธศตวรรษที่ 12

ศาสนสถานที่ปรากฏหลักฐานทั้งแบบมหายานและแบบเถรวาท คือ โบราณสถานหมายเลข 18 หรือวัดโขลง ตั้งยู่เกือบกลางเมืองคูบัว มีขนาดสูงใหญ่ที่สุดในบรรดาโบราณสถานเมืองคูบัว สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นฐานของวิหาร เพราะมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้านอกจากนี้ยังได้พบประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์สำริดขนาดเล็ก มีรูปแบบคล้ายคลึงกับประติมากรรมที่พบในภาคใต้

โบราณสถานที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง คือ โบราณสถานหมายเลข 1 ซึ่งได้พบผอบทองคำ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุครอบด้วยผอบเงิน ฝาแกะลวดลายดอกบัว บรรจุในช่องกลางของกล่องรูปสี่เหลี่ยมซึ่งเจาะเป็นช่องห้า ช่อง วางอยู่ใต้ฐาน เพื่อบรรจุรูปสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อในเรื่องจักรวาลที่มีอิทธิพลมาจากอินเดีย ทั้งหมดสะท้อนเห็นถึงความเชื่อในเรื่องการเคารพบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และการวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างอาคาร ซึ่งสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน[3]:83

วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นก้อนอิฐขนาดใหญ่ ความกว้างประมาณ 18 เซนติเมตร ความยาว 34 เซนติเมตร และความหนา 8 เซนติเมตร ดินที่ใช้เผามีส่วนผสมของแกลบข้าวเมล็ดใหญ่ โบราณสถานส่วนมากใช้อิฐเป็นวัสดุก่อสร้าง มีโบราณสถานเพียงแห่งเดียว คือ โบราณสถานหมายเลข 18 หรือวัดโขลง ที่มีฐานก่อด้วยศิลาแลง

โบราณวัตถุ

โบราณวัตถุที่พบภายในเมืองคูบัว เป็นโบราณวัตถุเกี่ยวกับศาสนาและชีวิตประจำวัน[4]

โบราณวัตถุที่ทำขึ้นเกี่ยวกับศาสนา พบประติมากรรมประดับอาคารศาสนสถาน, พระพุทธรูปดินเผาและปูนปั้น[thai 4], พระพิมพ์ ทั้งที่ทำจากดินเผาและหินชนวน, ชิ้นส่วนธรรมจักรศิลา, ประติมากรรมรูปบุคคลที่ทำด้วยดินเผาและปูนปั้น แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนภายในเมืองคูบัว เช่น ภาพดินเผารูปผู้ชายไว้เครา แต่งกายมีผ้าโพกศีรษะแหลม สวมรองเท้าบู๊ท สันนิษฐานว่าอาจเป็นชาวอาหรับที่เดินทางเข้ามาค้าขาย

โบราณวัตถุที่ทำขึ้นใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ ภาชนะดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยดินเผา อาทิ ตะคัน ตะเกียง แว ลูกกระสุน ที่ประทับลวดลาย เครื่องประดับทำจากโลหะ เครื่องมือโลหะ ลูกปัดแก้ว รูปแบบของเครื่องมือเครื่องใช้ และเครื่องประดับ ได้สืบต่อภูมิปัญญามาจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ แต่มีวิธีการที่ซับซ้อนขึ้น